คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหาสารคาม จัด The 1st International Pharmacy Practice Conference: Focusing on Pharmacy Education and Practice in ASEAN and USA

ภาพประกอบ ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์

คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหาสารคาม จัด The 1st International Pharmacy Practice Conference: Focusing on Pharmacy Education and Practice in ASEAN and USA

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีบทบาทหลักในการจัดการศึกษา ส่งเสริม และพัฒนาวิชาการในด้านเภสัชศาสตร์เพื่อการผลิตและพัฒนาเภสัชกรที่มีคุณภาพและคุณธรรม โดยปัจจุบันทางคณะมีหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 6 ปี เพื่อผลิตเภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญในการบริบาลทางเภสัชกรรมและการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งการผลิตยา ควบคุม ประกันคุณภาพ เลือกสรรยา และการคุ้มครองผู้บริโภค อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชุมชน โดยยึดมั่นจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม

นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตระหนักและเห็นความสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพสู่อาเซียน และความเป็นสากล ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้จัดให้มีการร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ อีกทั้งพัฒนาการขยายเครือข่ายและความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในการประชุมวิชาการ The 1st International Pharmacy Practice Conference: Focusing on Pharmacy Education and Practice in ASEAN and USA ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน พ.. 2557 ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ร่วมพูดคุยกับวิทยากร อาจารย์ และนิสิตคณะเภสัชศาสตร์จากกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในวิชาชีพเภสัชกรรมระดับนานาชาติ รวมถึงมีการบรรยายกรณีศึกษาจากวิทยากรผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนจากประเทศสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และไทย

“การจัดงานประชุมวิชาการถือเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ผ่านมาทางคณะได้มุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติงานให้แก่นิสิตในระดับชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป เพื่อให้นิสิตมีทักษะในการทำงานได้จริง นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นิสิตได้มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในประสบการณ์การฝึกปฏิบัติงานในวิชาชีพเภสัชกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อจะได้มีแนวปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนนิสิตกันต่อไป”

การประชุมแบ่งออกเป็น 2 วัน โดยในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557 มีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ Pharmacy Education and Pharmacy Practice in the USA โดย Prof.Gary H. Smith, PharmD, FAPhA, FASHP, FCCP Former Chairman of Clinical Department, University of Maryland, USA; Integration of Basic Science and Clinical Curriculum in USA โดย Prof.Julian Edward Moreton, Ph.D. Department of Pharmaceutical Science, University of Maryland, USA; Pharmacy Education and Pharmacy Practice in the USA โดย Assist.Prof.Suphat Subongkot, PharmD, BCPS, BCOP Faculty of Pharmaceutical Science, Khon Kaen University, Thailand; Pharmacy Education and Pharmacy Practice in Malaysia โดย Prof.Paraidathathu Thomas, Ph.D. Dean, School of Pharmacy, Taylor’s University, Malaysia; Group Discussion: Pharmacy Practice in ASEAN, International Exchange Program และ Executive meeting: Strengthening MOU ส่วนวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557 จะเป็นการ Excursion: University Pharmacy and Pharmcare Pharmaceutical, Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University, Khon Kaen Hospital

“ในช่วงเช้าวันแรกของการประชุม วิทยากรจากประเทศสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และไทย จะมาบรรยายในหัวข้อหลักเกี่ยวกับ Pharmacy Practice ส่วนในช่วงบ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันระดมสมองสู่การกำหนดแนวปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนอาจารย์หรือนิสิต ส่วนวันที่สองจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลขอนแก่น รวมทั้งร้านยามหาวิทยาลัย และโรงงานฟาร์มแคร์ ฟาร์มาซูติคอล ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”

ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ กล่าวอีกว่า ไฮไลท์ของการประชุมอยู่ที่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และได้เรียนรู้กันในเรื่องของการฝึกปฏิบัติงานในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว โดยในครั้งนี้จะเป็นการพูดคุยกันในแนวปฏิบัติ ซึ่งจะมีในเรื่องของระบบการศึกษาที่แตกต่างกัน เช่น กัมพูชาและลาวเป็นหลักสูตร 5 ปี ในขณะที่ไทยเป็นหลักสูตร 6 ปี จึงทำให้การฝึกปฏิบัติงานมีความแตกต่างกันไปด้วย เพราะฉะนั้นต้องมาปรับกันว่าในแต่ละที่จะมีการจัดการฝึกปฏิบัติงานให้แก่นิสิตของตนอย่างไร หรือจะรับนิสิตจากต่างประเทศไปแลกเปลี่ยนต้องมีกฎเกณฑ์หรือขั้นตอนอย่างไร

นอกจากนี้ต้องมีการพัฒนาการขยายเครือข่ายและความร่วมมือทางงานวิจัยด้านเภสัชกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต โดยในปัจจุบันทางคณะได้ทำงานร่วมกันกับประเทศลาวอยู่แล้ว และมีความสนใจที่จะขยายงานวิจัยออกไป มีความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศอาเซียนเรื่องสมุนไพร เช่น จัดทำหนังสือเกี่ยวกับสมุนไพรในแต่ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น ซึ่งการประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกัน และในอนาคตหากมีการขยายเครือข่ายกว้างออกไปกว่านี้ มีแผนจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพเพื่อจัดการประชุมวิชาการในลักษณะเดียวกันนี้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายของการประชุม ได้แก่ ผู้บริหารของคณะเภสัชศาสตร์ อาจารย์ที่ดูแลเรื่องการฝึกปฏิบัติงาน นิสิตที่สนใจไปฝึกงานต่างประเทศ ในเครือข่าย ‘เภสัชศาสตร์อีสาน’ ซึ่งประกอบด้วยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน เพื่อให้การพูดคุยกันเพื่อต่อยอดทางด้านเภสัชกรรมในด้านต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างครอบคลุม และไม่แตกประเด็นไปมากจนเกินไป

“ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับคือ จะได้เรียนรู้ในเรื่องของระบบการศึกษา ระบบยา ระบบสาธารณสุขของต่างประเทศว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร มีโอกาสได้เรียนรู้และเห็นภาพเกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติงานที่ต่างประเทศ เพราะจะมีอาจารย์ประจำแหล่งฝึกเข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ด้วย จึงอยากจะขอเชิญชวนคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ เภสัชกร และผู้ที่สนใจ เข้ามาร่วมรับฟังและสังเกตการณ์ โดยจะมีการพูดคุยในเรื่องที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการทำความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนได้มากขึ้น และหวังว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และสามารถสร้างเครือข่ายขยายออกไปได้กว้างกว่านี้ในปีต่อ ๆ ไป” ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.pharmacy.msu.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ 0-4375-4360

 

 

 

 

 

 

 

admin sayfa kirala