สุภาษิต-การประกอบวิชาชีพ

สุภาษิต-การประกอบวิชาชีพ

ในการประกอบวิชาชีพ สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นแนวทางชี้นำให้เกิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ จะเห็นได้ชัดจากแนวทางการปฏิบัติอันเกิดจากปรัชญาของวิชาชีพกฎหมายซึ่งมีความเป็นมาแต่โบราณกาล และพัฒนาเป็นกฎหมายทั้งแบบมีตัวอักษร (Civil Law System) และแบบจารีตประเพณี หรือแบบไม่มีตัวอักษร (Common Law System) ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน หลักคิดจากปรัชญานี่เองเป็นต้นกำเนิดของสุภาษิตมากมายที่ใช้เป็นแนวทางในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งเห็นได้ชัดในสุภาษิตกฎหมาย บทความนี้จึงใคร่กล่าวถึงตัวอย่างของสุภาษิตกฎหมาย และสุภาษิตหรือแนวทางปฏิบัติของวิชาชีพด้านการสาธารณสุข เพื่อแบ่งปันความรู้กันว่า การประกอบวิชาชีพที่ถูกที่ควรนั้นมิใช่จำเป็นต้องอาศัยแต่กฎหมายประการเดียวเท่านั้น หลักการและเหตุผลในการประกอบวิชาชีพย่อมอยู่เหนือกฎบัญญัติใด ๆ เราไม่อาจปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย แต่กฎหมายก็มิใช่ยาวิเศษที่แก้ไขทุกปัญหาได้ ดังนั้น สุภาษิตกฎหมาย สุภาษิตแห่งวิชาชีพ รวมทั้งปรัชญาในการประกอบวิชาชีพน่าจะเป็นเครื่องมือนำพาทำให้การประกอบวิชาชีพของแต่ละสาขาสมบูรณ์และบันดาลสุขให้แก่สังคมได้ดียิ่งขึ้น ดังจะขอยกคำกล่าวอันเป็นอมตะของปรมาจารย์ด้านกฎหมายของไทยคือ ท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ที่กล่าวไว้ว่า...

การสร้างนักกฎหมายมิใช่เพียงสอนคนให้สอนกฎหมายได้ แต่จะต้องสอนให้ผู้ที่เข้ามาศึกษามีชีวิตจิตใจเป็นนักกฎหมาย เพื่อรับใช้ประชาชนและประเทศชาติโดยสุจริตตามคติของผู้ประกอบวิชาชีพ

สุภาษิตกฎหมาย

สุภาษิตที่เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายเองโดยตรง มีเช่น จงประสาทความยุติธรรมแม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที; ความยุติธรรมไม่เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิเสธหรือผัดผ่อน; ผู้เสียหายเท่านั้นจึงมีอำนาจฟ้องคดี; ถ้าโจทก์ไม่นำสืบจำเลยย่อมพ้นผิด; หน้าที่นำสืบย่อมตกอยู่แก่โจทก์; กฎหมายย่อมช่วยผู้บริสุทธิ์; กฎหมายย่อมมุ่งถึงสิ่งอนาคตไม่ใช่สิ่งอดีต (กฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง); กฎหมายท้องถิ่นย่อมใช้บังคับแก่การกระทำในท้องถิ่นนั้น (ศักดิ์ของกฎหมายใหญ่ย่อมอยู่เหนือกฎหมายเล็กกว่า)

สุภาษิตที่เกี่ยวกับการตีความกฎหมาย เช่น ข้อยกเว้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด; ไม่มีกฎหมายไม่มีการลงโทษ; บุคคลย่อมจะเป็นผู้ตัดสินคดีของตนเองไม่ได้; ผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้โอน; ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน; สัญญาไม่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย; ความไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นข้อแก้ตัวได้; ความไม่รู้ในสิ่งซึ่งกฎหมายถือว่าต้องรู้ไม่เป็นข้อแก้ตัว; ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว; การไร้ความสามารถคงเป็นข้อแก้ตัวได้ตามกฎหมาย; จะทำสัญญายกเว้นความรับผิดอันเกิดจากการฉ้อฉลมิได้; เมื่อไม่มีตัวการย่อมไม่มีผู้สนับสนุน; ประโยชน์สุขของประชาชนย่อมเป็นกฎหมายสูงสุด

