มาตรฐานที่แปรเปลี่ยน บนความยุติธรรมที่แน่นอน

มาตรฐานที่แปรเปลี่ยน... บนความยุติธรรมที่แน่นอน

การบรรทุกน้ำหนักเกินของบรรดารถบรรทุกขนส่งทั้งหลายเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดถนนหลวงชำรุดเสียหายเป็นอย่างมากตลอดมา ซ้ำรถบรรทุกเกินน้ำหนักยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เป็นภัยต่อผู้ร่วมใช้ถนนด้วยกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาของศาลฎีกาในเรื่องของรถบรรทุกฝ่าฝืนกฎหมายทางหลวง โดยกระทำผิดบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนดเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้แก่ถนนหลวงมากมาย อีกทั้งยังเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เป็นการทำลายเศรษฐกิจของชาติในด้านงบประมาณซ่อมถนน และเป็นภัยต่อประชาชนผู้ใช้ถนนโดยทั่วไป มีการฟ้องร้องดำเนินคดีมากมาย ในบรรดาคำพิพากษาเหล่านั้น มีคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจที่จะขอยกเป็นตัวอย่างอุทาหรณ์ถึงความพิสดารของคำพิพากษา และน่าจะเป็นแนวคิดถึงหลักการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ

กรณีที่ ๑ ศาลมีคำพิพากษาเห็นใจผู้กระทำผิด โดยพิพากษาให้รอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2539 แม้การบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงแผ่นดินและรัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซม แต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นเพราะเจ้าพนักงานของรัฐผู้มีหน้าที่ดูแลควบคุมให้ผู้ขับรถยนต์บรรทุกปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด และยังมีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากผู้ขับรถยนต์บรรทุกด้วย ถ้าเจ้าพนักงานดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดทุกรายโดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างโดยไม่มีละเว้น เชื่อว่าไม่น่าจะมีผู้ใดกล้ากระทำผิด แม้ศาลจะรอการลงโทษให้ เพราะต้องหาเงินมาเสียค่าปรับ ต้องเสียเวลาและขาดรายได้จากการประกอบอาชีพย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนได้ การรอการลงโทษจำคุกจึงไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด ทั้งการที่ศาลลงโทษในสถานหนักและไม่รอการลงโทษให้ไม่อาจขจัดอิทธิพลของนายทุนและขจัดการส่งส่วยน้อยลงได้ แต่อาจเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่จะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบใช้คำพิพากษาของศาลเป็นเครื่องมือในการข่มขู่เรียกผลประโยชน์จากผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น เพราะเกรงกลัวที่จะถูกศาลลงโทษจำคุก การที่ศาลรอการลงโทษให้จึงชอบแล้ว

กรณีที่ ๒ ศาลกลับคำพิพากษาของฎีกาลักษณะเดิม โดยพิพากษาเด็ดขาด ไม่รอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2545 การบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากำหนดถึง 20 ตัน โดยไม่นำพาว่าจะก่อความเสียหายแก่ทางหลวงและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เป็นพฤติกรรมร้ายแรง ข้ออ้างที่ว่าหากไม่ทำจะถูกนายจ้างไล่ออก ครอบครัวจะเดือดร้อนลำบากนั้น บุคคลทั่วไปในสถานะเดียวกับจำเลยก็มีภาระไม่แตกต่างกัน ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่พอฟังเพื่อรอการลงโทษ แต่อาจให้กักขังแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6469-6470/2543 ทั้งสองคดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาไม่รอการลงโทษ โดยพิจารณาเห็นว่าเป็นการกระทำที่จงใจบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นจำนวนมาก เป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงกฎหมาย ไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อประเทศชาติและประโยชน์ส่วนรวม จึงไม่สมควรรอการลงโทษ

