การเข้าถึงยา จะไม่ใช่ปัญหาระดับชาติอีกต่อไป

การเข้าถึงยา” จะไม่ใช่ปัญหาระดับชาติอีกต่อไป

ในบทความวารสารวงการยา ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ได้เขียนเรื่องการเข้าถึงกฎหมายในหัวข้อ “จริยธรรมต้องนำวิชาการ” เกี่ยวกับวิธีการนำกฎหมายแพ่งมาใช้ในการพิจารณาคดีในกรณีที่ไม่มีตัวบทบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง ในฉบับนี้จะมาช่วยกันพิจารณาดูว่า การเข้าถึงยาของไทยเรานั้นจะเป็นไปตามลักษณะของการเข้าถึงกฎหมายได้หรือไม่ อย่างไร ยกตัวอย่างกฎหมายแพ่งที่บัญญัติไว้ว่า หากข้อเท็จจริงใดมีบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องใช้บทกฎหมายนั้น หากไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่ข้อเท็จจริงก็ต้องวินิจฉัยไปตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ต่อเมื่อไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องนั้นก็ให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยเทียบบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และหากยังไม่มีบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งจึงต้องวินิจฉัยไปตามหลักกฎหมายทั่วไป ในการใช้ยาน่าจะมีหลักการที่เทียบเคียงกับหลักการใช้กฎหมายได้ กล่าวคือ ถ้ามียาใดรักษาโรคโดยตรงได้ ก็ให้ใช้ยานั้น ถ้าไม่มีน่าจะมียาที่ทดแทนกันได้ ถ้ายังไม่มีอีก ทางเลือกคือ การใช้ยาพื้นบ้าน ยาสมุนไพรตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และในความเป็นจริงบนพื้นฐานของ “สุขภาพ” มีโรคมากมายที่ยังไม่มียาวิเศษเฉพาะใด ๆ ที่จะสามารถรักษามันได้อีก ควรเข้าใจว่า “ยา” นั้นก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่สำคัญในลำดับท้าย ๆ ในระบบสุขภาพเท่านั้น

องค์การเภสัชกรรม หนุนใช้ "ยาชื่อสามัญ" เทียบเท่ายาต้นแบบ ลดภาระให้ประเทศชาติ

ในฐานะผู้ใช้ยา ควรที่จะทำความรู้จักกับชื่อสามัญของยามากกว่าที่จะใช้ชื่อทางการค้า เพราะจะเป็นวิธีที่ปกป้องตัวเองได้ดีกว่า และเป็นการประหยัดมากกว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับยาชื่อสามัญมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดยาชื่อสามัญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็มีการใช้ยาชื่อสามัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี เนื่องจากยาชื่อสามัญมีประสิทธิผลในการรักษาทัดเทียมกับยาต้นแบบและมีราคาประหยัดกว่ามาก อันหมายถึงลดภาระค่ายาของครอบครัว และลดภาระงบประมาณของรัฐด้วย

องค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงทำการวิจัยยาชื่อสามัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ช่วยให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณด้านยาได้ปีละหลายพันล้านบาท และสามารถดูแลคนไข้ได้มากขึ้น

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ก่อนจะรู้จักยาชื่อสามัญ ต้องรู้จักยาต้นตำรับ (original drug) หรือยาต้นแบบก่อน ซึ่งหมายถึงยาที่บริษัทยาทำการวิจัยและพัฒนาขึ้นมา แล้วนำไปจดสิทธิบัตร มีอายุคุ้มครอง 20 ปี เนื่องจากยาตำรับดั้งเดิมซึ่งวางขายเป็นเจ้าแรกมักจะมีสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงมีการตั้งราคาขายแพงมากจนผู้ป่วยส่วนใหญ่เดือดร้อนเพราะไม่มีเงินซื้อยา

ดังนั้น เมื่อสิทธิบัตรผูกขาดหมดอายุลง ยานั้นจะกลายเป็นตัวยาทั่วไปที่ไม่มีใครอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของเพียงผู้เดียวได้ ผู้ผลิตในประเทศจึงสามารถผลิตยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐาน แต่มีราคาถูกกว่า เป็นทางเลือกให้ประชาชนในการรักษาด้วยยาที่มีราคาย่อมเยากว่าแต่มีประสิทธิผลในการรักษาเท่ากัน นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระด้านการเงินการคลังของประเทศอีกด้วย

ส่วนยาชื่อสามัญ (generic drug) หมายถึงยาที่มีตัวยาสำคัญในการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาต้นตำรับ โดยมีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยเช่นเดียวกับยาต้นตำรับทุกประการ เพียงแต่ไม่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง และมีราคาถูกกว่ายาต้นตำรับหลายเท่า

