รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์

รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์

พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ ผลงานวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชศาสตร์ ประจำปี 2557

ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น อัตราส่วนของคนสูงอายุกับคนหนุ่มสาวก็เพิ่มขึ้น โรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและความทรงจำเป็นสาเหตุให้คุณภาพชีวิตของประชากรสูงอายุน้อยลง ยาหรือสมุนไพรที่จะสามารถนำมาป้องกัน รักษา หรือบรรเทาอาการโรคที่เกิดจากการเสื่อมนี้จึงมีความสำคัญทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการนำพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในประเทศไทยมาทำการศึกษาพัฒนาวิจัยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ลดการนำเข้าสมุนไพรหรือสินค้าจากต่างประเทศ

พรมมิ (Bacopa monnieri Wettst วงศ์ Scrophulariaceae) เป็นพืชสมุนไพรที่พบในประเทศไทยและประเทศแถบเอเชีย เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ขึ้นในที่น้ำชุ่มหรือริมตลิ่ง มีดอกสีขาวหรือม่วงอ่อน มีบันทึกในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียเมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน มีสรรพคุณเด่นในด้านการบำรุงสมอง เพิ่มความจำ เพิ่มความสงบ ทำให้อ่อนวัย จึงมีการใช้ในตำรับยาไทยหลายตำรับ รวมถึงเป็นยาในตำรับอายุวัฒนะ นอกจากนี้ยังมีการรับประทานเป็นผักพื้นบ้านจากการที่พรมมิมีขึ้นทั่วไปในประเทศไทย และเพาะปลูกได้ง่าย จัดเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพที่จะนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงสมองและบำรุงความจำเพื่อทดแทนสมุนไพรนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น แปะก๊วย และโสม

จากพืชผักพื้นบ้านที่ขึ้นตามริมตลิ่งที่ทุกคนมองผ่านไป แต่ รศ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ หัวหน้าทีมวิจัย จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะนักวิจัยร่วม เจ้าของรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัชศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.. 2557 จากผลงานวิจัยเรื่อง “พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ” ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพรมมิ สมุนไพรริมตลิ่ง โดยได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาให้เป็นสมุนไพรที่ช่วยในการบำรุงความจำจนประสบความสำเร็จ และได้พัฒนาต่อยอดกระบวนผลิตในระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรให้แก่องค์การเภสัชกรรม จนได้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดสมุนไพร “พรมมิ สมุนไพรบำรุงความจำ” ในรูปแบบเม็ด ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง บำรุงสมอง และความจำ

รศ.ดร.กรกนก หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ช่วงปี พ.ศ. 2548 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยสมุนไพรพรมมิ พืชสมุนไพรที่พบมากในประเทศไทยและประเทศแถบเอเชีย จากการที่ประชากรโลกมีเพิ่มขึ้น อัตราส่วนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น โรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและความทรงจำเป็นสาเหตุให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุน้อยลง จึงร่วมกันศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรพรมมิ พืชสมุนไพรที่พบกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย ขึ้นง่ายตามพื้นที่ชื้นริมตลิ่ง ในประเทศไทยมีการใช้พรมมิในตำรายาไทยสืบเนื่องกันเป็นเวลานาน เช่น ใช้เป็นองค์ประกอบในตำรับยาเขียว รวมถึงในการบำรุงความจำ และพรมมิเป็นยาสมุนไพรในตำราอายุรเวทของอินเดีย สำหรับช่วยเพิ่มความจำ บำรุงสมองกันอย่างแพร่หลาย ศักยภาพของสมุนไพรพรมมิเหมาะแก่การเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือยาสมุนไพรบำรุงความจำ บำรุงสมอง ช่วยทดแทนการนำเข้าสมุนไพรจากต่างประเทศ เช่น แปะก๊วย หรือโสม

ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาสมุนไพรพรมมิ โดยพัฒนาวิธีการสกัด (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 4018) และการควบคุมคุณภาพของสารสกัดพรมมิ โดยตรวจวัดสารกลุ่มซาโปนิน (saponins) พบว่าสารสกัดมีมาตรฐานและมีความทรงตัวที่ดี นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาการเพาะปลูกจากแปลงเล็กสู่แปลงใหญ่ และวิธีการเก็บเกี่ยวสมุนไพรก็พบว่าสามารถปลูกได้ง่ายในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพิษณุโลกที่มีสภาพแดดแรง สามารถปลูกสมุนไพรพรมมิได้ง่ายในพื้นที่ชื้นแฉะ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดพรมมิมีผลต่อการเรียนรู้และการป้องกันเซลล์ประสาทของสัตว์ทดลอง เมื่อให้สารสกัดพรมมิขนาด 20, 40 และ 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักในหนูเป็นเวลา 14 วัน ปรากฏว่าหนูมีการเรียนรู้และความจำดีขึ้น ป้องกันการสูญเสียความจำในสัตว์ทดลองที่ถูกชักนำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม สารสกัดพรมมิมีกลไกในการปกป้องเซลล์ประสาท และเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท จากการทดสอบพิษแบบเฉียบพลันและเรื้อรังไม่พบว่าสารสกัดพรมมิมีพิษต่อสัตว์ทดลอง

คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดพรมมิขนาด 300 มิลลิกรัม ในรูปแบบยาเม็ดเคลือบที่มีคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสมและมีความคงตัวดี และศึกษาผลของพรมมิในอาสาสมัครวัยกลางคนและสูงอายุ อายุมากกว่า 55 ปี จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ยาหลอกและได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดพรมมิขนาด 300 และ 600 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าในกลุ่มอาสาสมัครที่รับประทานยาจริงมีความจำ มีการทรงตัวที่ดี มีความจำและสมาธิ รวมทั้งการตอบสนองต่อสิ่งเร้าดีกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่รับประทานยาหลอก โดยเห็นผลหลังจากรับประทานยาติดต่อกัน 2 เดือนขึ้นไป นอกจากนี้ยังไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่ายาสารสกัดพรมมิเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว เพิ่มการตื่นตัวต่อสิ่งเร้า ทำให้มีสมาธิมากขึ้น ช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความทรงจำ รวมถึงคลายอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย

“ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาพรมมิจึงเริ่มตั้งแต่การพัฒนาสารสกัดมาตรฐาน จดอนุสิทธิบัตรกระบวนการสกัด ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดต่อการเรียนรู้ และความจำของสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่าพรมมิสามารถป้องกันการสูญเสียความจำในหนูที่ถูกชักนำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม โดยโมเดลที่ใช้คือ ให้สัตว์ทดลองกินพรมมิเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นทำให้ความจำเสื่อม แล้วมาเปรียบเทียบกับสัตว์ทดลองที่ไม่ได้กินพรมมิ ปรากฏว่าสัตว์ทดลองที่กินพรมมิมีความจำที่ดีกว่าสัตว์ทดลองที่ไม่ได้กินพรมมิ จึงเห็นได้ว่าพรมมิช่วยปกป้องการเสื่อมของสมองได้ และผลการทดลองทางพิษวิทยาทั้งพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง ทำให้พิสูจน์ได้ว่าพรมมิไม่มีผลเสียต่อร่างกาย เมื่อทดลองโดยให้สัตว์ทดลองกินสารสกัดพรมมิในขนาดที่สูงเป็นระยะเวลา 9 เดือน พบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตาย หรือไม่มีอาการผิดปกติในอวัยวะภายในหรือในเนื้อเยื่อใด ๆ”

รศ.ดร.กรกนก กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทางคณะผู้วิจัยยังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยที่มีความจำบกพร่อง โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว โดยทำการศึกษาวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในอนาคตอาจจะมีการวิจัยในเด็กที่สมาธิสั้นและผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ด้วย

สุดท้ายนี้ รศ.ดร.กรกนก ยังกล่าวถึงประโยชน์ที่เกิดจากการวิจัยภายใต้โครงการศึกษาวิจัยสมุนไพรพรมมิว่า คือการได้องค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงความจำที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และได้กระบวนการผลิตที่เสริมความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอาหารเสริม นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่ผลิตบุคลากรวิจัยใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในไทยที่สามารถต่อยอดงานวิจัยอื่นได้อีกในอนาคต