สุภาษิตเหล่านี้ล้วนเป็นหลักปฏิบัติในด้านความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล ผู้เขียนใคร่แบ่งปันรายละเอียดของบางสุภาษิตเพื่อให้สามารถเข้าใจถึงหลักการของสุภาษิตมากยิ่งขึ้น

ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (No man can give a better little than which he himself has)

“ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” หมายถึง ผู้รับโอนได้สิทธิไปเพียงเท่าที่ผู้โอนมีสิทธิอยู่ หากสิทธิของผู้โอนมีข้อผูกพันหรือมีข้อบกพร่องประการใดอยู่ในขณะที่โอน ความผูกพันหรือข้อบกพร่องนั้นจะตกติดไปถึงผู้รับโอนด้วย ผู้รับโอนจะอ้างถึงความสุจริต ความไม่รู้ถึงความผูกพัน หรือข้อบกพร่องต่าง ๆ ขึ้นมาลบล้างย่อมไม่ได้ คืออ้างไม่ขึ้น ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 ที่ว่า “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า” หมายความว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเช่าอยู่ ผู้รับโอนย่อมต้องผูกพันกับสัญญาเช่านั้น และรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย เพราะสัญญาเช่าไม่ระงับ

ตัวอย่างเช่น นาย ก. ขายอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่นาให้แก่นาย ข. ที่ดินแปลงนี้ นาย ก. ได้ให้นาย ค. เช่าทำนา และสัญญาเช่ายังไม่หมดอายุในวันที่นาย ก. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7 ไร่ ให้แก่นาย ข. ดังนั้น นาย ข. ผู้รับโอนจึงต้องรับภาระติดพันคือสัญญาเช่าที่ดินซึ่งนาย ก. ทําไว้กับนาย ค. นั้นด้วย หรืออย่างกรณีคดีดังของพระพยอมแห่งวัดสวนแก้ว ทางวัดซื้อที่ดินจากบุคคลหนึ่งมีสัญญาซื้อขายถูกต้อง ต่อมาปรากฏว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น (ที่ไม่ใช่ผู้ขาย) การซื้อขายจึงเป็นโมฆะ เป็นต้น

