DBS Therapy แนวทางใหม่รักษาโรคพาร์กินสัน

DBS Therapy แนวทางใหม่รักษาโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันจัดอยู่ในกลุ่มพยาธิสภาพที่เรียกว่า “ความผิดปกติของระบบการเคลื่อนไหว” (Motor System Disorders) มีสาเหตุเกิดจากเซลล์ของสมองผลิตสารโดปามีนไม่เพียงพอ อาการหลัก ๆ ของผู้ป่วยพาร์กินสัน ได้แก่ อาการสั่น (Tremor) ที่มือ แขน ขา กราม และใบหน้า อาการกล้ามเนื้อเกร็ง (Rigidity) แขนขาหรือลำตัวแข็ง ไม่สามารถขยับได้ อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) และมีอาการเสียการทรงตัว (Postural Instability) เสียความสมดุลในการทรงตัว และกล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน เมื่ออาการเหล่านี้หนักขึ้น ผู้ป่วยจะเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ ได้อย่างยากลำบาก โดยอาการเริ่มแรกจะแสดงออกมาเพียงเล็กน้อยและจะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในผู้ป่วยบางราย อาการของโรคพาร์กินสันจะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้าและอารมณ์เปลี่ยนแปลง การกลืน การเคี้ยว และการพูดที่ลำบากขึ้น มีปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายปัสสาวะ ท้องผูก มีปัญหาผิวหนัง และนอนไม่หลับร่วมด้วย

ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคพาร์กินสันในประเทศไทยยังคงพบมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคพาร์กินสันพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากอัลไซเมอร์ ยิ่งอายุมากโอกาสเสื่อมของเซลล์สมองยิ่งพบได้มากขึ้น ขณะที่ 10% ของผู้ป่วยพาร์กินสันเป็นคนในวัย 30-40 ปีที่มีประวัติทางพันธุกรรมมาก่อน โดยเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 60-65 ปี ในประเทศไทยมีผู้ป่วยพาร์กินสันราว 1.5-2 แสนราย

นพ.อภิชาติ พิศาลพงศ์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางสมองที่อาการของโรคจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและยังเป็นสาเหตุให้เซลล์ในส่วนของสมอง Substantia Nigra ตายลง และเนื่องจากเซลล์เหล่านี้มีหน้าที่หลั่งสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้กล้ามเนื้อทำการเคลื่อนไหวอย่างสมดุล นุ่มนวล และประสานกัน ผู้ป่วยจึงมีอาการผิดปกติทางประสาทการควบคุมการเคลื่อนไหวอันเป็นอาการแสดงของโรคพาร์กินสัน

วิธีการรักษาโรคพาร์กินสันคือ การใช้ยาเพื่อเพิ่มปริมาณของสารโดปามีนในสมองหรือสร้างสารที่ทำหน้าที่เลียนแบบการทำงานของสารโดปามีนในสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติน้อยลง แต่ประสิทธิภาพของยาจะลดน้อยลงหากมีการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงต้องเพิ่มปริมาณยาหรือเพิ่มยาชนิดอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคเป็นเวลานาน การใช้ยาเพื่อระงับอาการผิดปกติภายนอก เช่น อาการสั่นต่อเนื่องหลายปีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การรักษาด้วยเทคนิคใหม่คือ ‘การผ่าตัดใส่ชุดอุปกรณ์กระตุ้นประสาทส่วนลึก’ (Deep Brain Simulation) หรือ DBS Therapy จึงเข้ามาแทนที่

นพ.ศรัณย์ นันทอารีย์ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า การรักษาด้วยเทคนิค DBS Therapy เป็นการรักษาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคพาร์กินสันได้ โดยแพทย์จะฝังอิเล็กโทรดเข้าไปในสมองและเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่เรียกว่า ’เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า’ สามารถตั้งค่าโปรแกรมการทำงานได้จากภายนอก และใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย และส่งสัญญาณไฟฟ้าอ่อน ๆ ความถี่ขนาด 130-185 เฮิรตซ์ต่อวินาที เข้าไปยังสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและป้องกันไม่ให้สมองส่งคำสั่งบางอย่างที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวผิดปกติ ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการรักษาวิธีนี้มากกว่า 100,000 ราย ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เริ่มต้นรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคนี้ซึ่งเป็นเทคนิคการรักษามาตรฐานในต่างประเทศที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีทั้งผู้ป่วยพาร์กินสันและโรคอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางสมอง เช่น โรคลมชัก โรคอัลไซเมอร์ รวมถึงโรคทางจิตเวช ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพนับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่รักษาพาร์กินสันด้วยเทคนิคดังกล่าว มีการผ่าตัดไปแล้วหลายร้อยราย ทำให้มั่นใจว่าเป็นการรักษาที่ปลอดภัย เกิดผลแทรกซ้อนน้อย รวมถึงไม่พบผลข้างเคียงจากแบตเตอรี่และสายไฟในระยะยาว