จะเห็นได้ว่า คำพิพากษาของปี พ.ศ. 2539 ที่รอการลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยเหตุผลที่ว่า เหตุแห่งการเกิดความผิดนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐไม่เข้มงวดกวดขัน กลับรับสินบาทคาดสินบน หาผลประโยชน์อันมิชอบเอาจากผู้กระทำผิดเสียเอง การลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นหนักนอกจากสร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างชั้นผู้น้อยที่เป็นคนขับรถแล้ว ยังไม่สามารถกำจัดอิทธิพลของนายทุนและปัญหาการส่งส่วยลงได้ ศาลจึงเห็นใจผู้กระทำผิด (คนขับรถ) โดยพิพากษาให้รอการลงโทษ แต่ต่อมาอีกเพียง 4-5 ปี ปัญหาที่รถบรรทุกบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างมากยังเป็นปัญหาของประเทศชาติมาโดยตลอด จึงเกิดคำพิพากษาของศาลฎีกาปรากฏในปี พ.ศ. 2543 และ 2545 โดยเห็นว่า การอ้างว่าจะถูกนายจ้างไล่ออก ครอบครัวจะเดือดร้อนลำบากนั้น เป็นเรื่องส่วนตัวที่เกิดกับทุกคนที่กระทำผิด ซ้ำร้ายคือเป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ศาลจึงเห็นว่าควรลงโทษสถานหนักและไม่รอการลงโทษ

คำพิพากษาของศาลทั้งสองลักษณะนี้มีความถูกต้องทั้งคู่ เป็นไปตามลักษณะของข้อเท็จจริงแห่งคดีและนโยบายของการสร้างสุขให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ ศาลมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ปัญหาของการบรรทุกน้ำหนักเกินมีสาเหตุใหญ่เกิดจากอะไร และสถานะของลูกจ้างคนขับรถเป็นอย่างไร ศาลจึงได้ใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อบรรเทาปัญหาของชาติให้น้อยลง แต่อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กฎหมายไม่ใช่ยาวิเศษ ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลจะออกมาในลักษณะใด ปัญหาเรื่องการบรรทุกน้ำหนักเกินในทุกวันนี้ก็มิได้ลดน้อยถอยลงเลยแต่ประการใด กฎหมายเป็นเรื่องของนิติศาสตร์ ที่เป็นเพียงกรอบกติกาที่ตั้งไว้ให้คนในสังคมปฏิบัติ ส่วนการแก้ไขปัญหาสังคมและประเทศชาติน่าจะมีมาตรการทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ อีกเข้ามาร่วมกันแก้ไขจึงจะสัมฤทธิ์ผล

คดีเกี่ยวกับจะรอการลงโทษหรือไม่ มีคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ ขอยกเป็นตัวอย่างดังนี้

การมีพระราชบัญญัติล้างมลทินออกใช้บังคับ เมื่อจำเลยพ้นโทษไปแล้วเป็นผู้ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน (ฎีกาที่ 1812/2527) แต่การที่จำเลยเคยกระทำความผิดอาญามาก่อน แม้ตามพระราชบัญญัติล้างมลทิน พ.ศ. 2539 จะถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้น แต่การที่จำเลยกลับมากระทำความผิดอาญาซ้ำอีก แสดงว่าไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและไม่เข็ดหลาบ จึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลย (ฎีกาที่ 2008/2541)

ขายสารระเหยให้ผู้มีอายุไม่เกิน 17 ปี ซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ; ขายเมทแอมเฟตามีนในหมู่นักศึกษา; ปลอมปนน้ำมัน ศาลเคยรอการลงโทษมาแล้วแต่ไม่สำนึก การกระทำผิดในกรณีต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนเป็นการกระทำผิดร้ายแรงที่ศาลเห็นว่าไม่สมควรได้รับการรอการลงโทษ (ฎีกาที่ 9041/2543; 4541/2543; 7692/2543 ตามลำดับ)

การที่ศาลจะเห็นสมควรว่า ศาลจะพิพากษาให้จำเลยมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ แล้วปล่อยตัวไป เป็นการบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดให้เหมาะสมแก่สภาพของผู้กระทำความผิดในแง่อัตวิสัย ไม่ใช่บทบังคับให้ศาลต้องรอการลงโทษจำคุกแก่ผู้กระทำผิดตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เสมอไป (ฎีกาที่ 7586/2547) เงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น การให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ให้ทำงานบริการสังคม เป็นเพียงวิธีการกำหนดเงื่อนไขประกอบการใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น ยังไม่ใช่การลงโทษตามกฎหมาย แม้จำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ถือว่าจำเลยได้รับโทษตามคำพิพากษา (ฎีกาที่ 8635/2549)

อีกกรณีที่เป็นข้อสอบของเนติบัณฑิตยสภา มีว่า “การที่แพทย์ต้องผ่าตัดคนไข้เพื่อช่วยชีวิตคนไข้ ในขณะที่คนไข้ไม่รู้สึกตัว การกระทำของแพทย์มีความผิดหรือไม่ อย่างไร” คำเฉลยคือ การกระทำของแพทย์มีความผิด แต่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ซึ่งกฎหมายยกเว้นโทษให้

