ภญ.ช้องมาศ นิติศฤงคาริน

นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทยภญ.ช้องมาศ นิติศฤงคาริน แนะเตรียมพร้อมร้านยา ในอนาคตเภสัชกรคือหัวใจสำคัญ

ร้านยาเป็นหน่วยหนึ่งของระบบสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ด้านการกระจายยาเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญเปรียบเสมือนเป็น "ที่พึ่งด้านสุขภาพของชุมชน" เป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนในการใช้บริการเมื่อมีอาการหรือเจ็บป่วยเบื้องต้น แต่ทว่าในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันในยุคของการแข่งขัน การเปิดตลาดการค้าเสรีโดยเฉพาะการที่ประเทศไทยต้องเข้าสู่ AEC รวมถึงการผลักดันในแก้กฎหมายหลาย ๆ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเภสัชกรรมโดยตรงเพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเป็นสากลเป็นสิ่งที่เภสัชกรทุกคนหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ และไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะเภสัชกรเท่านั้น ร้านยาก็ต้องมีการพัฒนาปรับตัวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ร้านยาในอนาคตจะมีรูปแบบหรือการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวอย่างไรนั้น ภญ.ช้องมาศ นิติศฤงคาริน นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เปิดใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ฟังว่า

แนวโน้มร้านยาในอนาคตจะมีกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง เริ่มตั้งแต่เรื่องของกฎหมายใหม่ ๆที่นำมาบังคับใช้ซึ่งขณะนี้มีอยู่หลายฉบับ ยกตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่, ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ..... และกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันที่บังคับเรื่องการมีบุคลากรวิชาชีพรวมถึงวิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรมชุมชน (GPP) รวมถึงเรื่องของ AEC ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะไม่ใช่การรวมกลุ่มแค่เฉพาะประเทศในแถบอาเซียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลกไร้พรมแดนที่กำลังจะเกิดขึ้นและมีความเกี่ยวข้องกับระบบธุรกิจ ทั้ง 3 เรื่องนี้ล้วนเกี่ยวพันกันโดยเฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัจจุบันเรามีร้าน ข.ย.1 ทั่วประเทศประมาณ 12,000 กว่าร้าน เป็นด่านหน้าที่อยู่ในเขตชุมชนซึ่งสามารถช่วยดูแลโรคทั่วไปให้แก่ประชาชนในเบื้องต้น แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ AEC ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เดิมเราจะพบว่ามีร้านยาประมาณ 4,000 กว่าร้าน ใน 12,000 กว่าร้านที่มีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาทำการ เมื่อกฎหมาย GPP ประกาศบังคับใช้ ร้านยาทั้งหมดก็จะต้องจัดหาให้มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านตลอดเวลาทำการ แม้ว่าร้านที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้าจะมีเวลาพัฒนาและจัดหาผู้ประกอบวิชาชีพมาปฏิบัติการภายใน 8 ปี ร้านยาที่ไม่สามารถหาเภสัชกรเข้ามาอยู่ปฏิบัติการได้ตลอดเวลาทำการในอนาคตก็จะต้องเลิกกิจการ รวมถึงการเข้ามาของรูปแบบร้านยา Chain Store และ Franchise ที่มีกลยุทธ์และความสามารถด้านจัดการธุรกิจ เทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทุนจากต่างประเทศและสายพันธ์ุไทยส่งผลต่อการประกอบการร้านยา โดยเฉพาะร้านยารูปแบบเดิมและร้านยาเดี่ยวเจ้าของคนเดียว รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Hub ในเรื่องของระบบสุขภาพ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าความเป็นสากลของการแยกประเภทการประกอบวิชาชีพของเรายังไม่เกิดขึ้น ทำให้แต่ละวิชาชีพยังทำงานซ้ำซ้อนกัน ทำให้ความพยายามในการยกระดับความเป็นสากลในประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผลประโยชน์ที่ทับซ้อน

นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเข้าถึงยาต่าง ๆ ได้ง่าย จึงเป็นที่น่าจับตาของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจร้านยา เพราะสามารถทำกำไรได้ดีกว่าการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยเฉพาะตลาดอาหารเสริมซึ่งส่วนใหญ่จะจำหน่ายที่ร้านยาเนื่องจากทำให้เกิดความรู้สึกว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า ซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะมี Chain Store อยู่ประมาณไม่เกิน 2,000 ร้าน แต่ในอนาคตก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของต่างชาติ และ Local Chain Store

