โรคลิชมาเนีย โรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย

โรคลิชมาเนีย โรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย

จากการเกิดกระแสข่าวที่พบการแพร่ระบาดของโรคลิชมาเนียในประเทศไทย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยพร้อมเตือนให้ทุกคนระวัง และรู้ถึงวิธีการป้องกันจากโรคนี้ เนื่องจากโรคนี้เคยพบแต่ในเฉพาะผู้ป่วยที่เดินทางไปแถบตะวันออกกลาง แต่เชื้อก่อโรคที่พบในประเทศไทยนั้นมีสารพันธุกรรมแตกต่างจากเชื้อลิชมาเนียที่มีรายงานในประเทศอื่น จึงทำให้เชื่อว่าโรคลิชมาเนียที่พบในประเทศไทยนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ไทย และถูกจัดให้เป็นโรคอุบัติใหม่ที่สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงคนที่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อนด้วย

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลิชมาเนียเกิดจากการกัดของริ้นฝอยทราย (Sand fly) เพศเมียที่มีเชื้อลิชมาเนีย ทั้งนี้เชื้อก่อโรคลิชมาเนียเป็นโปรโตซัวในตระกูล ลิชมาเนีย (Leishmania) ก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์อีกหลายชนิด เช่น หนู สุนัข แมว ม้า วัว กระรอก และกระแต เป็นต้น ซึ่งลิชมาเนียมีมากกว่า 20 ชนิดที่สามารถทำให้เกิดโรคในคนได้ ทั้งนี้ถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย เนื่องจากมีสารพันธุกรรมแตกต่างจากเชื้อลิชมาเนียในประเทศอื่นที่มีรายงานมาก่อน ทำให้เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ไทย ซึ่งให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leishmania siamensis โดยอาการแสดงของโรคลิชมาเนียสายพันธุ์ใหม่นี้มีทั้งอาการที่แสดงออกทางอวัยวะภายใน (Visceral leishmaniasis), แสดงอาการทางผิวหนัง (Cutaneous leishmaniasis) และแสดงอาการทั้งอวัยวะภายในร่วมกับอาการทางผิวหนัง เช่น มีไข้เรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ท้องอืด ตับม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังคล้ำและเกิดรอยโรคที่ผิวหนัง จากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีเชื้อลิชมาเนีย 2 ชนิด ระบาดในประเทศไทย คือ ลิชมาเนียสายพันธุ์ไทย (L. siamensis) และลิชมาเนียที่พบในผู้ป่วยในเกาะมาร์ตินีก (Martinique Island) ซึ่งมีชื่อว่า L. martiniquensis และยังมีรายงานว่า พบการติดเชื้อในวัวและม้าในประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยแสดงอาการที่ผิวหนังในสัตว์ด้วย

นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาโรคลิชมาเนียมีการระบาดในประเทศต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 74 ประเทศ เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลาง เมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา อเมริกากลาง และตอนเหนือของอเมริกาใต้ สำหรับในประเทศไทยนั้น เคยมีรายงานพบโรคนี้ 2 ช่วงคือ ในปี พ.ศ. 2503-2529 และช่วงที่ 2 คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบโรคนี้ในคนที่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อนและผู้ป่วยมีทั้งคนที่มีระดับภูมิคุ้มกันปกติและภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ พบทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ รวมทั้งชาวพม่าที่เข้ามารักษาตัวในประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ในกลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรค หรือกลุ่มคนไทยที่มีประวัติไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลางและคนไทยมุสลิมที่ไปร่วมพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยพบการระบาดครั้งล่าสุดที่จังหวัดตรังเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมีผู้ป่วยเพศหญิงเสียชีวิตด้วยโรคลิชมาเนียที่เกิดจากตัวริ้นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ริ้นฝอยทราย ด้วยการกัดและนำเชื้อโปรโตซัวที่เรียกว่าลิชมาเนียเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้แผลเปื่อยและเกิดโรคแทรกซ้อนในอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ม้าม และกระดูกไขสันหลัง ซึ่งโรคดังกล่าวทางองค์การอนามัยโลกกําหนดให้เป็น 1 ใน 6 ของโรคที่เป็นโรคติดเชื้อที่อุบัติใหม่ทางวงการแพทย์ในแถบของโรคเขตร้อนที่ต้องเร่งกวาดล้างให้หมดไปโดยเร็ว โดยในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ณ ประเทศบังกลาเทศ ยังได้มีการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการใน 5 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล และไทย เพื่อขจัดโรคและลดจำนวนผู้ป่วยระดับอำเภอ ตำบลให้น้อยกว่า 1 คนต่อประชากร 10,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะชนิดที่ทำให้ติดเชื้อที่อวัยวะภายในจะทำให้อัตราป่วยเพิ่มขึ้น 100% ภายใน 2 ปี และอาจทำให้เสียชีวิตได้ มักเป็นโรคของคนในชนบท เนื่องจากเชื้อมักจะพบในผู้ที่อยู่ในบ้านใกล้กับป่าหรือทำงานในป่า อาการโรคเบื้องต้นคือ จะมีผื่นนูนเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง และกลายเป็นแผล หายช้า มีไข้เรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ซีด ท้องอืด ตับ ม้ามโต และน้ำหนักลด การรักษาโรคลิชมาเนียในปัจจุบันจะใช้ยาฉีด 2 ชนิดคือ ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลา 14 วัน และชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน การรักษาได้ผลดีและหายขาด

“สำหรับการป้องกันนั้น 1. ควรสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดขณะเข้าไปทำงานหรือพักค้างคืนในพื้นที่ที่คาดว่ามีริ้นฝอยทรายอาศัยอยู่ 2. ทายากันยุงในบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณขาและแขน 3. นอนกางมุ้งที่ชุบด้วยสารกำจัดแมลง 4. ฉีดพ่นสเปรย์กำจัดยุงและแมลงภายในบ้าน 5. ปรับปรุงดูแลบริเวณบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และทำให้ปลอดจากสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ 6. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ในบริเวณที่พักอาศัยและให้สารกำจัดแมลงบนตัวสัตว์ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์” นพ.อภิชัย กล่าว