การรักษาหอบหืดด้วย Bronchial Thermoplasty

การรักษาหอบหืดด้วย Bronchial Thermoplasty

นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี

โรคหอบหืดเป็นโรคที่สำคัญของประเทศไทย การรักษาโรคหอบหืดของประเทศไทยถือว่ามีมาตรฐานที่ดีทัดเทียมหลายประเทศชั้นนำของโลก ปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาหอบหืดดีขึ้น เช่น Bronchial Thermoplasty ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่อาการคุมด้วยยาไม่ได้ โดยปกติลักษณะสำคัญของโรคหอบหืดคือ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เกิดจากมีปัจจัยกระตุ้นทำให้หลอดลมไวและตีบแคบลง ผลจากการอักเสบและหลอดลมตีบแคบลงจะมีการหนาตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม (airway smooth muscle) ฉะนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดชนิดรุนแรงจะหอบบ่อย และกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมจะหนาตัวขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีผลทำให้หลอดลมตีบแคบชนิดถาวร เรียกว่า airway remodeling คือ หลอดลมเปลี่ยนโครงสร้างไปตีบแคบถาวร ซึ่งการรักษาในปัจจุบันยังไม่มียาที่ลดอาการตีบแคบของหลอดลมแบบถาวร และยังไม่มียาที่ช่วยในการลดปริมาณกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมที่หนาตัวขึ้น ฉะนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะทุกข์ทรมานจากอาการที่หลอดลมตีบบ่อย ๆ Bronchial Thermoplasty เป็นวิธีการรักษาใหม่ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหลอดลมมีขนาดเล็กลงได้ การจี้กล้ามเนื้อเรียบหลอดลมด้วยความร้อนประมาณ 55-65 องศาเซลเซียส สามารถลดขนาดของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมได้ร้อยละ 50 โดยความร้อนที่สูงจะมีผลโดยตรงต่อ actin-myosin interaction ซึ่งทำให้ลดจำนวนของ motor protein ภายในเวลาไม่กี่วินาที เมื่อลดกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมก็จะมีผลทำให้ลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม โดยเมื่อติดตามอาการหลังรักษาไปแล้วประมาณ 3, 6, 9 เดือน ก็สามารถลดยาที่ใช้ในการรักษาได้ และให้ผลการรักษาอย่างน้อย 2-3 ปี โดยมีผลทำให้หลอดลมไวลดลง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากการระคายเคืองหลอดลม ได้แก่ ไอ เหนื่อย หายใจเสียงดังวี้ด หลอดลมตีบแคบ ซึ่งมักจะเกิดภายในหนึ่งวันหลังจากทำการรักษา และหายได้ใน 5-7 วัน และไม่มีผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด อาการของโรคดีขึ้นในระดับปานกลางภายหลังรักษาด้วย Bronchial Thermoplasty อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเพิ่งรับรองให้ใช้การรักษาโดยวิธีนี้ ดังนั้น จึงต้องติดตามผลระยะยาวต่อไป

กล่าวโดยสรุป ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดที่ไม่ประสบผลในการใช้ยาพบว่า อาการของโรคดีขึ้นในระดับปานกลางหลังรักษาด้วย Bronchial Thermoplasty เนื่องจากการรักษานี้เป็นการรักษาวิธีใหม่จึงต้องติดตามผลการรักษาที่มากขึ้นต่อไป