ความเป็นธรรมสำคัญกว่ากฎหมาย

นิทานเรื่องคนเลี้ยงแกะกับนายพราน เรื่องมีอยู่ว่า ชายคนหนึ่งเลี้ยงแกะเป็นอาชีพอยู่ที่ชายเขา เขามีเพื่อนบ้านเป็นนายพรานที่ออกล่าสัตว์เป็นอาชีพและเลี้ยงสุนัขล่าเนื้อไว้ฝูงหนึ่งเพื่อช่วยในการล่าสัตว์ของเขา ในเวลากลางวัน ชายเลี้ยงแกะต้องปล่อยฝูงแกะออกกินหญ้าตามทุ่งหญ้า และบ่อยครั้งที่สุนัขล่าเนื้อของเพื่อนบ้านได้หลุดออกมากัดและทำร้ายแกะของเขา เขาจึงเข้าไปขอร้องนายพรานที่เป็นเพื่อนบ้านให้ช่วยกักขังสุนัขล่าเนื้อให้แน่นหนา อย่าได้มากัดทำร้ายแกะของเขา นายพรานก็รับปาก แต่เหตุการณ์ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม นายพรานมิได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ ชายเลี้ยงแกะเดือดร้อนมากจึงได้เข้าเมืองไปฟ้องผู้พิพากษา ได้เล่าเรื่องความเดือดร้อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ฟัง ผู้พิพากษาที่แสนดีฟังความแล้วก็พิเคราะห์ให้ชายเลี้ยงแกะฟังว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้เขาสามารถพิพากษาให้นายพรานชดใช้ค่าเสียหายและสั่งให้สร้างกรงสุนัขที่แข็งแรงและควบคุมมิให้สุนัขออกมาทำร้ายแกะของเขาได้ตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ชายเลี้ยงแกะจะได้คือการเสียเพื่อนบ้านและก่อศัตรูขึ้นหนึ่งราย ผู้พิพากษาจึงกล่าวกับชายเลี้ยงแกะด้วยความเมตตาว่า เขามีคำแนะนำที่สามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีความ จึงได้บอกวิธีการให้ชายเลี้ยงแกะนำไปปฏิบัติโดยที่ชายเลี้ยงแกะก็เห็นดีงามด้วย ชายเลี้ยงแกะจึงได้กลับบ้านโดยมิได้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เมื่อกลับถึงบ้าน เขาได้เลือกลูกแกะน่ารักสีขาวสวยงาม 3 ตัว แล้วไปบ้านของนายพราน เขานำลูกแกะทั้ง 3 ตัวมอบให้แก่ลูกน้อยของนายพราน ลูกน้อยดีใจมากที่มีสัตว์เลี้ยงน่ารัก นายพรานก็รับไว้ด้วยความยินดี นายพรานเห็นลูกน้อยของตนเองรักลูกแกะมากและเล่นกับลูกแกะทุกวัน เกิดความวิตกว่าสุนัขล่าเนื้ออาจทำร้ายลูกแกะได้ จึงได้สร้างกรงสุนัขที่แข็งแรงกว่าเดิมเพื่อมิให้สุนัขล่าเนื้อออกมาทำร้ายลูกแกะ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาฝูงแกะของคนเลี้ยงแกะก็ไม่เคยถูกสุนัขล่าเนื้อทำร้ายอีกเลย ในวันปีใหม่นายพรานยังได้นำเนื้อที่ล่ามาได้แบ่งปันให้แก่คนเลี้ยงแกะ เป็นการขอบใจที่ทำให้ลูกน้อยของเขามีความสุข

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของสุภาษิตกฎหมายที่ว่า หน้าที่ของผู้พิพากษาที่ดีคือการป้องกันการเป็นความ (It is the duty of a good judge to prevent litigation) และผู้พิพากษาที่ดีย่อมวินิจฉัยตามความยุติธรรม ตามทางที่ชอบ และถือความเป็นธรรมสำคัญกว่าความเคร่งครัดตามกฎหมาย (A good judge decides accordingly to justice and right, and prefer equity to strict law) และสุภาษิตที่ว่า ประโยชน์สุขของประชาชนย่อมเป็นกฎหมายสูงสุด

หน้าที่พิสูจน์ตกอยู่แก่ผู้กล่าวอ้าง หาได้ตกอยู่แก่ผู้ปฏิเสธไม่ (The proof lies upon him who affirms, not upon him who denies)

ความจริงของเรื่องนี้มีอยู่ว่า เด็กหญิงอายุ 14 ปี ถูกผู้ชาย 3 คนร่วมกันกระทำชำเรา ใช้กำลังประทุษร้ายโดยช่วยกันจับแขนขาในภาวะที่เด็กสาวขัดขืนไม่ได้ อัยการฟ้องจำเลย จำเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ ศาลต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้ง 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เด็กหญิงผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานสำคัญอย่างยิ่งที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ แต่โจทก์กลับไม่นำตัวมาเบิกความยืนยันต่อศาล ทำให้จำเลยไม่สามารถถามค้านได้ ส่วนการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยปฏิเสธพยานหลักฐานของโจทก์ ย่อมไม่พอให้รับฟังให้ลงโทษจำเลยทั้ง 3 ได้ พิพากษายืน ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7013/2556)

