การบรรเทาความเจ็บปวดหลังผ่าตัด

การบรรเทาความเจ็บปวดหลังผ่าตัด

ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นศูนย์การแพทย์ตติยภูมิให้บริการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบครบวงจร โดยคณาจารย์แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในสาขาต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย สาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์หัวใจ สาขาวิชาวิสัญญีวิทยาหัวใจและทรวงอก สาขารังสีวิทยาการตรวจภาพหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางของผู้ป่วย การวิจัย และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนและสังคม…

 

การบรรเทาความเจ็บปวดสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ

ผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจต้องประสบกับความปวดด้วยกันทุกคน แต่ความปวดนั้นสามารถบรรเทาได้โดยวิธีการให้ยาระงับปวดซึ่งผู้ป่วยทุกรายจะต้องได้รับภายหลังการผ่าตัดร่วมกับวิธีการไม่ใช้ยา คู่มือนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อประกอบการให้ข้อมูลกับผู้ป่วยในเรื่องการบรรเทาความปวดหลังผ่าตัดหัวใจ โดยเนื้อหาประกอบด้วยสาเหตุ ชนิด ความรุนแรง ลักษณะ ระยะเวลา และตำแหน่งของความปวด กิจกรรมการรักษาพยาบาลที่อาจมีผลต่อความปวด การประเมินความปวด การบรรเทาความปวดด้วยวิธีการใช้ยาและไม่ใช้ยา รวมทั้งประโยชน์ของการบรรเทาความปวดที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และมีกำลังใจในการร่วมมือในการรักษาและจัดการกับความปวดหลังการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การบรรเทาความปวดหลังการผ่าตัดหัวใจมี 2 วิธีคือ โดยวิธีการใช้ยาบรรเทาปวด ซึ่งท่านจะได้รับตามความเหมาะสมทุกคน และวิธีที่ไม่ใช้ยาเป็นวิธีที่ท่านสามารถเลือกปฏิบัติได้ตามความคุ้นเคย ความชอบ และความเหมาะสมของแต่ละคน ดังนั้น เมื่อมีการประเมินความปวด สิ่งสำคัญคือ ท่านควรบอกความรู้สึกปวดตามความเป็นจริง และไม่ต้องกลัวหรือเกรงใจที่จะบอกความปวดกับแพทย์และพยาบาล เพื่อที่ท่านจะได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง

เมื่อท่านได้เรียนรู้ เข้าใจ และสามารถฝึกปฏิบัติในการบรรเทาความปวดโดยวิธีต่าง ๆ ได้แล้วก็จะช่วยให้ท่านสามารถฟื้นหายได้โดยเร็ว และกลับไปดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

 

ความหมาย ความปวดเป็นความรู้สึกที่ไม่สุขสบาย

สาเหตุ เกิดจากแผลและการเจ็บของเนื้อเยื่อขณะผ่าตัด

 

ความปวดหลังการผ่าตัดหัวใจ

o การผ่าตัดหัวใจส่วนใหญ่จะใช้วิธีผ่าตัดเปิดทรวงอก

o เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์จะใส่สายระบายทรวงอกไว้

 

ลักษณะของความปวด

ความปวดหลังผ่าตัดหัวใจจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่นาน โดยในช่วงหลังการผ่าตัดวันที่ 1-3 ท่านอาจมีความรู้สึกปวดค่อนข้างมาก ซึ่งลักษณะความปวดอาจเป็นความรู้สึกไม่สุขสบาย ปวดตึง ๆ เจ็บจี๊ด ๆ ปวดตุ๊บ ๆ แน่น ๆ หรือปวดเมื่อย ปกติความปวดจะค่อยลดลงหลังการผ่าตัดวันที่ 3 โดยค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ความปวดจะลดลงอย่างมากประมาณช่วงหลังผ่าตัดได้ 1-2 สัปดาห์ และความปวดจะหมดไปภายใน 1-2 เดือนหลังการผ่าตัด

 

ตำแหน่งของความปวด

 

 

ผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจด้วยวิธีผ่ากลางกระดูกสันอกมักจะรู้สึกปวดหรือไม่สุขสบายในบริเวณตำแหน่งที่ 1-5 ส่วนในรายที่ทำผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจจะปวดในบริเวณตำแหน่งที่ 6 และ 7 เพิ่มขึ้นได้

 

กิจกรรมการรักษาพยาบาลที่มีผลต่อความปวด

กิจกรรมเพื่อการรักษาพยาบาลมีความจำเป็นที่ต้องกระทำเพื่อความปลอดภัยและส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพของท่าน แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะทำให้ท่านรู้สึกไม่สุขสบาย หรือปวดแผลได้บ้าง

กิจกรรมการรักษาพยาบาลดังกล่าว ได้แก่

o การดูดเสมหะทางท่อช่วยหายใจ

o การถอดท่อระบายทรวงอกออก

o การกระตุ้นให้ไอ

o การบริหารการหายใจ โดยการหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ หรือการใช้อุปกรณ์

o การเริ่มให้เคลื่อนไหว พลิกตัวบนเตียง การบริหารร่างกายบนเตียง

o การให้ลุกลงจากเตียงเพื่อนั่งเก้าอี้

o การให้เริ่มเดิน เป็นต้น

ดังนั้น พยาบาลจะประเมินความปวดก่อนทำกิจกรรม และจะช่วยบรรเทาความปวดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ท่านมีความพร้อมในการเริ่มกิจกรรม และมีความปวดขณะทำกิจกรรมน้อยที่สุด

