กฎหมายยา (ใหม่) เป็นพิษต่อประชาชน เป็นภัยต่อประเทศชาติ

กฎหมายยา (ใหม่) ...

เป็นพิษต่อประชาชน เป็นภัยของประเทศชาติ (ต่อ)

ใบอนุญาตขายยาและข้อยกเว้นขายยาโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต

กฎหมายยาฉบับใหม่ก็คล้ายกฎหมายยาปี พ.ศ. 2510 คือ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการผลิตยา ขายยา นำเข้ายา เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต แต่มีข้อยกเว้นที่พิสดารที่ผิดหลักนิติธรรมอย่างแรง กล่าวคือ ยกเว้นให้แก่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และสภากาชาดไทย เพื่อใช้ในหน้าที่ป้องกันบำบัดโรค ข้อนี้สมควรยกเว้นให้ เพราะมีระบบกลไกราชการบังคับควบคุมอยู่แล้ว และเป็นภาวะที่เกี่ยวกับการป้องกันบำบัดโรคในภาพรวม แต่มีการยกเว้นการนำยาที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นตำรับยาไว้แล้ว “มาผสมตามหลักวิชา” โดยหมอ หมอฟัน หมอแผนไทย สัตวแพทย์ และพยาบาล รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์สาขาอื่น ใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตน มีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การผสมยาตาม “หลักวิชาการ” นั้นหมายถึง “ผสมตามหลักวิชาการเภสัชกรรม” ที่มีวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว บุคลากรที่ไม่ได้ผ่านการอบรมด้านนี้ไปปฏิบัติงานลักษณะนี้จึงมิอาจรับประกันได้ว่าจะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้

แม้มีเงื่อนไขว่า “ขาย หรือใช้ สำหรับคนไข้ของตนโดยให้ขายได้เฉพาะตามรายการตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” และต้องเป็น “ยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยาจำเป็นเฉพาะกรณีที่ได้จดแจ้งไว้แล้ว”  ก็ตาม แต่การยกเว้นให้มีการแบ่งบรรจุยา (ผลิตยานั่นเอง) และขายยาได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตนี้ถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งของผู้บริโภค (ในที่นี้คือคนไข้ของหมอนั่นเอง) เพราะหากกลับไปดูเงื่อนไขการขอใบอนุญาต (ยา) จะมีเงื่อนไขและความละเอียดอ่อนมาก กว่าที่จะได้ใบอนุญาตมา ดังนั้น หากปล่อยปละละเลยให้บุคลากรทางการแพทย์ใด ๆ ก็ได้เป็นผู้สามารถแบ่งบรรจุยาเชิงผลิตและขายยาโดยขาดการควบคุมอย่างรัดกุม ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นคือ แล้วมาตรฐานตามหลัก GMP ของยาจะยังคงอยู่หรือไม่ เป็นเรื่องน่าห่วงมิใช่หรือ

ว่าด้วยยาที่ต้องห้ามตามกฎหมาย

            นอกจากที่กล่าวแล้ว การนำยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วมาผสมตามหลักวิชาการ (นอกสถานที่ผลิตยา ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้) ยังมีความเสี่ยงต่อกฎหมายยาในฉบับเดียวกัน กล่าวคือ

กฎหมายยาฉบับใหม่บัญญัติไว้ว่า ยาดังต่อไปนี้ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า

(๑) ยาปลอม

(๒) ยาผิดมาตรฐาน

(๓) ยาเสื่อมคุณภาพ

(๔) ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาตามมาตรา ๕๖

(๕) ยาที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาตามมาตรา ๗o

(๖) ยาที่ไม่ได้จดแจ้งตามมาตรา ๕๗

(๗) ยาที่รัฐมนตรีประกาศห้ามตามมาตรา ๖(๒)

แต่ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตาม (๔) หรือยาที่ไม่ได้จดแจ้งตาม (๖) ไม่ใช้บังคับกับยาที่ผลิต ขาย นำเข้า โดยกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐฯ และไม่ใช้บังคับกับยาซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรมไทย หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์) แบ่งบรรจุจากยา หรือผสมตามหลักวิชาในยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาหรือจดแจ้งไว้แล้วเพื่อใช้แก่คนไข้ของตน ยาซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์แบ่งบรรจุจากยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับหรือจดแจ้งไว้แล้ว เพื่อใช้กับสัตว์ที่ตนบำบัดหรือป้องกันโรค หรือยาซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเภสัชกรรมไทย แบ่งบรรจุจากยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาหรือจดแจ้งไว้แล้วเพื่อขายสำหรับผู้ซื้อในสถานที่ขายยา