ภญ.ช้องมาศ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนาร้านยาให้สามารถเข้มแข็งต่อไปได้ หัวใจสำคัญของร้านยาจะอยู่ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รวมถึงการทำร้านยาในรูปแบบของสถานประกอบวิชาชีพทางเภสัชกรรม ไม่ใช่ร้านขายของที่ซื้อมาขายไป เนื่องจากสถานประกอบวิชาชีพจะต้องช่วยลดภาระการดูแลประชาชนในเบื้องต้นให้ได้เข้าถึงยาที่สมเหตุสมผล มีการใช้ยาที่เหมาะสมในราคาพอสมควร ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งของร้านยาเดี่ยวเจ้าของคนเดียวที่ขณะนี้มีจำนวนประมาณเกือบหมื่นร้าน นอกจากนี้สิ่งที่ร้านยาเดี่ยวเจ้าของคนเดียวกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบันคือ การไม่สามารถจัดหาให้มีวิชาชีพในหลายสาเหตุ การขาดความสามารถในการประกอบการ ขาดเทคโนโลยี ถ้าสามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ ร้านยาจะเข้มแข็ง เนื่องจากคนไทยมีนิสัยติดผู้ประกอบวิชาชีพ คือเภสัชกร เพราะฉะนั้นเภสัชกรก็จะเป็นหัวใจของร้านยาในการที่จะดูแลประชาชน โดยเฉพาะถ้าเภสัชกรเป็นเจ้าของร้านยาพัฒนาสมรรถนะการประกอบวิชาชีพและสมรรถนะการประกอบธุรกิจ และนำร้านยาเข้าสู่ระบบร้านยาคุณภาพ เพื่อไปเชื่อมต่อกับระบบหลักประกันสุขภาพเป็นหน่วยร่วมบริการการคัดกรองส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบตามโครงการต่าง ๆ ก็จะทำให้ร้านยามีที่ยืนอย่างยั่งยืน และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายการสร้างหน่วยบริการของภาครัฐลงโดยใช้ความพร้อมของภาคเอกชน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ การไม่ยอมรับภาคเอกชนของภาครัฐซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นปัญหาอยู่มาก ทำให้เกิดความขัดข้อง ทั้งนี้ยังมีอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างที่จะต้องมาถอดบทเรียนกันว่ายังขัดข้องติดขัดในเรื่องอะไร นอกจากนี้ประเทศไทยเองก็ยังมีปัญหาในเรื่องของระบบประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขที่การปฏิบัติยังไม่ลงรอยกัน เพราะฉะนั้น ร้านยาจึงจะต้องสร้างความเข้มแข็งในฐานะที่เป็นด่านหน้าในการดูแลสุขภาพของประชาชน เภสัชกรต้องได้รับการพัฒนาและดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเภสัชกรจะต้องมีการพัฒนาตัวเอง ยกระดับร้านยาให้เป็นร้านยาคุณภาพ และก้าวสู่ระบบหลักประกันสุขภาพดูแลผู้ป่วยในชุมชนของตัวเอง อันนี้ก็สามารถจะทำธุรกิจให้เข้มแข็งได้ และขณะเดียวกันร้านยาแต่ละร้านควรมีการรวมตัวกันอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนการบริหาร การจัดการสมัยใหม่โดยใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดอำนาจการต่อรอง สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินการของร้านยาแข็งแรงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเสรีทางการค้า การที่จะห้ามไม่ให้เชนต่างประเทศเข้ามาเปิดในประเทศไทยคงทำไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือควรจะทำอย่างไรที่จะให้เภสัชกรซึ่งเป็นเจ้าของร้านยามีหัวใจของความเป็นเจ้าของ มีหัวใจของการบริการ มีความเข้มแข็งในระบบธุรกิจด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปแทรกกับการให้บริการประชาชนทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้นในด้านสุขภาพในฐานะที่เป็นด่านแรก”