ระบบ DBS Therapy จะต้องทำโดยศัลยแพทย์ทางประสาทที่มีความเชี่ยวชาญในการฝังอุปกรณ์เข้าไปในร่างกายทั้งหมด ได้แก่ เครื่องกระตุ้นประสาท ภายในบรรจุแบตเตอรี่และชิปคอมพิวเตอร์ที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อควบคุมอาการของโรคพาร์กินสัน สายนำหรือสายลวดบางที่หุ้มด้วยฉนวนส่วนปลายมี 4 อิเล็กโทรด ทำหน้าที่นำสัญญาณไฟฟ้า สายนำส่วนหนึ่งจะถูกฝังเข้าไปในสมองและส่วนที่เหลือจะถูกฝังอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณศีรษะ และสายต่อหรือลวดหุ้มฉนวนใต้หนังศีรษะที่เชื่อมต่อกับสายนำผ่านหลังใบหูลงมาที่คอและเชื่อมต่อกับเครื่องกระตุ้นประสาทที่ฝังอยู่บริเวณหน้าอกใต้กระดูกไหปลาร้า โดยแพทย์จะป้อนคำสั่งโปรแกรมเข้าไปในระบบกระตุ้นประสาทส่วนลึกตามลักษณะอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมักมีอาการไม่เหมือนกัน การผ่าตัดฝังอุปกรณ์ดังกล่าวจะใช้เวลาในการผ่าตัด 3-5 ชั่วโมง ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลไม่เกิน 1 สัปดาห์ และหลังการผ่าตัดสามารถเปิดใช้อุปกรณ์ได้ทันที โดยสายที่ส่งไปยังสมองจะอยู่กับคนไข้ไปตลอดชีวิต ส่วนแบตเตอรี่จากเดิมต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุก ๆ 4 ปี แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นแบตเตอรี่รุ่นใหม่แบบชาร์จไม่ได้ มีอายุการใช้งาน 5 ปี แบบรีชาร์จภายนอกมีอายุการใช้งาน 9 ปี ในอนาคตการรักษาด้วยวิธีนี้จะกลายเป็นมาตรฐานไปอีก 10 ปีข้างหน้า

คนไข้โรคพาร์กินสันมีอาการหลาย ๆ มิติ อาการบางอย่างสามารถดีขึ้นได้ อาการบางอย่างจะไม่ดีขึ้น โดยอาการที่ดีขึ้นได้ เช่น อาการสั่น เกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก เป็นต้น ส่วนอาการที่ไม่ดีขึ้นเลยจะเป็นอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เช่น อาการท้องผูก ซึมเศร้า เป็นต้น ผลของการรักษาด้วยวิธี DBS Therapy คนไข้เกือบทุกคนสามารถลดการใช้ยาลงได้ มีเพียง 5% ที่สามารถหยุดการใช้ยาได้อย่างสิ้นเชิง

การรักษาด้วยเทคนิค DBS Therapy เป็นสิ่งที่จะเข้าไปเสริมสำหรับคนไข้ที่มีปัญหาต่อยา คือยาออกฤทธิ์ไม่สม่ำเสมอ หรือมีผลแทรกซ้อนของยาเกิดขึ้น ไม่ได้คาดหวังว่าการผ่าตัดจะเป็นวิธีที่จะเข้าไปทดแทนการรักษาด้วยยา เป็นการรักษาควบคู่กันไป โดยในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดได้ การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดเป็นเพียงการทุเลาอาการทั้งสิ้น โดยคนไข้ที่เป็นโรคพาร์กินสันประมาณ 5-10% ในท้ายที่สุดจะมีปัญหาจากการรักษาด้วยยา จึงต้องอาศัย DBS Therapy เข้าช่วย ซึ่งเทคนิคดังกล่าวถือเป็นวิธีที่เป็นมาตรฐานและดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีปัญหาเนื่องจากอุปกรณ์มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สิทธิการรักษาทั้ง 3 กองทุนยังไม่ครอบคลุม ถือว่ายังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขกับคนไข้ที่มีเศรษฐานะไม่ดีที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้”

นพ.ประวิทย์ จำรูญธเนศกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายจากอาการสั่น เกร็ง เคลื่อนไหวช้า เสียการทรงตัว ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ มีผลต่อการพูด การกลืน ตลอดจนมีความผันผวนของอารมณ์และจิตใจ ส่งผลต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว สังคม การฟื้นฟูจึงมุ่งเน้นไปที่เวชศาสตร์ฟื้นฟูต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถของผู้ป่วยในการช่วยเหลือตัวเอง ได้แก่ การทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกการใช้มือและการทำกิจวัตรประจำวันให้ดีขึ้น การฝึกกลืนและพูดให้ดีขึ้น และการดูแลทางด้านจิตใจร่วมไปด้วย ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยและครอบครัวรับมือกับปัญหาของโรคได้ดีขึ้น