ภก.ศ.เกียรติคุณ ดร.สมพล ประคองพันธ์

วย.191 อาคันตุกะ

ภก..เกียรติคุณ ดร.สมพล ประคองพันธ์

๑๐๐ ปี เภสัชจุฬา ๑๐๐ ศิษย์เก่าดีเด่น มีความสุขกับการทำงาน ทำตัวให้มีประโยชน์เพื่อจะได้ไม่กลายเป็นคนไร้ประโยชน์

เนื่องในมหาวโรกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนาการศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทยที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกแพทย์ปรุงยา โรงเรียนราชแพทยาลัย และมีพัฒนาการเป็นลำดับมาจนเป็นคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการศึกษาเภสัชศาสตร์ สร้างความเจริญก้าวหน้าแก่วิชาชีพเภสัชกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ผลิตเภสัชกรออกมามากกว่า 7,000 คน ออกไปประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รวมทั้งอาชีพอื่นอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี จนเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างกว้างขวาง สมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ภ.จ.) จึงได้มีโครงการ “๑๐๐ ปี เภสัชจุฬา ๑๐๐ ศิษย์เก่าดีเด่น” เพื่อประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยมหิดล จนถึงปี พ.ศ. 2515 หรือเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีประวัติดีเด่นในด้านต่าง ๆ ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์รุ่นหลังสืบไป โดยหนึ่งในบุคคลผู้ที่มีความประพฤติดี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างของผู้อุทิศตนทำคุณประโยชน์ต่อวิชาชีพและสังคมส่วนรวมมาโดยตลอด สมควรแก่การได้รับรางวัล “๑๐๐ ปี เภสัชจุฬา ๑๐๐ ศิษย์เก่าดีเด่น” คือ ภก..เกียรติคุณ ดร.สมพล ประคองพันธ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อาจารย์ผู้มีความสามารถพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต ราชบัณฑิตยสถาน, President Elect, Asian Federation for Pharmaceutical Sciences (AFPS), ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และบรรณาธิการที่ปรึกษา วารสารวงการแพทย์ และวารสารวงการยา

ภก..เกียรติคุณ ดร.สมพล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ปริญญาโทสาขาชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโทสาขาเภสัชศาสตร์และปริญญาเอกสาขา Pharmaceutical Chemistry จาก University of Michigan เริ่มปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจนเกษียณอายุราชการ ในด้านวิชาการได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในงานด้านบริหารเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชกรรม และคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

ภก..เกียรติคุณ ดร.สมพล มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ระดับชาติและนานาชาติจำนวนมากที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม อาทิเช่น การตั้งตำรับยาน้ำปราศจากแอลกอฮอล์สำหรับเด็ก, การวิจัยวัคซีนในไก่, ระบบนำส่งยาทางผิวหนัง, ระบบนำส่งยาอนุภาคนาโน เป็นต้น ซึ่งจากการทุ่มเทและตั้งใจในการทำงานมาโดยตลอดทำให้อาจารย์ได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกหลายรางวัล ได้แก่ Federation of Asian Pharmaceutical Associations (FAPA) Award สาขา Scientific Research (ค.ศ. 1994), รางวัลชนะเลิศการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ (พ.ศ. 2554), ศิษย์เก่าดีเด่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2550) และรางวัลเภสัชกรดีเด่น สาขาการศึกษาพัฒนาและวิจัย โดยภาคเครือข่ายองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ. 2552)

สำหรับผลงานดีเด่นที่ภาคภูมิใจในด้านวิชาชีพเภสัชกรรม ภก..เกียรติคุณ ดร.สมพล ได้มีบทบาทในการส่งเสริมวิชาการของเภสัชกร โดยเป็นประธานฝ่ายวิชาการและประธานจัดประชุมวิชาการเภสัชกรรมประจำปี ได้จัดให้มีทั้งการศึกษาต่อเนื่อง การพัฒนาวิชาชีพและการนำเสนอผลงานวิจัย โดยมีการจัดร่วมกับกลุ่มเภสัชกรภูมิภาคต่าง ๆ หมุนเวียนกัน ได้ก่อตั้งกองทุนวิชาการ ภก.สมพล ประคองพันธ์ เพื่อสนับสนุนการประชุมวิชาการของนักศึกษาและเภสัชกร เมื่อเป็นนายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ก็มีการจัดประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังเป็นผู้เผยแพร่บทบาทของเภสัชกรโดยเป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานจัดงานสัปดาห์เภสัชกรรมคนแรก และยังได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเภสัชกรอุบลเพื่อสนับสนุนการศึกษาเภสัชศาสตร์