รอการลงโทษเภสัชกรชุมชนในร้านยา

ในวิชาชีพเภสัชกรรมของเรา ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้รอการลงโทษเภสัชกรผู้ปฏิบัติหน้าที่เช่นกันคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6405/2549 ความว่า จำเลยซึ่งเป็นเภสัชกรประจำร้านขายยาแผนปัจจุบันได้ขายยาเฟนเทอร์มีน ซึ่งเป็นยาวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ให้แก่ผู้ล่อซื้อจำนวน 10 เม็ด ในราคา 300 บาท จึงเป็นการกระทำผิดฐานขายยาวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 200,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เชื่อว่าจำเลยคงได้สำนึกและไม่หวนไปกระทำความผิดในทำนองนี้อีก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยให้รอการลงโทษไว้ก่อน (คดีนี้ จำเลยกระทำผิดฐานอื่นด้วย ความผิดกระทงอื่นเบากว่าโทษในกระทงนี้ และได้รับการรอการลงโทษด้วยเช่นกัน)

อีกคดีหนึ่งคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2548 จำเลยซึ่งเป็นเภสัชกรผู้ปฏิบัติงานในร้านยาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ได้มียาไนตราโซแลม ซึ่งเป็นยาวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้ในครอบครองและได้ขายยาดังกล่าวแก่ผู้ล่อซื้อ โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลต้นลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษลงหนึ่งในสามเป็น 3 ปี 9 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า วัตถุออกฤทธิ์ของกลางมีจำนวนไม่มาก ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงประวัติ ความประพฤติ ตลอดจนสภาพความผิดประกอบกันแล้ว กรณีมีเหตุสมควรปรานีแก่จำเลย เพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี และประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนเองและบุคคลในครอบครัวได้ต่อไป จึงแก้เป็นให้ลงโทษปรับจำเลย 100,000 บาทอีกสถานหนึ่ง และเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกสมควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี

ดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่ศาลเห็นสมควรบรรเทาโทษและพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ก่อนตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจเพื่อความยุติธรรมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีคดีของเภสัชกรประจำร้านยาหลายคดีที่ศาลท่านเห็นว่าเภสัชกรเป็นผู้มีความรู้ได้รับการศึกษามาอย่างดี แต่ยังจงใจขายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมีคำพิพากษาให้จำคุกโดยไม่รอการลงโทษ ซึ่งทั้งนี้ก็มีเหตุผลทั้งสิ้นแล้วแต่ดุลพินิจและรูปคดี ซึ่งเรื่องราวในลักษณะนี้จะเห็นภาพได้ชัดขึ้นจากเรื่องเล่าของประเทศเม็กซิโกที่ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน และเกิดมีคดีลักจักรยานของชาวบ้านกันบ่อยมาก มีผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ท่านเข้าใจและเห็นใจคนจน ทุกคดีที่ท่านพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านจะลงโทษจำเลยสถานเบาเสมอมา ต่อมาวันหนึ่งจักรยานในบ้านพักของท่านถูกคนลักไป และตำรวจก็ไม่สามารถจับคนลักได้ ความเห็นใจชาวบ้านของท่านเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่วันนั้นมาคดีลักจักรยานทุกคดี ท่านจะพิพากษาลงโทษตามกฎหมายโดยไม่บรรเทาโทษให้ใด ๆ

กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติคงแท้แน่นอน แต่วิธีการนั้นแปรเปลี่ยนตลอดเวลา