นอกจากนี้แล้ว สุภาษิตที่น่าสนใจมากที่ว่าด้วย “ข้อยกเว้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด” หรือ “ข้อยกเว้นย่อมพิสูจน์บทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยสิ่งซึ่งมิได้รับการยกเว้น” (An exception proves the rule concerning things not excepted) หรือ “สัญญาไม่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “จะทำสัญญายกเว้นความรับผิดอันเกิดจากการฉ้อฉลมิได้”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีกฎหมายบัญญัติชัดแจ้งใน “พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540” ที่บัญญัติไว้ว่า ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป........... ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
ในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ให้ทำการวินิจฉัยว่าข้อสัญญาจะมีผลบังคับเพียงใดจึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีให้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้ง

(1) ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ ความสันทัดจัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ ทางเลือกอย่างอื่น และทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง

(2) ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น

(3) เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาหรือในการปฏิบัติตามสัญญา

(4) การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องว่าด้วย “ข้อยกเว้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด” หรือ “ข้อยกเว้นย่อมพิสูจน์บทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยสิ่งซึ่งมิได้รับการยกเว้น” ยกตัวอย่างอุทาหรณ์ในกฎหมายยาทั้งฉบับเดิมและที่กำลังยกร่างขึ้นใหม่ บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการผลิต ขาย หรือนำเข้ายาต้องยื่นคำขอและได้รับอนุญาตเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ แต่ได้มีข้อยกเว้นองค์กรรัฐ และผู้ประกอบวิชาชีพบางสาขาสามารถผสม ปรุง แบ่งบรรจุ (คือกระบวนการของการผลิตยานั่นเอง) ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกฎกระทรวง ดังนี้ ตามกรณีเช่นนี้ หากผู้ได้รับการยกเว้นมีการกระทำผิดจะต้องตีความการกระทำนั้นเยี่ยงลักษณะของผู้มีใบอนุญาตด้วย เพราะข้อยกเว้นนี้ยกเว้นให้อย่างมีเงื่อนไขจำกัดมาก หากมีการกระทำผิดเกินเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อยกเว้นย่อมต้องมีการตีความอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้โดยยึดถือบทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยสิ่งซึ่งมิได้รับการยกเว้นเป็นหลักในการพิเคราะห์พิจารณา และที่สำคัญมากข้อหนึ่งคือ มาตรฐานการปฏิบัติของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นจะต้องดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานของผู้ได้รับอนุญาตดุจกัน เพราะเงื่อนไขหนึ่งที่ยกเว้นให้คือยกเว้นเพียงไม่ต้องขอใบอนุญาตเท่านั้น หาได้ให้สิทธิพิเศษอื่นใดอยู่เหนือผู้ได้รับใบอนุญาตไม่

 