ชื่อของยาอาจเรียกโดยใช้ชื่อสามัญ หรือชื่อการค้า ชื่อสามัญมักตั้งเป็นเคมีวิทยา ส่วนชื่อทางการค้านั้นบริษัทยามักตั้งขึ้นเพื่อให้กระชับและอาจสื่อสารให้เข้าใจว่ามีไว้เพื่อทำอะไร ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริโภคจะต้องรู้จักชื่อยาสามัญ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการรณรงค์ให้คนไข้รู้จักยาชื่อสามัญมากขึ้น โดยให้แพทย์หรือเภสัชกรบอกชื่อยาสามัญขณะจ่ายยาให้แก่คนไข้ทุกครั้งเพื่อให้คนไข้นำไปปรึกษากับเภสัชกรตามร้านขายยา หรือโรงพยาบาลอื่นได้ รวมถึงค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นจากอินเตอร์เน็ตด้วยตนเอง "ปกติข้างกล่องยาจะมีชื่อยาสามัญควบคู่กับชื่อการค้า แต่ถ้ายาบรรจุอยู่ในแผง ข้างหลังแผงจะมีชื่อยาสามัญปรากฏอยู่ แต่ถ้าเป็นยาเม็ด ๆ อยู่ในขวดที่จ่ายโดยโรงพยาบาล บางครั้งคนไข้ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ชื่อยาสามัญอะไร แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลก็ให้ความสำคัญกับการจ่ายยาโดยบอกชื่อยาสามัญด้วย โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มี HA กำกับจะมีสติ๊กเกอร์บอกทั้งชื่อทางการค้า และชื่อยาสามัญ" ในปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการใช้ยาชื่อสามัญมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2554-2555 ที่ผ่านมา มียาที่หมดสิทธิบัตรแล้วหลายตัว ทำให้มียาชื่อสามัญออกสู่ตลาดยามากขึ้นด้วย ทำให้ตลาดยาชื่อสามัญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยเองมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการใช้ยาชื่อสามัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวน่าจะส่งผลให้โครงการหลักประกันสุขภาพของภาครัฐเติบโตได้อย่างยั่งยืน

วันนี้องค์การเภสัชกรรมจึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา วิจัยยาใหม่ ๆ ออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ กลุ่มยาจิตเวช รวมถึงยาในกลุ่มธาลัสซีเมีย เพื่อให้มียาชื่อสามัญบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพมากขึ้นในราคาที่ประหยัด

อย่างไรก็ตาม การใช้ยามีทั้งประโยชน์และโทษ การดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาด ช่วยให้คนไทยทุกคนห่างไกลจากโรค และไม่ต้องรับประทานยาโดยไม่จำเป็นอีกด้วย (ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556)

ปฏิรูปยาเพื่อสังคมพึ่งตนเอง

ภายหลังพิธีมอบรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี พ.ศ. 2557 ให้แก่ ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี มีงานเสวนา ‘การปฏิรูประบบผลิตยาเพื่อการพึ่งตนเองของสังคม’ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมร่วมแลกเปลี่ยนให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงระบบผลิตยาจำเป็นอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี ได้ทำงานวิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญ ทั้งการพัฒนาสูตรตำรับเพื่อทดแทนการใช้ยาต้นแบบ และพัฒนาสูตรตำรับยาให้สามารถใช้ได้โดยสะดวก อาทิ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาสำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ยาป้องกันสารกัมมันตรังสี ยาสำหรับผู้ป่วยจิตเวช รวมทั้งพัฒนาตำรับยาสูตรผสม Triferdine และ Iodine ชนิดเม็ด ร่วมกับกรมอนามัย ซึ่งเป็นยาเม็ดเสริมไอโอดีน โฟเลต และเหล็ก สำหรับสตรีมีครรภ์

ในงานประชุมนี้ คุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ได้ยกตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง นั่นคือมีการกล่าวถึงประเทศคิวบาว่า มีการสร้างระบบปฏิรูประบบยาเพื่อการพึ่งตนเอง คิวบาเป็นประเทศสังคมนิยมที่ถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 สหรัฐอเมริกาไม่ยอมขายยาและเครื่องมือการแพทย์ให้แก่คิวบา แต่กลับกลายเป็นว่าคิวบาสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้เป็นจำนวนมาก และยาบางตัวมีสิทธิบัตรในประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย เมื่อถูกคว่ำบาตร แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างทยอยหนีออกนอกประเทศเกือบทั้งหมด ทำให้คิวบานำเงินที่เหลือมาใช้ในการสร้างบุคลากรทางการแพทย์และทุ่มกับการวิจัยพัฒนาระบบ โดยอาศัยสถานทูตเป็นสถานที่ในการวิจัยและพัฒนา การวิจัยและพัฒนามีโจทย์สำคัญในการทำงานในการตอบโจทย์ว่า “ปัญหาสาธารณสุขคืออะไร?” ซึ่งในช่วงแรกจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาโรคติดต่อ แล้วจึงเริ่มติดตามปัญหาโรคไม่ติดต่อ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา คิวบาสามารถเป็นประเทศที่ยืนอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง แม้นว่าคิวบาเป็นประเทศยากจน แต่คิวบาก็อยู่รอดด้วยการเป็นประเทศที่พึ่งตัวเองได้