ดังเห็นจากความพิสดารของคำพิพากษาที่มีความแตกต่างกันมาก อาจทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของความยุติธรรมเท่านั้น ทั้งนี้การกระทำลักษณะเดียวกัน แต่ต่างเวลา ต่างรูปแบบ ประกอบกับนโยบายของรัฐ และดุลพินิจของศาลที่เห็นต่างกัน ย่อมเป็นสาเหตุทำให้บังคับใช้กฎหมายหนักเบาต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่าย ทุกคำพิพากษาเห็นตรงกันคือ ผู้กระทำผิดทุกรายมีความผิดตามกฎหมาย เพียงแต่โทษที่ได้รับนั้นหนักเบาไม่เท่ากัน เพราะมีรูปคดีที่ต่างกัน ในช่วงเวลาที่ต่างกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสมัยเรียน เวลาจะชั่งสารหรือตัวยาในการเตรียมยา (Prescriptions) สมัยเมื่อ พ.ศ. 2510 ในห้องเรียนใช้ตาชั่งสองจาน ต้องทำความสะอาดจานทั้งสองข้างให้สะอาดเสียก่อน วางบนเครื่องชั่งแล้วยังต้องปรับให้จานเปล่าทั้งสองข้างเท่ากัน (Calibration) แล้วใส่ตุ้มน้ำหนักด้านหนึ่ง ใส่สารที่จะชั่งอีกด้านหนึ่งโดยใช้ช้อนตักค่อย ๆ เคาะลงไป จนได้น้ำหนักตามต้องการโดยสังเกตจากเข็มเครื่องชั่งที่ชี้ไปยังจุดตรงกลางพอดี นี่คือวิธีการชั่งเพื่อให้น้ำหนักของสารที่ต้องการในสมัยเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่สมัยนี้ทุกอย่างเป็นระบบดิจิตอล กระบวนการวิธีการชั่งสารง่ายกว่าเดิมมาก เครื่องชั่งมีเป็นจานเดียว น้ำหนักที่ต้องการชั่งก็ตั้งไว้ก่อนได้ ถึงจุดที่ต้องการเครื่องก็ส่งเสียงเตือนให้ แสดงว่ากระบวนการชั่งน้ำหนักได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือ “น้ำหนัก” ของสารที่เราประสงค์จะชั่ง จะต้องเป็นน้ำหนักที่เราต้องการเท่านั้น ไม่อาจผิดเพี้ยนไปได้ ไม่ว่าจะเมื่อ 50 ปีที่แล้วหรือในปัจจุบัน เพราะหากน้ำหนักตัวยาในตำรับที่ชั่งผิดเพี้ยนไป มันหมายถึงผลต่อสุขภาพ และอาจเป็นโทษต่อประชาชนผู้ใช้ยาได้

 

เข้าใจไตรลักษณ์ เข้าใจยุติธรรม

ถ้าเรายอมรับว่าเราอยู่ในวิถีแห่งธรรมชาติ เราน่าจะเข้าใจถึงไตรลักษณ์ได้โดยง่าย อันเป็นกฎสำคัญแห่งธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะ 3 อย่าง คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง, ทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้ และอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มันจึงมิอาจเที่ยงแท้ถาวร มันย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลา แต่บนการเปลี่ยนแปลงนี้ ความยุติธรรมก็ยังเป็นธรรมชาติที่ต้องคงอยู่คู่ตลอดไป ดุจหนึ่งพระอาทิตย์ ไม่ว่าจะมีฤดูผันแปรเปลี่ยนผ่านตลอดเวลา ทำให้เกิดฤดูร้อน หนาว หรือฝน ตัวพระอาทิตย์เองก็ยังคงเที่ยงตรงแน่แท้ที่ดำรงตนขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางด้านทิศตะวันตก

ฤดูต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่พระอาทิตย์หาได้เปลี่ยนแปลงไปไม่....

หรือแม้แต่พระจันทร์ก็เช่นกัน พระจันทร์เสี้ยวจะค่อย ๆ เต็มดวง เมื่อเต็มดวงแล้ว พระจันทร์ก็จะเริ่มแหว่งเป็นพระจันทร์เสี้ยวอีกแล้วกลายเป็นเดือนมืด จากเดือนที่มืดสุด พระจันทร์ก็จะเริ่มปรากฏแสงแล้วเป็นเสี้ยวเล็ก ๆอีก จนกระทั่งเป็นพระจันทร์เต็มดวงอีก เป็นนิรันดร์ตราบเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น พระจันทร์ที่สวยงามที่สุดคือพระจันทร์ก่อนเดือนเพ็ญ เพราะเมื่อถึงวันเพ็ญแล้ว พระจันทร์ก็จะเริ่มแหว่งอีกแล้ว

ความยุติธรรมเปรียบได้ดังกับพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ที่มั่นคงสถิตอยู่คู่กับโลกใบนี้ แต่โลกใบนี้นี่เองที่หมุนรอบตัวเองและหมุนรอบพระอาทิตย์ตลอดเวลา ทำให้เกิดฤดูกาล ทำให้เกิดข้างขึ้นข้างแรม ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง ปรากฏการณ์แห่งวิถีธรรมชาตินี่เองคือ “ธรรมชาติของความยุติธรรม”