ด้านเภสัชอุตสาหกรรม มีส่วนในการเผยแพร่วิชาการทำให้เภสัชกรในโรงงานยามีความเข้มแข็ง โดยเป็นบรรณาธิการวารสารกลุ่มเภสัชกรการอุตสาหกรรม ได้จัดอบรมและทัศนศึกษาในยุคเริ่มต้นของ GMP เป็นวิทยากรเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพยา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสามัญ การศึกษาชีวสมมูล การละลายในทางเภสัชกรรม เป็นต้น ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหลายคณะ และเป็นกรรมการจัดทำตำรายาของประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ทั้งนี้ ภก..เกียรติคุณ ดร.สมพล ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานด้วยว่า ผมมีความสุขกับการใช้ชีวิตไปกับการทำงาน ทำตัวให้มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกับสังคมหรือครอบครัว เพราะถ้าเราไม่ทำประโยชน์เราก็จะกลายเป็นคนไร้ประโยชน์ ดังนั้น สิ่งใดที่เราสามารถทำประโยชน์ได้ก็จะทำไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ควรทำใจให้สบายอย่าไปเครียดหรือยึดติดกับอะไร อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เนื่องจากผมมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำอะไรด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความตั้งใจที่ดี เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็สามารถที่จะใช้สติไตร่ตรอง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาเป็นเรื่องของธรรมชาติ เสร็จแล้วก็จะค่อย ๆ คลี่คลายไปเองตามธรรมชาติ ที่สำคัญงานที่ผมทำอยู่นี้เป็นงานที่ผมชอบ ผมเป็นคนชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน เพราะจะทำให้รู้สึกสนุกและไม่เบื่อในแต่ละเรื่อง และยังได้นำความรู้ของเรามาประยุกต์ใช้ในหลาย ๆ ด้าน ทำให้เราได้รอบรู้ในหลาย ๆ ด้านด้วย

สำหรับมุมมองเกี่ยวกับการปรับตัวของบุคลากรที่ทำงานทางด้านสาธารณสุขนั้น ภก..เกียรติคุณ ดร.สมพล กล่าวว่า ในอนาคตระบบสาธารณสุขไทยจะมีความก้าวหน้าทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งต้องเตรียมบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากไว้รองรับ นอกจากจะให้บริการแก่คนไทยแล้ว ยังมีผู้ป่วยและผู้สูงอายุจากไหลเข้ามาใช้บริการในประเทศต่างประเทศจำนวนมากที่จะหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการในประเทศ ในอนาคตความเป็นอยู่ของคนจะดีขึ้นทำให้ต้องการบริการที่มีคุณภาพสูงไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล คุณภาพมาตรฐานเรื่องยา การบริการที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การผลิตยาจะต้องมีคุณภาพดีขึ้นตามมาตรฐานของ ASEAN ซึ่งสอดคล้องกับสากลที่เรียกว่า GMP/PICs ในส่วนของการจัดส่งหรือจัดเก็บยาก็จะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ต้องมีการกำกับดูแลจนกว่าจะถึงร้านยา หรือโรงพยาบาลที่เรียกว่า GDP (Good Distribution Practice) ในส่วนนี้เรายังขาดช่วงอยู่ เนื่องจากขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บังคับใช้เฉพาะยาในกลุ่มวัคซีนหรือยาที่ต้องแช่ตู้เย็น แต่ยาตัวอื่น ๆ ยังไม่มีระบบคุณภาพในการจัดส่ง ดังนั้น ผมจึงคิดว่าในอนาคตต่อไปในเรื่องของการผลิตยา คุณภาพยาก็จะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานใหม่

“การปรับตัวของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในปีหน้าที่เราจะก้าวเข้าสู่ AEC ซึ่งจะไม่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรหรือบุคลากร ในส่วนของประเทศไทยถ้าเราอ่อนแอก็จะมีคนจากต่างประเทศเข้ามาแทนที่เรา แต่ถ้าเราเข้มแข็งก็จะเปิดโอกาสให้สามารถแข่งขันไปยังต่างประเทศได้ ดังนั้น ในอนาคตการแข่งขันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราสามารถทำได้ก็เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ซึ่งผมคิดว่าประเทศไทยสามารถทำได้และดีกว่าหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข แม้แต่องค์การอนามัยโลกเองก็ยอมรับเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทยในหลาย ๆ เรื่อง”

สุดท้ายนี้ ภก..เกียรติคุณ ดร.สมพล กล่าวถึงสิ่งที่อยากเห็นเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพของไทยว่า อยากให้ระบบบริการสุขภาพของเรามีคุณภาพมาตรฐานพัฒนาไปทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มของเภสัชกร สมัยก่อนมีคณะเภสัชศาสตร์เพียงคณะเดียว ต้องสอบได้คะแนนสูงจริงจึงจะเข้าได้ ในการเรียนเภสัชศาสตร์นั้นค่อนข้างหนัก มีกิจกรรมบ่อยมาก การเรียนเภสัชศาสตร์นอกจากสอนวิชาการแล้ว ยังเตรียมความพร้อมให้เราอยู่ในสังคม ถึงแม้เภสัชกรยุคก่อนจะรู้อย่างเป็ดแต่ก็เป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาให้เก่งได้หลากหลายสาขา นับเป็นความประทับใจและภูมิใจที่ได้เรียนเภสัชศาสตร์ หลังจากมีการศึกษาเภสัชศาสตร์ผ่านมา 50 ปี มีเภสัชกรทั่วประเทศเพียง 1,500 คน จึงมีความขาดแคลนเภสัชกรมาก ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมือง ปัจจุบันนี้มีคณะเภสัชศาสตร์ทั้งของรัฐและเอกชน 20 แห่ง มีเภสัชกรจบใหม่ราวปีละ 2,000 คน ในวาระครบรอบ 100 ปี การศึกษาเภสัชศาสตร์นี้ เรามีเภสัชกรกระจายไปทั่วประเทศ หากอัตราการเพิ่มของเภสัชกรยังสูงต่อไปก็น่าเป็นห่วงว่าจะมีเภสัชกรมากเกินไป มีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ถึงคุณภาพ การบริการด้านยา และจริยธรรมของเภสัชกรที่อาจจะด้อยลงไปด้วย