ยาใหม่ ใช่ว่าจะปลอดภัย

ในวารสารวงการยา หัวข้อแกะกล่อง FDA มีรายงานยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใหม่อย่างต่อเนื่อง ยาใหม่เหล่านี้ส่วนมากมีแหล่งกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น codeine ผสมกับ chlorpheniramine ในรูปของเกลือชนิดใหม่ในรูปของการออกฤทธิ์นาน หรืออย่างยาในกลุ่มของ Quinolones ได้มีการพัฒนายาใหม่จาก norfloxacin ไปเป็น ofloxacin, ciprofloxacin แล้วก็พิสดารถึงเป็น levofloxacin, prulifloxacin แล้วก็ sitafloxacin ในวงการแพทย์ดูเหมือนว่าจะยินดีปรีดาที่ได้ยาใหม่ ๆ มาพิชิตเชื้อโรคเก่า ๆ แต่เมื่อเจาะข้อมูลลึกลงไป ยาใหม่เหล่านี้ก็ยังคงเป็นกลุ่ม Quinolones อยู่ดี มีประสิทธิภาพในวงจำกัดของมันเอง มีพิษของยาไม่แตกต่างกับยา Quinolones ตัวเดิม ๆ ที่ใช้กันอยู่ ตัวอย่างอื่น เช่น นำเอาตัวยาลดความดัน 2 ตัวมารวมเป็นยาเดียวกัน แล้วก็ขึ้นทะเบียนเป็นยาใหม่ เช่น amlodipine + valsartan ได้ยาใหม่ตัวหนึ่ง พิสดารกว่านั้นคือ เพิ่มตัวยาขับปัสสาวะ hydrochlorothiazide ไปก็สามารถจดทะเบียนเป็นยาใหม่ได้อีกตัวหนึ่ง อีกตัวอย่างคือ การนำเอายาลดไขมัน 2 ตัวเดิมที่จดตำรับยาไว้แล้วมารวมกันก็สามารถจดเป็นตำรับยาใหม่ได้อีกตัว นั่นคือ ezetimibe + simvastatin ตัวอย่างในลักษณะนี้มีมากมายในวงการตลาดยาแผนปัจจุบันทั่วโลก โดยที่สรรพคุณและประสิทธิภาพของยาคงเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ เรื่องของราคาตัวใหม่จะสูงกว่าตัวเดิมเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้รับความนิยมใช้ในวงการแพทย์อย่างมาก ในลักษณะของใกล้เกลือกินด่าง อย่างนี้จะเรียกว่ามีปัญหาการเข้าถึงยาใหม่หรือไม่?

ในวิกฤติมักมีโอกาสเสมอ

ดังกล่าวข้างต้นไว้ว่า คิวบาถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นโอกาสทำให้คิวบากลับกลายเป็นประเทศที่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้เป็นจำนวนมาก และยาบางตัวมีสิทธิบัตรในประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย แม้นว่าคิวบาเป็นประเทศยากจน แต่คิวบาก็อยู่รอดด้วยการเป็นประเทศที่พึ่งตัวเองได้ อีกข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็ก ๆ เยาวชนไทยที่อยู่ตามชายแดนแถวแม่สอด จังหวัดตาก ด้อยโอกาสที่จะเข้าศึกษาตามโรงเรียนในระบบ แต่เด็ก ๆ เหล่านี้กลับพูดได้ตั้งแต่ 3 ภาษาขึ้นไป รู้จักวัฒนธรรมของหลายชาติ เมื่อเปิดการค้า AEC แล้ว เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสก้าวหน้าทางธุรกิจการค้าได้มากกว่าเยาวชนในโรงเรียนเสียอีก

