มะเร็งต่อมลูกหมาก (ตอนที่ 1)

มะเร็งต่อมลูกหมาก (ตอนที่ 1)

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ท่อปัสสาวะที่ออกมาจากถุงปัสสาวะ ฉะนั้นถ้าต่อมลูกหมากโตจะทำให้มีปัญหาทางการปัสสาวะ เช่น เวลาจะปัสสาวะจะต้องรอ หรือปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะไม่พุ่งแรง หลังปัสสาวะเสร็จอาจยังมีหยดไหลอีกบ้าง อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ค่อยสุด เช่น กลางคืนต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะจากแต่เดิมที่ไม่ต้อง ต่อมลูกหมากมีหน้าที่ผลิตน้ำที่ออกมาร่วมกับน้ำอสุจิ ซึ่งเอาไว้เป็นน้ำหล่อลื่นสำหรับอสุจิ ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่มีในผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงไม่มีต่อมลูกหมาก แต่ผู้หญิงมีมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ (ซึ่งผู้ชายไม่มี) ซึ่งทั้งหมดเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งของปากมดลูก

มะเร็งของต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่มีทั้งข่าวไม่ดีและข่าวดี ข่าวไม่ดีคือ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยมากในผู้ชาย จะพบมะเร็งชนิดนี้ได้มากกว่า 80% ของผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป

ใน ค.ศ. 2011 มะเร็งของต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในโลก แต่เป็นอันดับที่ 6 สำหรับการเสียชีวิต ในปี ค.ศ. 1999 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทั่วโลก 156,000 คน แต่ในปี ค.ศ. 2010 เพิ่มเป็นถึง 256,000 คน โรคนี้พบได้น้อยที่สุดในทวีปเอเชีย (แต่ก็มากขึ้นเรื่อย ๆ) พบมากที่สุดในคนผิวดำ และคนผิวขาวอยู่ระหว่างกลาง ในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2008 มีโรคนี้ 186,000 รายใหม่ ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด ในปีเดียวกันมีผู้เสียชีวิต 28,600 คน

แต่ข้อดีคือ มะเร็งต่อมลูกหมากเติบโตช้ามาก ช้ามากจนส่วนใหญ่แพทย์ไม่ทำอะไร เพราะไม่มีอาการ การที่จะรักษาผู้ป่วยอาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีอาการ

มะเร็งของต่อมลูกหมากมักเป็นในผู้สูงอายุ อายุต่ำกว่า 45 ปีพบมะเร็งได้น้อยมาก จะเริ่มพบตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ท่านที่ไม่มีอาการเมื่ออายุ 50 ปี ควรไปปรึกษาแพทย์ประจำตัวเกี่ยวกับโรคต่อมลูกหมาก ซึ่งอาจโตเฉย ๆ หรือเป็นโรคมะเร็งได้ แพทย์อาจซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่ว ๆ ไป และตรวจด้วยนิ้วมือผ่านรูทวาร เพราะสามารถคลำต่อมลูกหมากได้ด้วยวิธีนี้ว่าโต หรือขรุขระหรือไม่ แพทย์อาจทำการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ หรือไม่ โอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะเพิ่มขึ้นตามอายุ เช่น 30% สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปี, 80% สำหรับผู้ที่มีอายุ 70-80 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นมะเร็งชนิดนี้มักไม่มีอาการ แต่จะเสียชีวิตจากโรคอื่น ๆ เสียก่อน ปัจจุบันนี้จะพบมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น เนื่องจากประชาชน (ทั่วโลก) มีอายุยืนกว่าเดิม

การป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือการตรวจคัดกรองไม่มีหลักฐานแน่ชัดเหมือนการตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ถึงแม้ข้อมูลในการป้องกันโรคนี้ไม่ชัดเจน แต่มีข้อมูลอยู่บ้างว่าการรับประทานอาหารที่เหมาะสมและการออกกำลังกายอาจจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้บ้าง แต่ต้องทำตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ถึงแม้ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคนี้มาก แต่พฤติกรรมต่าง ๆ ที่จะกล่าวจะช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคหัวใจ อ้วน อัมพาต ความดันโลหิต เบาหวาน ฯลฯ พฤติกรรมที่ดีสำหรับโรคนี้ (และอื่น ๆ) คือ การรับประทานมันสัตว์ เนื้อสัตว์ นม เนยแข็ง โยเกิร์ต ให้น้อยลง แต่รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ ควรรับประทานไขมันจากพืช เช่น จากน้ำมันมะกอก ควรรับประทานปลาทะเลมาก ๆ เช่น ปลาแซลมอน ซาร์ดีน ทูน่า ปลา trout (เทร้าท์) การรับประทานเต้าหู้ก็อาจช่วยได้ รวมทั้งการรับประทานข้าวกล้อง ควรออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพื่อไม่ให้อ้วน (รักษาดัชนีมวลกายให้ต่ำกว่า 23, รอบเอวของผู้ชายต่ำกว่า 90 ซม. ส่วนผู้หญิงต่ำกว่า 80 ซม.) การสูบบุหรี่ไม่ดีต่อร่างกายทั่ว ๆ ไป แล้วยังไม่ดีต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย การมีประวัติโรคนี้ในครอบครัวก็เป็นปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งถ้ามีการใช้ฮอร์โมนเพศชายหรือการใช้สารเคมีบางชนิด