ภญ.ท่านผู้หญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา

ภญ.ท่านผู้หญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศคนแรก ของมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดตั้งรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ในปี พ.ศ. 2558 เป็นปีแรก เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้มีผลงานด้านงานวิเคราะห์ งานวิจัย และงานมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก และอุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์อันเป็นที่ประจักษ์ มีการสรรหารายชื่อโดยไม่จํากัดหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน จากการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี พ.. 2558 เป็นคนแรกคือ ภญ.ท่านผู้หญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการจัดทำสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ยาขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าสารมาตรฐานราคาแพงจากต่างประเทศ โดยสารมาตรฐานนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมคุณภาพยาที่ใช้ในประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ

ภญ.ท่านผู้หญิงปรียา จบการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และจบการศึกษาปริญญาโททางเภสัชกรรมศาสตร์จาก Philadelphia College of Pharmacy and Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ท่านยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ถึง 2 ฉบับ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยชีวิตรับราชการ ท่านเริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์โท แผนกตรวจทางเภสัชวิทยา กองวิเคราะห์ยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากการทำงานที่มุ่งมั่น ทุ่มเท จริงจัง และใส่ใจ ส่งผลให้ท่านได้เลื่อนตำแหน่งเรื่อยมาจนกระทั่งได้เป็นผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ยา และได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญอีกหลายตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2535

สำหรับการทำงาน ท่านเป็นนักวิเคราะห์ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ศึกษาหาความรู้จนมีประสบการณ์มากมาย ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนเมื่อท่านได้มาเป็นผู้บริหาร ท่านได้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้นำที่ต้องการพัฒนาคน พัฒนางานอย่างแท้จริง โดยท่านได้เจรจาเพื่อหาตำแหน่งงานให้เจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้บรรจุและเรียนต่อหลายตำแหน่ง อีกทั้งยังช่วยหาแหล่งทุนเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีโอกาสไปเรียนรู้ในการดูงานในต่างประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวอยู่เป็นนิตย์ ท่านได้ริเริ่มโครงการที่มีประโยชน์และคุณค่ามากมายจวบจนปัจจุบัน โดยมีผลงานที่สำคัญ ได้แก่

1. โครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียนด้านยา (ดำเนินการตั้งแต่ พ.. 2523 – ปัจจุบัน)

สารมาตรฐานเป็นสารที่มีความบริสุทธิ์สูง จำเป็นต้องใช้ในห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยา สารมาตรฐานมีราคาแพง ต้องจัดหาและซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป โดยเมื่อองค์การอนามัยโลก ร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ได้จัดตั้งโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนด้านเภสัชกรรม ท่านได้ผลักดันให้เกิดโครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสมาชิกร่วมกันผลิตสารมาตรฐานด้านยาขึ้นใช้ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อสารมาตรฐานของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ท่านยังสามารถโน้มน้าวให้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบประสานงานโครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียน และเป็นศูนย์ฝึกอบรมการผลิตสารมาตรฐานอาเซียนด้วย ในช่วงแรกมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยในปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้เข้าร่วมในโครงการนี้ทั้งหมด โดยตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันมีการผลิตสารมาตรฐานอาเซียนจำนวนทั้งสิ้น 215 ชนิด และวัสดุอ้างอิงอาเซียน 1 ชนิด ปัจจุบันนี้ศูนย์สารมาตรฐานยาและวัตถุเสพติด สำนักยาและวัตถุเสพติดได้นำเอาเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการผลิตสารมาตรฐานอาเซียนมาผลิตสารมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และจำหน่ายให้แก่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ รวมทั้งห้องปฏิบัติการของโรงงานผลิตยา ซึ่งเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้มีสารมาตรฐานที่มีคุณภาพแต่ราคาถูกใช้เมื่อเทียบกับการสั่งซื้อสารมาตรฐานจากต่างประเทศ โครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียนและสารมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นี้ได้ช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนได้ปีละเป็นจำนวนกว่า 10 ล้านบาท

2. โครงการจัดทำตำรายาของประเทศไทย

ท่านเป็นผู้ริเริ่มการจัดทำตำรายาของประเทศไทย เพื่อเป็นมาตรฐานในการตัดสินคุณภาพยาที่จำหน่ายในประเทศให้เป็นรูปแบบได้สำเร็จ ท่านได้ปรับโครงสร้างของกองยาให้มีฝ่ายจัดทำตำรายาของประเทศไทยที่มีหน้าที่รับผิดชอบทุกขั้นตอนในการจัดทำตำรายาของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของยาที่จำหน่ายในประเทศ โดยปรับปรุงวิธีวิเคราะห์ และวิธีทดสอบให้สอดคล้องกับสภาวะในประเทศ