 

การประเมินความปวด

เพื่อการสื่อสารที่ตรงกันถึงระดับความปวด จึงมีการประเมินความปวดเป็นคะแนน โดยท่านจะเป็นผู้เลือกระดับคะแนนความรุนแรงของความปวดตามความรู้สึกของตนเอง

ระดับความปวดที่ประเมินแบ่งเป็น 3 ระดับคือ

คะแนน 1-3 หมายถึง ปวดเล็กน้อย

คะแนน 4-6 หมายถึง ปวดปานกลาง

คะแนน 7-10 หมายถึง ปวดรุนแรงมาก

© ในระยะ 24-48 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด ท่านจะได้รับการประเมินความปวดอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นถ้าความปวดของท่านอยู่ในระดับเล็กน้อยหรือสามารถควบคุมความปวดได้ ท่านจะได้รับการประเมินความปวดทุก 4 ชั่วโมง พร้อมสัญญาณชีพ หรือก่อนเริ่มกิจกรรมการรักษาพยาบาลที่มีผลต่อความปวด

© การประเมินความปวดจะทำให้แนวทางการรักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาความปวดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

การบรรเทาความปวดโดยวิธีการใช้ยา

หลังผ่าตัดท่านจะได้รับยาบรรเทาความปวดทันทีที่ท่านเริ่มรู้สึกตัว ดังนี้

หลังการผ่าตัดวันแรก

ท่านต้องพักรักษาในไอซียู พยาบาลจะประเมินความปวดของท่านทันทีที่ท่านเริ่มรู้สึกตัว และท่านจะได้รับยาบรรเทาความปวดโดยการหยดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง

หลังการผ่าตัดวันที่หนึ่งเป็นต้นไป

เมื่อท่านสามารถรับประทานได้แล้วจะเปลี่ยนเป็นยาบรรเทาความปวดชนิดรับประทาน เช่น พาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง อาจร่วมกับการรับประทานยาบรรเทาความปวดชนิดอื่น และหากไม่สามารถบรรเทาความปวดด้วยยาชนิดรับประทานได้จะพิจารณาให้ยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำได้เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม

ดังนั้น การรับประทานยาบรรเทาความปวดอย่างสม่ำเสมอตามเวลาจะช่วยให้ท่านควบคุมความปวดได้ดีกว่าการรอให้มีความปวดมากแล้วจึงค่อยรับประทานยา และถ้าหากรับประทานยาตามเวลาแล้วยังรู้สึกปวดมากให้แจ้งพยาบาลทราบ

 

การบรรเทาความปวดโดยวิธีที่ไม่ใช้ยา

เป็นวิธีการพยาบาลที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบรรเทาความปวดด้วยยา เช่น

1. การนวดคลึงเบา ๆ บริเวณที่ไม่มีแผลหรือสายน้ำเกลือ เช่น มือ เท้า หลัง หรือสะโพก เป็นต้น จะช่วยยับยั้งการส่งกระแสประสาทของความปวด ทำให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ คลายความเครียด ลดความกังวล ผู้ป่วยจึงรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยให้หลับสบาย

2. การผ่อนคลายโดยใช้การฝึกการหายใจลึก ๆ ยาว ๆ หรือทำสมาธิช่วยให้จิตใจสงบ ไม่เครียดหรือกังวลมากเกินไป ทำให้จิตใจและอารมณ์สงบ กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้ลดความปวดลงได้

3. การเบี่ยงเบนความสนใจจากความปวด เช่น การฟังดนตรี ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ เป็นต้น

4. การใช้หมอนประคองบริเวณแผลผ่าตัดทรวงอกระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการบริหารการหายใจ เช่น การหายใจลึก ๆ การไอหรือดูดเสมหะจะช่วยบรรเทาความปวดแผลได้

5. การเปลี่ยนท่าที่ถูกต้อง เช่น ใช้วิธีการตะแคงตัว ในการเปลี่ยนท่าจากนอนเป็นนั่ง หรือจากนั่งเป็นนอนจะช่วยลดการเกร็งกล้ามเนื้อและการตึงของแผลผ่าตัดจากการเปลี่ยนท่านั่งหรือนอนได้ เป็นต้น

 

ประโยชน์ของการบรรเทาความปวดที่มีประสิทธิภาพ

การบรรเทาความปวดที่มีประสิทธิภาพจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมทั้งช่วยให้ท่านฟื้นหายเร็วขึ้นได้ ดังนี้

1. ช่วยป้องกันไม่ให้หัวใจทำงานหนักจากการตอบสนองต่อความปวด

2. ช่วยให้ท่านไอได้มีประสิทธิภาพ จึงไม่มีเสมหะคั่งค้างในปอด สามารถบริหารการหายใจ โดยหายใจเข้า-ออกลึก ๆ หรือใช้อุปกรณ์ได้ดีทำให้ปอดขยายตัวได้เต็มที่ จึงไม่เกิดภาวะปอดแฟบหรือปอดอักเสบ

3. ทำให้ท่านสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น

4. ทำให้ท่านสามารถออกกำลังกายตามความเหมาะสม และลุกออกจากเตียงเพื่อนั่งข้างเตียง ยืน เดินรวมทั้งการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น

5. ช่วยลดอาการนอนไม่หลับอันเนื่องมาจากความปวด

6. ลดการเกิดผลกระทบทางด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น ลดความกลัว ความวิตกกังวล เครียด หงุดหงิด กระวนกระวาย เป็นต้น