เห็นได้ว่า ยาที่ต้องขึ้นทะเบียนและยาที่ต้องจดแจ้งตามกฎหมายยาฉบับใหม่นี้ บรรดาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขทั้งหลายได้รับยกเว้นจากยาต้องห้ามตามกฎหมายได้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากในความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคภายใต้ระบบสาธารณสุขเรื่องยาของกฎหมายยาฉบับใหม่นี้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของยาผิดมาตรฐาน ซึ่งเป็นข้อต้องห้ามในกฎหมายยาอย่างชัดแจ้ง และมีบทลงโทษด้วย

ว่าด้วยเรื่องยาปลอม

กฎหมายยาฉบับใหม่นี้บัญญัติไว้ว่า ยาดังต่อไปนี้เป็นยาปลอม

(๑) ยาหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนเพื่อแสดงว่าเป็นยาแท้

(๒) ยาที่แสดงชื่อ หรือแสดงวัน เดือน ปี ที่สิ้นอายุ ซึ่งไม่ใช่ความจริง

(๓) ยาที่แสดงชื่อ เครื่องหมายของผู้ผลิต หรือที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ซึ่งไม่ใช่ความจริง หรือแสดงข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับยาไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งอื่นใดหรือไม่ก็ตาม

(๔) ยาที่แสดงว่าเป็นยาตามตำรับที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือจดแจ้งไว้ซึ่งไม่ใช่ความจริง

(๕) ยาที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานถึงขนาดที่มีปริมาณหรือความแรงของสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินกว่าร้อยละยี่สิบจากเกณฑ์ต่ำสุด หรือสูงสุดที่กำหนดไว้ในตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนหรือตามที่ระบุไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศในกรณีที่เป็นยาที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยา

            การนำยาที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วมาผสมตามหลักวิชา โดยบุคลากรที่มิได้ผ่านการอบรมด้านเภสัชกรรมมาก่อนย่อมมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการผลิตหรือขาย “ยาปลอม” ที่นิยามไว้ตามกฎหมายยา เพราะหากนำเอายามาตรฐานตามตำรับยาไว้แล้วมาเล่นแร่แปรธาตุ ผสมตามหลักวิชาของปัจเจกบุคคลที่ไม่ผ่านการอบรมด้านเภสัชกรรม ถือว่าเป็นบ่อเกิดของ “ยาปลอม” ซึ่งอาจนำไปสู่สูตรยาตำรับลับหรือสูตร “ยาผีบอก” รายละเอียดลองย้อนดูบทบัญญัติว่าด้วยยาปลอมอีกครั้งจะเห็นประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น

ความรับผิดทางแพ่ง (Product Liability)

            จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แม้กฎหมายยาใหม่นี้จะมีข้อน่าห่วงมากมายในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคก็ตาม แต่ก็ได้เปิดช่องไว้ให้ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ ถ้าหากความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับยาและผู้ประกอบวิชาชีพ นั่นคือหมวดที่ว่าด้วย ความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องคือ

- บทบัญญัติในหมวดนี้ไม่เป็นการลบล้าง หรือจำกัดความรับผิดทางแพ่งที่บุคคลมีอยู่ตามบทบัญญัติของกฎหมายอื่น

- ผู้รับอนุญาตผลิตยา ขายยา นำเข้ายา เจ้าของผลิตภัณฑ์ ต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในผลของความเสียหายอันเกิดจากยานั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือตนไม่มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดความเสียหายนั้น หรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายเอง

- ฉันใดฉันนั้น ความรับผิดทางแพ่งนี้จะต้องมีข้อบัญญัติชัดแจ้งให้ใช้บังคับแก่ผู้ผลิตยา ขายยา นำเข้ายา ที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายยานี้ด้วย กล่าวคือ ใช้บังคับทั้งกระทรวง ทบวง กรม และสภากาชาด ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขทุกสาขาที่ได้รับยกเว้น ทั้งหมอ หมอฟัน พยาบาล เภสัชกร สัตวแพทย์ และผู้ประกอบโรคศิลปะอื่น ๆ ด้วย

