ศ.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน บุณยะประภัศร

.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน บุณยะประภัศร

ความจริงใจและความไว้วางใจคือหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จ

สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเชิดชูเกียรติผู้มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรม คุณธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และประสบผลสำเร็จทางด้านวิชาการและการดำรงชีวิต เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลและสาธารณชนทั่วไป โดยในปี พ.ศ. 2556 ได้มีมติมอบรางวัล “มหิดลทยากร” ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน 10 ท่าน โดยหนึ่งในบุคคลผู้ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมสมควรแก่การที่ได้รับรางวัลมหิดลทยากร ประจำปี พ.ศ. 2556 คือ .เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน บุณยะประภัศร ผู้ก่อตั้งสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล, Ph.D. (Phytochemistry) จาก Massachusetts College of Pharmacy, Boston, USA เป็นผู้ก่อตั้งสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือได้ว่าเป็นสำนักงานข้อมูลสมุนไพรแห่งแรกของประเทศไทย เคยได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่นประจำปี พ.ศ. 2550 เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาพริกและผลิตภัณฑ์” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นอกจากนี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสังคายนาศัพท์แพทย์ไทย ทำงานวิจัยที่สร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่ผลไม้ไทย ตลอดจนงานวิจัยสมุนไพรที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์

.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน เล่าถึงการก่อตั้งสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ฟังว่า ภายหลังจากที่เรียนจบกลับมาช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังวางแผนจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 โดยพี่ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเตรียมความพร้อมในเรื่องการสำรองยาของชาติ ซึ่งเป็นแผนที่มีมานานแล้วแต่ยังทำไม่สำเร็จ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองทางด้านยาทำให้ต้องหันกลับมาดูในเรื่องของสมุนไพรเพื่อใช้ในกรณีจำเป็น รวมถึงมักจะมีคนถามกับเราเสมอว่า เราควรพัฒนาสมุนไพรชนิดไหนต่อไป ตอบไม่ได้เพราะไม่มีข้อมูล หรือข้อมูลกระจัดกระจาย ประกอบกับท่านคณบดีขณะนั้นคือ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ท่านเป็นผู้ที่มีสายตายาวไกล ท่านบอกว่าคณะเภสัชศาสตร์หนีไม่ได้ที่จะต้องเป็นคนตอบคำถามว่าสมุนไพรใช้ได้จริงหรือไม่ ท่านจึงสนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรขึ้น ซึ่งเมื่อเริ่มทำเราก็ประสบกับปัญหาในการที่จะให้แพทย์แผนปัจจุบันมาคิดตามแนวทางวิธีการรักษาของแพทย์แผนไทย เนื่องจากเราไม่มีองค์ความรู้พอที่จะอธิบายหรือทำความเข้าใจให้เชื่อมต่อกัน เราจึงต้องจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อจัดทำคำอธิบายศัพท์แพทย์แผนไทยเทียบกับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยใช้ระยะเวลานานถึง 5 ปีในการจัดทำ เพื่อใช้ในการทำฐานข้อมูลสมุนไพรด้านสรรพคุณ และได้เริ่มรวบรวมข้อมูลการวิจัยทั้งด้านเคมี เภสัชวิทยาจากวารสาร และฐานข้อมูลสากลเพื่อใช้เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้สมุนไพร