ว่าด้วย Minimum Standard Practice

ในวงการของวิชาชีพด้านสาธารณสุขเกือบทุกวิชาชีพพยายามออกข้อบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพของตนจะต้องปฏิบัติ (Practice) ให้ได้ตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพกำหนด ตามหลักการแล้วการประกอบวิชาชีพจะต้องกระทำด้วยมาตรฐานสูงสุดเท่านั้น แต่เนื่องด้วยมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา ทำให้รายละเอียดในการประกอบวิชาชีพเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย มาตรฐานสูงสุดของวิชาชีพจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นสาเหตุทำให้ไม่อาจกำหนดมาตรฐานสูงสุดให้ตายตัวได้ ทางออกคือการออกมาตรฐานขั้นต่ำ กำหนดให้การประกอบวิชาชีพทุกครั้งจะต้องดำเนินการตามแบบ ตามแนวทางที่สภาวิชาชีพกำหนดให้ หากมิได้ปฏิบัติตามอาจถือว่าเป็น Malpractice แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของวิชาชีพเป็นตัวปัญหาที่ทำให้การประกอบวิชาชีพเป็นเพียงศาสตร์ (Knowledge) ส่วนของศิลปะ (Art) หายไป เพราะถูกกำหนดให้ปฏิบัติเพียงในกรอบแคบ ๆ อย่างเคร่งครัดเท่านั้น ตัวอย่างนี้เห็นได้จากกรณีของนายแพทย์บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ ซึ่งตัวของหมอเองป่วยด้วยโรคเรื้อรังแบบ Non-Communicate Diseases มากถึง 6 โรค แต่ท่านเองรักษาตัวเองโดยมิได้อิงตามหลักมาตรฐานของเวชปฏิบัติเลย ท่านรักษาตัวท่านเองนอกแนวทางของแพทย์แผนปัจจุบันด้วยการปฏิวัติพฤติกรรมชีวิตของตนเองจนหายขาดจากทั้ง 6 โรค ท่านเองก็ออกตัวไว้ว่า หากเป็นการปฏิบัติต่อคนไข้รายอื่นแล้ว ท่านไม่สามารถทำได้เพราะเป็น Malpractice แน่นอน แต่การกระทำที่รักษาตัวของท่านเองท่านจึงกล้าทำ นี่แสดงว่าหมอบุญชัยใช้ศิลปะมากกว่าศาสตร์ในการประกอบวิชาชีพเพื่อรักษาตัวท่านเอง โดยธรรมชาติแล้ว “ศิลปะ” ย่อมมีความหลากหลายทางเลือกและเป็นเหตุเป็นผล และเป็นปรัชญาในตัวด้วย ส่วน “ศาสตร์” เป็นความรู้อันจำกัด ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญศาสตร์ใหม่ ๆ มักทำลายศาสตร์เก่าเสมอ

พระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ในวิชาชีพด้านสาธารณสุขของไทย พระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนกน่าจะถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของวิชาชีพสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ เพราะทุกวิชาชีพด้านการสาธารณสุขคือการประกอบโรคศิลปะ ดังนิยามของ “โรคศิลปะ” ในพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2497 ที่ว่า โรคศิลปะ หมายความว่า กิจการใด ๆ อันกระทำโดยตรงต่อร่างกายของมนุษย์ในการบำบัดโรคซึ่งรวมตลอดถึงการตรวจโรค และป้องกันโรคในสาขาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ เวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด และเทคนิคการแพทย์ และในพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติ “การประกอบโรคศิลปะ” หมายความว่า การประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ จะเห็นว่ายังคงความหมายของการกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพไว้เหมือนเดิม เพียงแต่ได้ยกเว้นหลายสาขาวิชาชีพออกไป เพราะว่ามีกฎหมายวิชาชีพโดยเฉพาะออกบังคับใช้แล้ว เช่น สาขาเวชกรรม (พ.ศ. 2525); สาขาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (พ.ศ. 2528) เภสัชกรรม และทันตกรรม (พ.ศ. 2537)

พระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ถือว่าเป็นสุภาษิตหรือปรัชญาอันเป็นหลักการสุดยอดของ “ศิลปะ” ด้านการสาธารณสุขไทย ส่วน “ศาสตร์” ด้านการประกอบวิชาชีพนั้น ท่านถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญรองจากศิลปะ ยกตัวอย่างเช่น

ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง; ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง; ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์

ฉันไม่ต้องการจะให้พวกเธอมีความรู้เพียงอย่างเดียว ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นบุคคลที่ถึงพร้อมแล้วด้วย (I don’t want you to be only a doctor, but I also want you to be a man) หมายความว่า ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นทั้งนายแพทย์และเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมและศีลธรรมอันดีด้วย จึงสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้

อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรเป็นอย่างอื่นไม่ใช่แพทย์ อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่นในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ

ตัวอย่างพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ข้างต้นน่าจะเพียงพอสำหรับการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพด้านสาธารณสุขทุกสาขา และเห็นได้ชัดว่าเป็นการนำปรัชญาแห่งวิชาชีพด้านสาธารณสุขคือ “ศิลปะ” เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การก่อเกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