3 อาจารย์ตัวอย่างของสภาคณาจารย์ ม.มหิดล ประจำปี 2556

3 อาจารย์ตัวอย่างของสภาคณาจารย์ ม.มหิดล ประจำปี 2556

ครู หรืออาจารย์ คือผู้สั่งสอนและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ อีกทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญมั่นคง เนื่องจากเป็นผู้พัฒนาเยาวชนของชาติให้มีความรู้และจริยธรรม เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าในการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติต่อไป นอกจากนี้ครูหรืออาจารย์ยังเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปทั้งด้านความรู้และพฤติกรรม เป็นแบบอย่างที่ดีด้านความซื่อสัตย์ เป็นแบบอย่างที่ดีด้านการดำรงตน เป็นแบบอย่างที่ดีด้านการพัฒนาตนเอง รวมถึงการสั่งสอนแนะนำให้ศิษย์ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติต่อไป

จากความสำคัญในบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ศิษย์ ทุกปีสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล จะมีการประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่าง ๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการประเมินการเป็นอาจารย์ตัวอย่างตามแนวทาง “จรรยาบรรณอาจารย์” ของสภาคณาจารย์ ซึ่งคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1 คือ ด้านคุณธรรม ได้แก่ มีคุณธรรม จริยธรรม และการครองตน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีได้, มีผลงานชัดเจนเกี่ยวกับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักศึกษา และไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างที่ถูกร้องเรียน ถูกสอบสวนวินัยด้านจริยธรรมในขณะที่มีการพิจารณา

ประการที่ 2 คือ ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ การถ่ายทอดด้วยความรู้จริง สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง, ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจน, ถ่ายทอดอย่างเป็นระบบเพื่อให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์ได้อย่างสมบูรณ์ และถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มความสามารถด้วยจิตวิญญาณของ “ความเป็นครู”

ประการที่ 3 คือ การอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ได้แก่ มีจิตสำนึกในการเสียสละให้แก่ส่วนรวมและสังคม, มีความรับผิดชอบ และอุทิศตนให้กับการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ มีความสามัคคีกับผู้ร่วมงาน และผลักดันให้หน่วยงานมีความเจริญก้าวหน้า

ประการที่ 4 คือ ด้านความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการ ได้แก่ หมั่นศึกษา ค้นคว้า ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติงานวิจัยตามข้อกำหนดของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และมีเสรีภาพในการปฏิบัติงานทางวิชาการโดยไม่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใด

สำหรับในปีนี้สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่าง ๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.. 2556 จำนวน 3 ท่าน และได้เข้ารับรางวัลในงาน “45 ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.. 2557 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ สาขาวิชาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, .นพ.วรชัย ศิริกุลชยานนท์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.คลินิก ทพ.สุรชัย เดชคุณากร ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

.นพ.พิภพ จิรภิญโญ สาขาวิชาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของทารกและเด็กไทยในด้านโภชนาการอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากกว่า 80 เรื่อง เป็นบุคคลแรกในประเทศที่ผลิตอาหารเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีโรคจำเพาะ เช่น Chylothorax, Refractory Epilepsy และ Cow Milk Protein Allergy โดยเฉพาะการผลิตนมจากเนื้อไก่และนมข้าวอะมิโนซึ่งใช้รักษาทารกที่แพ้โปรตีนนมวัวมากกว่า 1,000 ราย ให้การสอนนักศึกษาทุกระดับอย่างลูกหลาน สอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมในการสอนนักศึกษาตลอดเวลา

.นพ.วรชัย ศิริกุลชยานนท์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนางานทางด้านการตรวจชิ้นเนื้อของกระดูก โดยการประยุกต์ใช้เลื่อยฉลุไฟฟ้ามาใช้ในการตัดชิ้นเนื้อกระดูก โดยใช้ชื่อว่า “Rama Bone Saw” ที่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้า สามารถตัดเนื้อกระดูกได้บางมากกว่าเครื่องที่ซื้อจากต่างประเทศ และย่นระยะเวลาในการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อกระดูกให้สั้นลงมาก เป็นบุคคลแรกในประเทศไทยที่ได้รายงานผู้ป่วยโรค Paget’s disease ของกระดูก ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่าไม่เกิดในคนไทย ปัจจุบันพบมากขึ้นในหลายสถาบัน มีผลงานดีเด่นด้านการสอน มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสอนวิชาพยาธิวิทยาของโรคกระดูกและข้อให้แก่นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านของหลายสถาบัน

.คลินิก ทพ.สุรชัย เดชคุณากร ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การแพทย์) จากมหาวิทยาลัยมหิดล และทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “CephSmile” ที่ใช้ในการวิเคราะห์ความผิดปกติของโครงสร้างกะโหลกศีรษะ ใบหน้า และฟัน ซึ่งใช้ในการวางแผนการรักษาการสบฟันผิดปกติในทางทันตกรรมจัดฟัน โดยเป็นผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณจากสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นต้นแบบให้แก่ลูกศิษย์ในเรื่องการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงานและการสร้างสรรค์งานวิจัยใหม่