“จุดที่ยากที่สุดของการทำงานนี้คือ ด้วยโครงสร้างของมหาวิทยาลัย งานในลักษณะนี้ไม่ใช่ภารกิจของมหาวิทยาลัย จึงมีการสนับสนุนค่อนข้างน้อย เราต้องรับผิดชอบทำทุกอย่าง ถือว่าเป็นการทำงานที่หนักมาก ตั้งแต่การหางบประมาณเพิ่มเติมในการจ้างเจ้าหน้าที่ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรไทยซึ่งมีข้อมูลจำนวนมาก อีกทั้งหลายคนสงสัยในสรรพคุณของสมุนไพรว่ามีศักยภาพจริงหรือไม่ คำตอบคือ มี เพียงแต่เราไม่มีบันทึกที่ดีพอที่จะบอกว่ามีศักยภาพเท่าที่มีการบอกเล่ากันมา นอกจากนี้การบันทึกข้อมูลของเราไม่ได้มากเพียงพอที่จะเอามาถอดเป็นงานวิจัยได้ เพราะวิธีการรักษาของแพทย์แผนไทยกับแผนปัจจุบันไม่เหมือนกัน ทั้งนี้การรักษาของแพทย์แผนไทยมุ่งเน้นการใช้ยาเพื่อให้เกิดความสมดุลในร่างกาย เป็นลักษณะของการตรวจและให้การรักษาปรับเฉพาะตัวแต่ละบุคคลจึงไม่มีตำรายาใดที่กำหนดปริมาณการใช้ที่แน่นอนได้ ดังนั้น การที่บอกว่าคนโบราณหวงความรู้ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเขาไม่สามารถบอกได้เนื่องจากเป็นศาสตร์และศิลป์ที่อาศัยลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลในการวินิจฉัยโรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในเรื่องของสมุนไพร พี่มองว่าเรายังมีโอกาสพัฒนาต่อไปได้ เพียงแต่เราต้องก้าวอย่างระมัดระวัง และต้องติดตามถึงข้อกำหนดของนานาชาติด้วย โดยในส่วนของ AEC เรามีโอกาสและศักยภาพมาก เพียงแต่เรามีนโยบายภาครัฐที่ไม่ต่อเนื่องชัดเจน ขาดการสนับสนุน อีกทั้งความซับซ้อนของสมุนไพรยังมีความเข้าใจผิดมาก เพราะส่วนใหญ่จะใช้เป็นตำรับทำให้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมและมีการควบคุมมาตรฐาน”

.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน กล่าวถึงการสร้างกำลังใจให้กับตัวเองว่า งานนี้ถึงแม้ว่าจะยากแต่ที่ยังทำอยู่ เนื่องจากต้องเข้าไปช่วยกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งจริง ๆ แล้วเราต้องการแสวงหารางวัลสำหรับตัวเองมากกว่า เพราะมีหลายครั้งที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์และมีหลายคนได้นำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องของพืชพิษ เราได้มีโอกาสช่วยชีวิตคนหลาย ๆ คน โดยตอนนี้เราได้ทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับ Toxic คิดว่า ณ จุดนี้รู้สึกดีใจว่าอย่างน้อยสิ่งที่เราทำไปก็เป็นประโยชน์ ได้ช่วยเหลือคน ทำให้อยากทำตรงนี้ให้สำเร็จ

สำหรับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน กล่าวว่า ความรับผิดชอบปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานและที่ปรึกษาด้านสมุนไพรของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. โดยผลงานวิจัยเด่นที่ได้รับรางวัลประจำปี พ.ศ. 2550 คือ เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาพริกและผลิตภัณฑ์” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นี้ โดยสาเหตุที่เลือกพริก เนื่องจากเรามองว่าถ้านำไปใช้ในปศุสัตว์ต้องเป็นพืชอาหารและต้องใช้วัตถุดิบเป็นจำนวนมาก เราทำเป็นโครงการทั้งชุด ทำให้มีความสมบูรณ์ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำคือ การเตรียมวัตถุดิบ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์ของเราสามารถส่งออกได้ โดยเราได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้แก่บริษัททั้งในและต่างประเทศที่มาขอใช้ลิขสิทธิ์ ซึ่งสิ่งที่เราทำทั้งหมดนี้ก็มุ่งหวังว่าจะย้อนกลับมาสู่เกษตรกรและผู้บริโภค

“เนื่องจากเราเป็นนักวิจัยทำให้มองขั้นตอนของการทำวิจัยว่าไม่สามารถทำคนเดียวแล้วใช้ประโยชน์ได้ จะต้องมีหลาย ๆ คนมาช่วยกัน และการที่จะมีใครมาให้ทุนถือเป็นเรื่องยาก แต่ท่านผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และท่านผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรก็เปิดโอกาสให้คิดตรงนี้เต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามทำอย่างมาก เพื่ออยากจะให้สังคมงานวิจัยมองเห็นว่าการวิจัยสมุนไพรไม่ใช่แค่ทำโครงการหนึ่งหรือสองโครงการถึงจะสำเร็จ และการที่จะทำตรงนี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายสาขา ซึ่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จได้สืบเนื่องมาจากนักวิจัยที่ร่วมงานทุกคนมีใจเปิดกว้าง มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยรับฟังความคิดเห็นกันตลอดจึงทำให้งานประสบความสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานย่อมมีปัญหาอุปสรรค .เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน ก็เช่นกัน เวลาที่ประสบปัญหา เวลาที่เจอปัญหาจากใครบางคน เราก็จะไปพบคนที่ดี สิ่งที่ดี ๆ ที่ให้กำลังใจ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ทำฐานข้อมูลช่วงนั้นยอมรับว่าเหนื่อยมาก มีอุปสรรคหลายด้าน มีหลากหลายมุมมอง รู้สึกเหนื่อยมาก พี่ก็จะพัก ใช้สมาธิและพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วย หรือปิดสวิตช์ตัวเองไปเที่ยวกับเพื่อน ตอนที่จัดทำฐานข้อมูลเคยคิดจะทิ้งหลายครั้ง แต่ทำไม่ได้เพราะมีลูกน้องภายใต้การดูแลหลายคน ที่สำคัญเราได้เริ่มต้นมาจนถึงจุดนี้แล้ว จึงหาจุดที่ตัวเองยึด นั่นก็คือเราทำให้ใคร และจำเป็นต้องให้คนอื่นเห็นหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คงไม่ใช่ แต่ที่เราทำก็เพราะมีประโยชน์ และถ้าคนได้ใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ทำ แค่นี้เราก็ภูมิใจ