หากจะมีวิชาชีพใด รวมทั้งวิชาชีพเภสัชกรรมด้วย อาจหาญที่จะพยายามทำให้วิชาชีพตนอยู่เหนือกฎหมาย เพื่อก่อให้เกิดสิทธิในการจ่ายยา การผลิตยา การแบ่งบรรจุยาให้แก่ผู้ป่วยของตนเอง โดยให้การประกอบวิชาชีพมิใช่เป็นการให้บริการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และให้วิชาชีพของตนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เมื่อได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม รวมทั้งให้การประกอบวิชาชีพซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความผิดทั้งปวง

หากเป็นดั่งเช่นนี้แล้วไซร้ คงต้องย้อนกลับไปดูพระราชบัญญัติทั้งหลายที่ยกเป็นตัวอย่างตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทั้งหมดว่าสมควรที่จะให้วิชาชีพของตนเองอยู่เหนือความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือไม่ และหากจะว่ากันตามปรัชญาของกฎหมายและเศรษฐศาสตร์แล้ว ทุกวิชาชีพมีวัตถุประสงค์ที่ตราขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หากมีการปฏิบัติวิชาชีพด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยมีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางแล้ว การสร้างเกราะให้วิชาชีพของตนอยู่เหนือกฎหมายก็น่าจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นใด ๆ เลย

อันตรายซ่อนเร้นที่ทำให้ “ยา” ไร้คุณภาพ

            นอกจากดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในกฎหมายยาใหม่นี้ยังมีหมวดที่ว่าด้วย “ยาสำหรับสัตว์” ที่บัญญัติไว้ว่าผู้ประกอบการจะต้องได้รับอนุญาตทั้งการผลิต การขาย และการนำเข้าเสียก่อน แต่แล้วก็มีการยกเว้นให้มีการผลิตอาหารสัตว์ผสมยาในฟาร์มสำหรับสัตว์ของตน (อาจเป็นเกษตรกรเลี้ยงสัตว์หรือนายทุนใหญ่ฟาร์มสัตว์ก็ได้) ยกเว้นให้นำยาสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนยาสัตว์ไว้แล้วมาผสมตามหลักวิชาการของสัตวแพทย์ แบ่งบรรจุยาและขายยาสำหรับสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วสำหรับสัตว์ที่ตนเองรักษาอยู่ ซึ่ง “ยาสำหรับสัตว์” นี้ ซึ่งผู้ดำเนินการซึ่งเป็นผู้ดูแลและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการกับยาสำหรับสัตว์ยกเว้นให้สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง หรือบางกรณีจะเป็นผู้จบวิทยาศาสตรบัณฑิตซึ่งผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการยาสำหรับสัตว์ประกาศกำหนดก็ได้ จะเห็นได้ว่าการควบคุมกำกับดูแลยาสำหรับสัตว์มีความเสี่ยงมากที่ให้บุคลากรที่ไม่มีความรู้ด้านวิชาการ (ด้านเภสัชกรรม) มามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการผลิต การขาย การนำเข้าสำหรับสัตว์ และเมื่อยาสำหรับสัตว์ที่สัตว์ในสถานที่เลี้ยงสัตว์ได้รับนั้น สุดท้ายก็ประชาชนผู้บริโภคสัตว์นั้นจะเป็นผู้ได้รับยานั้น อันเป็นสาเหตุของสารตกค้าง การดื้อยาที่เป็นปัญหาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ที่น่าจะเป็นปัญหาอีกประเด็นหนึ่งในด้านคุณภาพของ “ยา” ก็คือในหมวดของ “เภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชชีววัตถุฯ” ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ผู้ประกอบกิจการจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะสามารถผลิต ขาย หรือนำเข้าได้ แต่ก็มีการยกเว้นให้ผู้ดำเนินการและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเป็นสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง หรือผู้ได้รับปริญญาทางวิทยาศาสตร์ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดก็ได้ ทั้ง ๆ ที่เภสัชเคมีภัณฑ์คือ “สาร” ตั้งต้นที่สำคัญในตำรับยา และเป็นสารเริ่มต้นในการผลิตยา ยาดีมีมาตรฐานย่อมมาจากเภสัชเคมีภัณฑ์ที่ดีที่มีมาตรฐานดีด้วย เหตุไฉนจึงปล่อยให้บุคลากรที่ไม่ได้เชี่ยวชาญทางด้านเภสัชศาสตร์มาดูแลรับผิดชอบ ผิดกับหลักสากลที่ว่า “จุดเริ่มต้นที่ดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง” หากปล่อยให้เป็นปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้นเสียแล้ว จะได้ยาดีตามมาตรฐาน GMP และ PICs ได้อย่างไร นี่คือจุดที่ต้องแก้ไขอย่างมากในกฎหมายยาใหม่นี้

ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

            ความรู้ที่มีอยู่ในโลกนี้เราอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ความรู้ที่เป็นศาสตร์ และความรู้ที่เป็นศิลป์
ความรู้ที่เป็นศาสตร์ หมายถึง ความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ และเป็นจริงเสมอ ทั้งยังเป็นความรู้ที่ถาวรตลอดไป เช่น พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกเสมอ วัตถุชนิดเดียวกันมีมวลไม่เท่ากันย่อมมีน้ำหนักไม่เท่ากัน น้ำจะมีสถานะเปลี่ยนไปเมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่างกัน เป็นต้น ความรู้ที่เป็นศิลป์ หมายถึง ความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากการสมมุติ และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ชนหรือสังคมหนึ่ง ๆ จะพิสูจน์ได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่สาระสำคัญ ความรู้ประเภทนี้จะเป็นความรู้ที่ยั่งยืนมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคมและหมู่ชนนั้น ๆ เช่น ความเชื่อเรื่องวิญญาณ สีแดงคือพระอาทิตย์ วัตถุที่ไว้ตักอาหารเรียกว่าช้อน คนตายย่อมไปอยู่อีกโลกหนึ่งเรียกว่าปรโลก การจินตนาการเมื่อได้ดูภาพที่ประทับใจ หรือเกิดความซาบซึ้ง สะเทือนใจเมื่อได้รับฟังบทเพลงหรือบทกวี เป็นต้น

ศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่ว่าด้วยสิ่งที่สามารถเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสได้ ที่สำคัญคือต้องสามารถพิสูจน์ได้ แต่ประสาทสัมผัสของมนุษย์เมื่อเทียบกับความเป็นธรรมชาติแล้ว ประสาทมนุษย์มีข้อจำกัดมาก ในธรรมชาติมีสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์เรามองไม่เห็นมากกว่าที่สามารถมองเห็นได้ สายตามนุษย์มีขีดจำกัดมากซึ่งหากเพียงเปรียบเทียบกับสายตาของเหยี่ยวหรือสายตาของนกเค้าแมว ก็เห็นชัดได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ประสาทสัมผัสของหู มนุษย์เราก็ยังสู้ค้างคาว แมวไม่ได้ ความจริงบางอย่างในธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ ความจริงในธรรมชาติมากมายที่ไม่อาจบันทึกให้เป็นการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Practice: EBP) ได้

ส่วนความรู้ในด้านของศิลป์เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปรัชญา วัฒนธรรม การดำรงคงอยู่ของมนุษยชาติ จึงทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์สามารถอยู่รอดตลอดมาได้ มนุษย์มีศิลปะในการดำรงชีพก่อนจะเกิดศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เสียอีก จึงอาจอนุมานได้ว่า การใช้ศิลปะนำวิทยาศาสตร์น่าจะมีความสำคัญมากกว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ที่กล่าวนี้อาจเห็นได้จากสมัยก่อนที่จะมีการใช้ยาแผนปัจจุบัน มนุษย์สามารถดูแลรักษาสุขภาพได้ตลอดมา ครั้นวิทยาศาสตร์การแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้น มียาแผนปัจจุบันใช้มากขึ้นตามลำดับ มนุษย์กลับมีสุขภาพ (Sub-health) ที่แย่ลง โรงพยาบาลที่แออัดหนาแน่นด้วยคนไข้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่าการแพทย์แผนใหม่มิได้ลดการเจ็บป่วยลง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเนื่องมาจากโลกในปัจจุบันให้ความสำคัญแก่ “กรมการแพทย์” มากยิ่งกว่า “กรมอนามัย” กรมการแพทย์เน้นการรักษาด้วยวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เพื่อขจัดโรคภัยต่าง ๆ ในขณะที่กรมอนามัยเน้นที่การดูแลสุขภาพก่อนป่วยยิ่งกว่าการรักษาโรค ทั้งกรมการแพทย์และกรมอนามัยมีความสำคัญต่อระบบสุขภาพและสาธารณสุขไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ผิดกันตรงที่การใช้ “ศิลปะ” ในการบริหารจัดการสุขภาพ ที่ว่า การแพทย์มุ่งที่การรักษาเมื่อป่วยแล้ว การอนามัยเป็นการดูแลป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย สิ่งที่มุ่งประสงค์ต่อผลเหมือนกันคือเรื่องมีสุขภาพดี แต่กระบวนการในการเข้าถึงเป้าหมายต่างกันอย่างมาก

การกำหนดมาตรฐานและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพน่าจะเป็นศาสตร์ที่วางแนวทางการปฏิบัติชนิดที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์สามารถเห็นประจักษ์ได้ แต่วิชาการด้านวิทยาศาสตร์เพียงประการเดียวนั้นมิได้หมายถึงการมี “ศิลปะ” ที่จะสามารถทำการรักษาคนไข้ให้หายป่วยได้ทั้งร้อยละร้อย การยึดมั่นในการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน (เพื่อมาตรฐานจริง ๆ หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องตามกฎหมายก็ตาม) ไม่น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของการประกอบวิชาชีพ การใช้ศิลปะในการประกอบวิชาชีพกับคนไข้แต่ละราย แต่ละกรณี ด้วยความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ การให้กำลังใจ น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า ซึ่งก็คือ การปฏิบัติที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะของผู้บริหารหรือผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละคน ที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาความรู้ หลักการ และทฤษฎีไปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมก็ถือว่าเป็นการบริหารงานประกอบวิชาชีพที่เป็นไปในลักษณะของศิลป์ (Arts)

กฎหมายยาฉบับเป็นพิษต่อประชาชน เป็นภัยต่อประเทศชาติ !!!

            กล่าวโดยสรุป การร่างพระราชบัญญัติยาฉบับ พ.ศ. ..... (ใหม่) นี้อาจเป็นข้อดีที่วิชาชีพด้านสาธารณสุขทั้งหลายสามารถผลิตยา แบ่งบรรจุยาได้สำหรับคนไข้ของตน ทำให้คนไข้เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีการอนุโลมให้บุคลากรที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านหลักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์อย่างแท้จริงมาดำเนินการและปฏิบัติการเกี่ยวกับ “ยา” ได้ แต่เพียงเท่านี้ไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะไปหักล้างความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของคนไข้ (ผู้บริโภค) ในด้านยา เพราะยานั้นมีคุณอนันต์ แต่มีโทษมหันต์ในตัวอยู่แล้ว ยิ่งเข้าถึงยาได้ง่ายเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงต่อพิษของยาเท่านั้น และหากจะทอดสายตายาวไกลออกไปถึงการเปิดเวทีภูมิภาคของ AEC ที่มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานและวิชาชีพได้อย่างเสรีแล้ว จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบอย่างยิ่งที่หมอ พยาบาล สัตวแพทย์ต่างด้าวสามารถทำการขายยา ผสมยาเองได้ในสถานพยาบาลของตน

ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่บริโภคยามากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกอาจได้ครองอันดับแชมป์นี้ตลอดไป โดยที่สุขภาพของคนไทยมิได้ดีขึ้นเลย มีแต่จะแย่ลงด้วยพิษของยา ผู้เขียนขอย้ำชัดเลยว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายยาฉบับนี้แล้ว จะเป็นพิษต่อผู้บริโภคและเป็นภัยต่อประเทศชาติ

            ยุคของคืนความสุขให้ประชาชน ไฉนจึงยังมีการสร้างทุกข์ในเรื่องของยาให้แก่ประชาชนและประเทศชาติด้วยเล่า

เอกสารอ้างอิง

            - วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ..... ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) : ปัญหาต่อระบบยาและผู้บริโภค โดย ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ. (เอกสารนำเสนอเพื่อประกอบการประชุมวิชาการ วคบท./คคส. ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557) ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ

            - DrugAct_draft_261249.pdf. Adobe Reader.