สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งฯ ร่วมกับ WPATH จัดงานประชุม 23rd WPATH 2014 ยกระดับสิทธิเสรีภาพของผู้มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศ

สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งฯ ร่วมกับ WPATH จัดงานประชุม 23rd WPATH 2014 ยกระดับสิทธิเสรีภาพของผู้มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศ

สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ร่วมกับ The World Professional Association for Transgender Health เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม The 23rd World Professional Association for Transgender Health (23rd WPATH 2014) เมื่อวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ พ.. 2557 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอนันตราริเวอร์ไซด์ เจริญนคร กรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศทั้งในประเทศและต่างประเทศในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ

รศ.นพ.ปรีชา เตียวตรานนท์ อดีตนายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า The World Professional Association for Transgender Health หรือ WPATH ก่อตั้งขึ้นโดย Dr.Harry Benjamin แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา เป็นองค์กรที่รวบรวมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น ศัลยแพทย์ จิตแพทย์ สูตินรีแพทย์ อายุรแพทย์เฉพาะทางต่อมไร้ท่อ พยาบาล นักกฎหมาย องค์กรเอกชน นักสิทธิมนุษยชน จากนานาประเทศ เพื่อดูแลผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศ ชายอยากเป็นหญิง หญิงอยากเป็นชาย (transgender) ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยจะให้การดูแลในทุกเรื่องตั้งแต่สภาพกาย สภาพจิตใจ การใช้ฮอร์โมน และทางด้านกฎหมาย เป็นต้น

WPATH มีการจัดงานประชุมเป็นประจำทุก 2 ปี ที่ผ่านมาได้จัดงานประชุมในประเทศแถบอเมริกาและยุโรป สำหรับงานประชุมครั้งล่าสุด 23rd WPATH 2014 จัดขึ้นในเอเชีย ซึ่งจากชื่อเสียงในด้านการผ่าตัดแปลงเพศที่โด่งดังไปทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพครั้งแรก โดยไฮไลท์ของงานประชุมครั้งนี้ครอบคลุมตั้งแต่การผ่าตัดแปลงเพศ การให้ฮอร์โมน การประเมินทางจิตวิทยา และทางด้านกฎหมาย เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้นยังพูดถึงงานวิจัยอันใหม่ ความคิดเห็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่

“การประชุมจะมีการหมุนเวียนกันจัดทุก 2 ปี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างศัลยแพทย์ จิตแพทย์ สูตินรีแพทย์ อายุรแพทย์เฉพาะทางต่อมไร้ท่อ พยาบาล นักกฎหมาย องค์กรเอกชน นักสิทธิมนุษยชน จากนานาประเทศ ถึงแนวทางการรักษาเมื่อ 2 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร และควรจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง โดยงานประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับ Standard of Care ที่มีการปรับปรุงจนมาถึงฉบับที่ 7 ในปัจจุบัน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานประชุมจะได้ทราบถึงแนวทางการรักษาผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศว่าควรจะเป็นไปในทางใด เพื่อยกระดับให้รัฐบาลได้เข้าใจว่าผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศเหล่านี้ไม่ได้ป่วยเป็นโรค แต่ต้องยกระดับของเขาให้มีสิทธิเสรีภาพให้เท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม”

นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมที่ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) หน่วยงานที่มีบทบาทกระตุ้นให้มีการดำเนินการทั่วโลกเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ สร้างความเข้มแข็ง และสนับสนุนการตอบสนองต่อการระบาดของโรคในวงกว้าง ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อสร้างมาตรฐานให้ผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศซึ่งป่วยด้วยเอชไอวี/เอดส์ ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย

ทั้งนี้ในการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศให้ดีขึ้น มีตัวอย่างให้เห็นบ้างแล้วในต่างประเทศ เช่น เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำจะแยกให้ไม่เข้าไปปะปนกับผู้ชาย เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศเหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง รวมถึงการแยกห้องน้ำพิเศษสำหรับบุคคลเหล่านี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจว่าควรได้รับสิทธิเสรีภาพเหมือนคนทั่วไปนั่นเอง

รศ.นพ.ปรีชา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในประเทศไทยได้ทำการศึกษาในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาว่ามีเด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศจำนวนเท่าไร ประมาณการตัวเลขพบ 1:400 คน และ 1:600 คน แต่ตัวเลขนี้อาจจะยังไม่ถูกต้องนัก เพราะเป็นการทำการศึกษาในเด็กที่แสดงอาการตุ้งติ้งอย่างเห็นได้ชัด ไม่รวมเด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศแต่ไม่แสดงอาการ ล่าสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ทุนศึกษาวิจัยเพื่อที่จะได้ทราบว่าเด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศซึ่งคาดว่ามีอยู่จำนวนมากนี้ มีจำนวนตัวเลขที่ชัดเจนอยู่ที่เท่าไร