นอกจากนี้ยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทยเพื่อให้จัดทำตำรามาตรฐานในการควบคุมคุณภาพสมุนไพรในประเทศและส่งเสริมธุรกิจการส่งออกสมุนไพรไทย โดยตำรายา TP และ THP มีการเผยแพร่ทั่วไปทั้งหน่วยงานราชการและโรงงานอุตสาหกรรมยาของทั้งภาครัฐและเอกชน และเป็นตำรายาของประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศรับรองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน

ในส่วนผลงานด้านบริหาร ท่านได้มีส่วนร่วมในการของบประมาณจากสำนักงบประมาณในการอนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคาร 10 ชั้นที่ยศเส เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานใหม่ของกองวิเคราะห์อาหาร กองวิเคราะห์อาหารส่งออก กองวิเคราะห์ยา กองพิษวิทยา และกองกีฏวิทยาทางการแพทย์ นอกจากนี้ท่านยังมีความคิดริเริ่มในการขยายงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ภูมิภาคเพื่อรองรับนโยบายการควบคุมคุณภาพยา อีกทั้งเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและยา รวมทั้งงานด้านชันสูตรสาธารณสุขที่มีอยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว โดยเริ่มที่ 6 จังหวัดคือ นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา พิษณุโลก ขอนแก่น และชลบุรี สำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งแรกที่เริ่มดำเนินการคือ จังหวัดนครราชสีมา ส่วนเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ที่ดินเพื่อการก่อสร้างอาคารปฏิบัติงานเป็นเอกเทศโดยไม่ต้องอาศัยเนื้อที่ของโรงพยาบาล ในระยะต่อมาศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ต่าง ๆ มีการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ สามารถดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคได้อย่างเต็มภาคภูมิ ปัจจุบันมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ถึง 15 แห่งเพื่อดูแลประชาชนในส่วนภูมิภาค

ภญ.ท่านผู้หญิงปรียา ได้มีส่วนร่วมในโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขแห่งชาติที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลือนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมอบค่าก่อสร้างอาคารและครุภัณฑ์ โดยเป็นลักษณะให้เปล่า นอกจากนี้ยังมีความช่วยเหลือด้านวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องของการฝึกอบรม ดูงาน และจัดหาผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้งานวิจัยบรรลุวัตถุประสงค์ ขอบเขตของความช่วยเหลือจะเน้นงานวิจัยโรคติดเชื้อ และวิจัยวัคซีนเท่านั้น ต่อมาท่านได้เจรจาต่อรองจนกระทั่งฝ่ายญี่ปุ่นให้เพิ่มงานวิจัยทางด้านคุ้มครองผู้บริโภคและงานวิจัยสมุนไพรไว้ในโครงการ รวมทั้งการจัดสรรเนื้อที่การปฏิบัติงานไว้ในอาคารสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขแห่งชาติด้วย

นอกจากนี้ ภญ.ท่านผู้หญิงปรียา ยังมีส่วนร่วมในโครงการย้ายกระทรวงสาธารณสุขจากเทเวศร์ไปยังจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากสถานที่ที่วังเทวะเวสม์ซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุขคับแคบมาก ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่ออนุมัติงบประมาณแก่กระทรวงสาธารณสุขเพียงพอในการสร้างอาคารแห่งใหม่ที่จังหวัดนนทบุรีได้เป็นผลสำเร็จ

ภายหลังเกษียณอายุราชการ ท่านยังได้อุทิศตนช่วยเหลืองานต่าง ๆ ทั้งในงานสาธารณสุขและอื่น ๆ เพื่อความอยู่ดีกินดี และมีสุขภาพดีของประชาชนทั่วประเทศ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวมี 80 แห่งทั่วประเทศ ท่านต้องออกตรวจเยี่ยมสถานีอนามัยเหล่านี้ โดยเดินทางไปตรวจเยี่ยมปีละ 40 แห่งเป็นประจำทุกปี เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาของสถานีอนามัย ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม การจัดการเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนในท้องถิ่น ในการตรวจเยี่ยมจะออกเยี่ยมเยียนถึงบ้านโดยมีวัตถุประสงค์คือ ติดตามดูแลสุขภาพ ป้องกันโรค การดูแลผู้สูงอายุ คนไข้ติดยาเสพติด และเด็กอ่อน โดยท่านได้ปฏิบัติภารกิจนี้มาเป็นเวลา 22 ปี นับตั้งแต่เกษียณอายุราชการ

การที่ ภญ.ท่านผู้หญิงปรียา สามารถเจรจาต่อรองในกิจกรรมต่าง ๆ จนเป็นผลสำเร็จได้นั้น เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริงในการทำงาน มีความมุ่งมั่นและไม่คิดท้อถอย อีกประการหนึ่งลักษณะและแนวทางการทำงานของท่านเป็นที่รู้จักของผู้ใหญ่ในระดับผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน จึงทำให้ท่านสามารถเจรจาต่อรองในกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ยังประโยชน์แก่ผู้ทำงานรุ่นหลังสืบไป