“สิ่งที่ทำให้เราสามารถทำงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะเราได้รับการฝึกสอนจากคุณพ่อซึ่งเป็นข้าราชการมหาดไทย ท่านสอนเสมอว่าเป็นหัวหน้าต้องดูแลลูกน้อง จึงได้รับหลักการปกครองของพ่อตรงส่วนนี้ซึมซับมา ทำให้ตอนนั้นต้องกัดฟันสู้เพื่อลูกน้องจนกว่าเขาจะได้บรรจุ เราไม่มีทางถอย ต้องทำให้ดีที่สุด โดยระหว่างที่ทำ เราก็ตั้งคำถามและตอบคำถามกับตัวเองด้วยว่าทำเพื่ออะไร ซึ่งสิ่งที่เราทำเป็นการช่วยเหลือคน ทำให้รู้สึกว่าเราได้ทำประโยชน์กับคนอื่น นอกจากนี้พี่มีความชัดเจนว่าตนเองไม่ได้คิดหวังจะเอาผลงานของใคร ทุกคนจึงมีความไว้ใจ เนื่องจากการมารับผิดชอบที่ สกว. ทำให้มีโอกาสได้เห็นโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งถ้าเรานำโครงการต่าง ๆ มารวมทำเป็นโครงการวิจัยก็สามารถนำเสนอขอทุนกับทุกแห่งได้ แต่เราไม่ได้ทำเลย เนื่องจากต้องการเคารพสิทธิ และเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานวิจัย เมื่อเรายึดถือตรงนี้ว่าเราจะไม่ทำอะไรที่บั่นทอนนักวิจัยที่เพิ่งเริ่มและมีไฟ จากความจริงใจตรงนี้ รวมถึงคอยแนะนำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับเขา ทำให้น้อง ๆ นักวิจัยมีความไว้ใจเมื่อมีปัญหาอะไร เขาก็จะกล้าพูดคุยกับเรา ทำงานด้วยความสบายใจ ซึ่งพี่คิดว่าในการทำงานเป็นทีม ความจริงใจและความไว้วางใจกันเป็นเรื่องสำคัญ ในบ้านเราคนเก่งหาไม่ยาก แต่คนที่จะร่วมมือและก็แลกเปลี่ยนหายาก โดยเฉพาะงานวิจัยเพื่อจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ความร่วมมือ ความจริงใจ รวมถึงทีมเวิร์คเป็นสิ่งสำคัญ”

สุดท้ายนี้.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำวิจัยว่า การจะทำวิจัยต้องค้นคว้าหาข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ว่าเขาทำไปถึงไหน และมีอะไรที่เหลือให้เราทำวิจัยได้ ซึ่งตรงส่วนนี้นักวิจัยส่วนใหญ่จะละเลย และทำให้เสียเวลาในการทำวิจัยที่ไม่จำเป็น หรือไม่ก็เป็นการวิจัยที่นำมาเก็บไว้ ทั้งนี้งานวิจัยสมุนไพรถ้าจะทำการวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จะต้องทำหลาย ๆ สาขา โดยไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด เนื่องจากแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญและความชำนาญแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นความร่วมมือแลกเปลี่ยนกันจะทำให้งานวิจัยเสร็จเร็ว ได้ผล และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทุกคนก็จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้เวลาที่ทำวิจัยต้องคิดด้วยว่างานวิจัยของเราจะส่งผลต่อส่วนรวมหรือให้แก่ประเทศอย่างไร โดยเราต้องคิดด้วยว่างานวิจัยนี้จะให้ใครใช้ เพื่อที่จะได้ออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งงานวิจัยในส่วนนี้ของเรายังมีน้อยมาก