“ในทางการแพทย์ได้แยกย่อยลงไปว่าอาการเบี่ยงเบนทางเพศประเภทนี้ควรจะวินิจฉัยอย่างไร ดูแลอย่างไร ในแง่ของศัลยแพทย์มีหน้าที่ผ่าตัดแก้ไขให้ เพื่อให้เขาครบถ้วนทั้งกายและใจ ซึ่งกว่าจะมาถึงเรา เขาต้องผ่านการประเมินมาจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ อยากจะผ่าตัดแปลงเพศก็มาหาเรา หรือไปคิดทำเอาเอง เหมือนเมื่อก่อนที่มีข่าวตัดอัณฑะ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในทางการแพทย์ ต้องผ่านหลายขั้นตอน และต้องปฏิบัติตามแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง”

รศ.นพ.ปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแปลงเพศของโลก จึงเป็นเหตุผลให้ทาง WPATH เลือกมาจัดงานประชุมที่ประเทศไทย ครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะการจัดงานประชุมในครั้งที่ผ่านมามีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300-400 คน แต่ครั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมสูงถึง 550 คน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้ร่วมประชุม แต่อยู่ที่การยกระดับสิทธิเสรีภาพของผู้ที่มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศ

ด้าน รศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ เลขาธิการสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขั้นตอนการแปลงเพศตามที่กฎหมายกำหนดไว้คือ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ถ้าอายุอยู่ระหว่าง 18-20 ปี ต้องมีผู้ปกครองยินยอม และต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ 2 ท่าน มีคำแนะนำตามแนวทางการรักษาของ WPATH เช่น ควรจะรับประทานฮอร์โมนเพศหญิงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในรูปยารับประทานหรือยาฉีด ดำรงชีวิตแบบหญิงติดต่อกันถึงจุดหนึ่งที่มั่นใจ ซึ่งถ้าไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่าตัด ที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องอายุและการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ก่อน 2 ท่าน ซึ่งจริง ๆ แล้วขั้นตอนเหล่านี้ผู้ที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศจะทราบดี บางทีดีกว่าศัลยแพทย์เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาผ่านกระบวนการเหล่านี้มาเป็น 10 ปี

ปัจจุบันการผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงมีวิวัฒนาการไปถึงขั้นที่ได้ผลดีเลิศ แต่หญิงเป็นชายอาจจะอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งมีการพัฒนาและรายละเอียดมากมาย ซึ่งถ้าพูดถึงความโดดเด่นของการผ่าตัดแปลงเพศของประเทศไทย ต้องบอกว่ามีชื่อเสียงมาก ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกในด้านการผ่าตัดแปลงเพศ หลายองค์กรมีการแนะนำผ่านทางหนังสือ เว็บไซต์ โดยไม่มีเรื่องทางการค้าหรือผลประโยชน์ร่วมด้วย รวมถึงไม่มีการเขียนสนับสนุนแพทย์หรือองค์กรใดเป็นพิเศษ

สำหรับปัญหาการยอมรับในสังคมเป็นเรื่องที่พูดยาก ถ้ามองในประเทศไทยถือว่าให้การยอมรับค่อนข้างดี ยอมรับในความแตกต่างในลักษณะนี้ได้ ต่างจากในบางประเทศที่มีการต่อต้านที่รุนแรง ขึ้นอยู่กับแต่ละสังคม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้พยายามผลักดันเพื่อยกระดับสิทธิเสรีภาพของผู้มีปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม

“ไม่อยากให้เรียกคนกลุ่มนี้ว่าคนไข้ เพราะเขาไม่ได้เจ็บป่วย ในปัจจุบันมีประชากรในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก การทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งน่าจะมีประโยชน์ทั้งในลักษณะของแพทย์และลักษณะของการดูแลคนกลุ่มนี้ เพื่อจะได้เข้าใจวิธีคิดและความต้องการของเขา สำหรับศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี เพราะการผ่าตัดแปลงเพศเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน ไม่ใช่ว่าศัลยแพทย์ตกแต่งทุกคนจะสามารถทำได้ การเลือกศัลยแพทย์ที่จะมาผ่าตัดให้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้” รศ.นพ.อภิชัย กล่าวทิ้งท้าย