ปลดปล่อยยารักษาโรคตาจากเลนส์สัมผัส (ตอนจบ)

ปลดปล่อยยารักษาโรคตาจากเลนส์สัมผัส (ตอนจบ)

ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

บทความฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงเทคนิคที่ได้รับการพัฒนาในการเพิ่มระยะเวลาการปลดปล่อยยาจากเลนส์สัมผัสด้วยเทคนิคการประทับโมเลกุลและการห่อหุ้มยาไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะสามารถช่วยเพิ่มระยะเวลาการปลดปล่อยยาได้ แต่เทคนิคดังกล่าวนี้จะต้องได้รับการปรับแต่งโดยเฉพาะสำหรับยาแต่ละประเภท ทำให้มีความยุ่งยากและซับซ้อนในการพัฒนา ดังนั้น จึงมีการพัฒนาเทคนิคอื่นที่สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องปรับแต่งให้เข้ากับยาแต่ละประเภท สามารถใช้งานได้สะดวก และยังสามารถปลดปล่อยยาหลายประเภทจากเลนส์สัมผัสได้พร้อมกันอีกด้วย

เทคนิคการใช้ชั้นขัดขวางขนาดนาโน (nanobarrier) นั้นถูกพัฒนาขึ้นโดยการใช้โมเลกุลของวิตามินอีในการช่วยชะลอการปลดปล่อยของยาประเภทต่าง ๆ จากเลนส์สัมผัส ทั้งนี้วิตามินอีจะทำหน้าที่ขัดขวางการเคลื่อนที่ของโมเลกุลยาเนื่องจากสมบัติที่ไม่ชอบน้ำอย่างมากและมีความหนืดสูง ทำให้โมเลกุลของยาจะต้องเคลื่อนที่โดยรอบอ้อมผ่านโมเลกุลของวิตามินอี ส่งผลให้เป็นการเพิ่มระยะทางในการเคลื่อนที่และระยะเวลาในการปลดปล่อยยาออกจากคอนแทคเลนส์ที่ผสมวิตามินอีได้ โดยเทคนิคนี้สามารถใช้ในการชะลอการปลดปล่อยยาได้ทั้งยาที่มีสมบัติชอบน้ำและชอบน้ำมัน ตัวอย่างเช่น ทิโมลอล (timolol), เดกซาเมทาโซน ฟอสเฟต (dexamethasone phosphate), ฟลูโคนาโซล (fluconazole), ซิสทีมีน (cysteamine) และไซโคลสปอริน (cyclosporine) จากการศึกษาพบว่าการผสมวิตามินอีในปริมาณ 10 และ 40 เปอร์เซ็นต์ลงในเลนส์สัมผัสแบบซิลิโคนจะส่งผลให้เพิ่มระยะเวลาในการปลดปล่อยยาได้ที่ 5 และ 400 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเลนส์สัมผัสที่ใส่ยาเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า การใส่วิตามินอีนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการยึดเกาะของโปรตีน มอดูลัส ความใส ความสามารถในการป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตของเลนส์สัมผัส ยกเว้นแต่ความสามารถในการซึมผ่านของออกซิเจนและอิออนที่อาจจะมีค่าลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้สำหรับการใช้งานเลนส์สัมผัสทั่วไป จากการศึกษาในสัตว์ทดลองสำหรับการใช้งานคอนแทคเลนส์ที่ผสมวิตามินอีในการนำส่งยารักษาต้อหินพบว่า มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งานเพื่อลดแรงดันในลูกตาเช่นเดียวกับการหยอดยาตาภายหลังการสวมใส่อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาในการทดลองที่ 4 วัน โดยพบว่าปริมาณยาจากการหยอดยาตานั้นจะมีค่ามากกว่าปริมาณยาที่ปลดปล่อยจากเลนส์สัมผัสที่ผสมวิตามินอีถึง 6 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบกับเลนส์สัมผัสที่ไม่ได้ผสมวิตามินอีแล้วพบว่า เลนส์สัมผัสที่ผสมยาเท่านั้นจะไม่สามารถช่วยในการลดความดันในลูกตาได้เมื่อสวมใส่ผ่านไปเพียงสองวัน