ภญ.ช้องมาศ ยังกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อว่า จากที่กล่าวมาปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC เราพบว่าคนไทยไม่สามารถสื่อสารได้ เนื่องจากเรามีปัญหาด้านภาษา ดังนั้น ร้านยาที่จะต้องดูแลแรงงานต่างชาติ นักท่องเที่ยว ก็จะต้องมีการปรับตัวในเรื่องของการสื่อสารให้มากขึ้น ถ้าเรายังสื่อสารไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเก่งอย่างไรก็คงไปไม่รอด และจะเป็นที่มาของเภสัชกรระดับสอง คือชาวต่างชาติที่เข้ามาเป็นผู้ช่วย เป็นพนักงานร้านยา เพราะพวกนี้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นเภสัชกรได้ แต่ว่าเป็นแรงงานที่เข้ามาแอบแฝง อันนี้ก็จะเป็นปัญหาอีกเช่นกัน

ภญ.ช้องมาศ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมว่า ปัจจุบันนี้สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) พยายามเป็นผู้ประสานงานในการที่จะเร่งพัฒนาร้านยาให้เข้าสู่ระบบร้านยาคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาเป็นหน่วยร่วมบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนต่าง ๆ เพื่อว่าถ้าร้านยาสามารถลดภาระความแออัดของโรงพยาบาล, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสถานบริการต่าง ๆ ของรัฐ ทำให้ระบบมีคุณภาพดีขึ้น ก็จะสามารถช่วยให้ระบบของประเทศดีขึ้น และขณะเดียวกันก็จะทำให้ธุรกิจของร้านยาเข้มแข็ง ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เราพยายามที่จะพัฒนาเภสัชกรให้ต่อเติมเรื่องความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ตลอดจนยกระดับร้านยาแต่ละร้านให้ขึ้นเป็นร้านยาคุณภาพ สนับสนุนให้ความรู้ต่าง ๆ และพยายามประสานเชื่อมต่อให้ร้านยาแต่ละร้านสามารถสานกันเป็นโครงข่ายเพื่อลดภาระทางด้านธุรกิจทำให้กระบวนการของการบริหารเป็นมืออาชีพมากขึ้น

สำหรับความตื่นตัวของเภสัชกรร้านยาต่อเรื่องนี้ ภญ.ช้องมาศ กล่าวว่า ขณะนี้มองได้ 2 แบบ แบบแรกคือ ร้านยาซึ่งเจ้าของไม่ได้เป็นเภสัชกรกลุ่มนี้จะมีความตื่นตัวค่อนข้างสูง เนื่องจากมีปัญหาในการหาเภสัชกรมาประจำร้านยา อันเนื่องมาจากระบบการทำธุรกิจแบบครอบครัวแบบเดิมไม่สามารถดึงเภสัชกรให้ทำงานอยู่กับเขาอย่างทุ่มเทต่อเนื่องสม่ำเสมอเพราะขาดความก้าวหน้า ขณะที่แบบที่สองคือ ร้านยาที่มีเภสัชกรเป็นเจ้าของซึ่งถ้าเขาจะปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ก็จะต้องอาศัย 2 ส่วนคือ การประกอบวิชาชีพที่ต้องมีจรรยาบรรณและความเป็นมืออาชีพในการประกอบธุรกิจ จึงทำให้เภสัชกรเกิดความกังวล หรือขาดความเป็นมืออาชีพในการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงความกังวลในเรื่องของ Chain Store เรื่องของกลยุทธ์ราคาจนเป็นเหตุให้คุณภาพด้อยลง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัญหาที่ต้องตระหนักในอนาคตอันใกล้ และเป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไขโดยให้เภสัชกรมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นในการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม

สุดท้ายนี้ ภญ.ช้องมาศ ได้ให้คำแนะนำว่า ในยุคของการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน เรื่องของคุณภาพในเรื่องการบริการด้านยาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เภสัชกรจะต้องลุกขึ้นมาพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองและให้บริการที่มีคุณภาพ เพราะว่าการพัฒนาเพื่อคุณภาพเป็นสิ่งสากลที่เป็นที่ยืนยันได้ และสุดท้ายจะมีคนเรียกหาเพราะผู้รับบริการมีความรู้ มีความฉลาดขึ้น และต้องการสิ่งที่มีคุณภาพ ดังนั้น ถ้าร้านยาอยากจะอยู่รอดในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเข้าสู่ระบบคุณภาพ พัฒนาคุณภาพของตัวเองให้ได้เป็นที่ประจักษ์ก็จะทำให้ธุรกิจไปได้