ศ.(พิเศษ) นพ.สมพร โพธินาม แพทย์ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม เจ้าของรางวัล “สมเด็จพระวันรัต”

.(พิเศษ) นพ.สมพร โพธินาม แพทย์ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม เจ้าของรางวัล “สมเด็จพระวันรัต”

สืบเนื่องเป็นประจำทุกปีที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Medical Association of Thailand) จะคัดเลือกบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมเข้ารับรางวัลสมเด็จพระวันรัต ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้ริเริ่มมอบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 โดย นพ.วิรัช มรรคดวงแก้ว บริจาคเงิน 24,000 บาท ใช้ดอกผลให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ อันนำชื่อเสียงมาสู่วงการแพทย์ ต่อมา .นพ.ฝน แสงสิงแก้ว ได้ส่งเงินซึ่งเหลือจากการใช้จ่ายในการฉลองครบรอบ 40 ปีของแพทยศาสตรบัณฑิตรุ่น พ.ศ. 2472 เป็นเงิน 2,330 บาท มาสมทบด้วย รวมเป็นเงินริเริ่มในการจัดตั้งทุน 26,330 บาท ปัจจุบันผู้ได้รับทุนจะได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 50,000 บาท จนบัดนี้มีผู้ได้รับรางวัลสมเด็จพระวันรัตของแพทยสมาคมฯ มาแล้วทั้งสิ้น 38 ท่าน ใน 43 ปี โดยเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ อันนำชื่อเสียงมาสู่วงการแพทย์ สมควรยกย่องเพื่อเพิ่มเกียรติภูมิของแพทย์ สำหรับปี พ.ศ. 2556 นี้ ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จพระวันรัตของแพทยสมาคมฯ ได้แก่ .(พิเศษ) นพ.สมพร โพธินาม นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด โดยมี นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้มอบรางวัล

.(พิเศษ) นพ.สมพร โพธินาม เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2478 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเมื่อปี พ.ศ. 2503 และได้ไปศึกษาต่อเฉพาะทางสาขาสูตินรีเวชวิทยา ณ Barnes Hospital, Washington University, USA จนได้รับ American Board of Obstetrics and Gynecology เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้เป็น Fellow of the International College of Surgeons ในปี พ.ศ. 2524 ได้อนุมัติบัตรจากแพทยสภา สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ในปี พ.ศ. 2525 อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวในปี พ.ศ. 2545 อนุมัติบัตรผู้ชำนาญการอนุสาขามะเร็งนรีเวชวิทยาในปี พ.ศ. 2549 และเกียรติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งนรีเวชวิทยาจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในปี พ.ศ. 2542 และปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามในปี พ.ศ. 2555

หลังจากสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต.(พิเศษ) นพ.สมพร ได้เข้ารับราชการที่โรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลหญิง (โรงพยาบาลราชวิถีในปัจจุบัน) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจนเกษียณอายุราชการ เป็นหนึ่งในคณะผู้บุกเบิกจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขึ้นเป็นคณะแพทยศาสตร์คณะแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านได้ทุ่มเททั้งแรงกาย กำลังสติปัญญา ความรู้ทักษะต่าง ๆ ให้แก่การศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต และการศึกษาระดับอุดมศึกษาของชาติจนได้รับตำแหน่งสำคัญ ๆ อาทิเช่น ตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2536 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2548 และตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2529

ภายหลังเกษียณอายุราชการ .(พิเศษ) นพ.สมพร ได้รับการเชิญชวนให้ไปจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ใหม่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นคณบดีผู้ก่อตั้งในช่วงปี พ.ศ. 2548-2553 จนทำให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีคณะแพทยศาสตร์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ในปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน นอกจากการอุทิศเวลา ความรู้ ความสามารถให้แก่วงการการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว .(พิเศษ) นพ.สมพร ยังได้รับเชิญให้เป็นประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 รับผิดชอบในจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้.(พิเศษ) นพ.สมพร ยังเป็นทั้งแพทย์และนักการศึกษาอย่างแท้จริง ได้ศึกษาวิจัย ทำการสอน และบริหารมาตลอดชีวิตรับราชการของท่าน และได้รับโล่รางวัลอาจารย์ดีเด่นจากสมาคมศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาวิจัยทางสูตินรีเวชวิทยา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่เป็นมาตรฐาน 12 เรื่อง และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในสตรีจนเป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมของผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ต่าง ๆ และมหาวิทยาลัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เป็นประธานคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในระยะแรกเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เป็นผู้บุกเบิก (เป็นประธานกรรมการ) ในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยเน้นเวชศาสตร์ครอบครัวขึ้นเป็นครั้งแรกในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2549 ให้เป็นหลักสูตรที่เน้นการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะวิชาชีพเหมือนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากสาขาอื่น ๆ

ทั้งนี้ .(พิเศษ) นพ.สมพร ยังได้ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์แผนไทยประยุกต์ในระดับปริญญาตรีขึ้นเป็นแห่งแรกและหลักสูตรแรกของประเทศไทยในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยแบบบูรณาการการแพทย์แผนไทยกับการแพทย์แผนปัจจุบันเข้าด้วยกัน ริเริ่มพัฒนาหลักสูตรและเปิดการเรียนหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพในปี พ.ศ. 2550

ในด้านการศึกษานอกจากได้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสถาบันหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว .(พิเศษ) นพ.สมพร ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการประเมินผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อีกด้วย จึงได้ดำเนินการประเมินให้ข้อคิดเห็น ข้อแนะนำอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิจัยและพัฒนาองค์กร/สถาบัน การศึกษาต่าง ๆ เช่น

1. เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ/ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2. เป็นประธานกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก (สมศ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเชียงราย และวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก

3. เป็นประธานและกรรมการในการก่อตั้งคณะต่าง ๆ ในเครือข่ายสุขภาพ เช่น คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะอื่น ๆ เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับงานที่โดดเด่น .(พิเศษ) นพ.สมพร มีเกียรติประวัติการทำงานทั้งในด้านการศึกษา (สาขาแพทยศาสตร์และสาขาอื่น ๆ) ด้านการให้บริการรักษาพยาบาล ด้านการวิจัยและพัฒนา และด้านการบริหารองค์กร เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถมากด้วยประสบการณ์ ถึงพร้อมด้วยสัจธรรม 4 ประการ และอิทธิบาทธรรม 4 ประการ เป็นที่รักใคร่ เคารพนับถือ และเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา นิสิต นักศึกษา ผู้ป่วย และญาติมิตร

.(พิเศษ) นพ.สมพร จึงถือเป็นผู้ที่อุทิศทั้งกำลังกาย ใจ สติปัญญา ความรู้ และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตและสาขาอื่น ๆ ในระดับอุดมศึกษา รวมถึงเป็นบุคคลผู้มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และอุทิศเวลาให้แก่งานการศึกษาและการบริการทางแพทย์มาอย่างยาวนานจนได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสูงสุดมหาวชิรมงกุฎไทย เป็นผู้ที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ และพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ที่ยึดมั่นในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นปูชนียบุคคลตัวอย่างแก่สังคมต่อไป