ในระบบยาแผนปัจจุบันที่ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์คิดค้นยาใหม่เพื่อพิชิตและกำจัดโรคร้าย (kill and terminate) อันเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพที่ปลายเหตุ ประกอบกับยาใหม่ก็มีพิษใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ การใช้ยาใหม่อาจหมายถึงการขี่ช้างจับตั๊กแตนก็ได้ เช่น การใช้ตัวยา etoricoxib มาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ปวดฟัน จึงเห็นว่า การเข้าถึงยาใหม่จึงมิใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์เสมอไป ทั่วโลกมียาชื่อสามัญให้เลือกใช้ได้อย่างมากมาย หากพินิจให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียอย่างละเอียด และใช้ยาชื่อสามัญที่มีอยู่ให้เหมาะสมแล้ว เราทุกคนสามารถใช้ยาชื่อสามัญได้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเพียงพออย่างแน่นอน แต่ถ้ายังไม่เพียงพอก็น่าจะนึกถึงการรักษาอย่างภูมิปัญญาชาวบ้าน นึกถึงสมุนไพร นึกถึงการบำบัดแบบองค์รวม เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการดูแลสุขภาพด้วยยา แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเรามิอาจติเรือทั้งโกลนได้ เพราะใด ๆ ในโลกย่อมมีจุดเด่นและจุดด้อยเสมอ ขอแต่เพียงให้เรารู้จักสกัดจุดด้อยแล้วชูจุดเด่นมาใช้ให้เต็มที่เท่านั้นเอง

หน่วยงานเชิงรุกที่ทำหน้าที่ป้องกันก่อนเกิดโรค

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2554 หมวด 19 มาตรา 42 ได้ระบุว่า มาตรา 42 กระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด โดยมีหน่วยงานในกำกับดูแลคือ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ใน 8 หน่วยงานนี้ ที่สำคัญที่สุดขอยกให้กรมอนามัยที่มีภารกิจในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยมีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้าน การส่งเสริมสุขภาพ การจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี รวมทั้งการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการดูแลตนเอง ครอบครัวและชุมชน รวมตลอดจนถึงการสนับสนุนให้หน่วยงานส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพและจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีโดยถ้วนหน้า

อีก 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายกรมอนามัยคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมสุขภาพจิต เป็นหน่วยงานที่สร้างสุขภาพเชิงรุก เป็นการป้องกันก่อนจะเกิดเป็นโรค ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในระบบสาธารณสุข รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย ล้วนทำงานสุขภาพเชิงรับทั้งสิ้น กล่าวคือ เมื่อเกิดโรคแล้ว เกิดการระบาดแล้ว จึงเข้าไปบำบัดรักษา ทำให้ต้องสร้างบุคลากรทางการแพทย์ สร้างสถานพยาบาล การบริโภคยา การฟื้นฟูสุขภาพ แม้จะมีโรงเรียนแพทย์มากขึ้น สถานพยาบาลมากขึ้น แต่ก็ไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการในการรักษาโรคของประชาชน ดังภาพที่เห็นตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนในปัจจุบันนี้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับส่วนดีของกรมอนามัยที่มีการทำงานเชิงรุกคือ ปลอดภัย ประหยัด และเห็นผลประจักษ์ที่ดีกว่า เพราะเรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสร้างเอง ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และสวนสาธารณะ

การตั้งคำถามว่า “เราจะรักษาโรคให้หายได้อย่างไร?” กับเปลี่ยนเป็นคำถามว่า “เราจะป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรคได้อย่างไร” จึงให้ตอบที่แตกต่างกันอย่างขาวกับดำ มันหมายถึงว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไรกับอีกแนวทางคือ “เราจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้อย่างไร” นั่นเอง

องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามคำว่า สุขภาพ ในความหมายเชิงกว้างว่าหมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต และทางสังคม ตามร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้ความหมายของคำว่า สุขภาพ คือ ภาวะที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายคือ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่เป็นโรค ไม่พิการ ไม่มีอุบัติเหตุอันตราย มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ

ดังนั้น "สุขภาพ" จึงหมายถึง "การมีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บในทุกส่วนของร่างกาย มีสุขภาพจิตดี และสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ผู้มีสุขภาพดีถือว่าเป็นกำไรของชีวิต เพราะทำให้ผู้เป็นเจ้าของชีวิตดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้" นั่นเอง จะเห็นได้ว่า สุขภาพนั้นไม่ได้มีเพียงทางกายและทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับตัวเข้าสู่สังคมได้อย่างมีความสุขด้วย เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะรักษาสุขภาพของเรา (self-care strategies) ให้ดีอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้มีจิตใจที่มีความสุข รื่นเริง ไม่ติดขัด มีเมตตา มีสติ มีสมาธิ และการที่ครอบครัวจะมีความอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และสังคมมีความยุติธรรมได้นั้น จะต้องเกิดขึ้นจากการจัดการทางสุขภาพในระดับต่าง ๆ ทั้งสุขภาพในระดับของปัจเจกบุคคล (Individual Health), สุขภาพของครอบครัว (Family Health), อนามัยชุมชน (Community Health) และสุขภาพของสาธารณะ (Public Health) นั่นเอง (ข้อมูลจาก - https://en.wikipedia.org/wiki/Health#Diet)

ความฝันจะเป็นจริงในเรื่องของสุขภาพ หากกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความสำคัญด้านสุขภาพเชิงรุกอย่างภารกิจของกรมอนามัยให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาของกรมการแพทย์ ถึงวันนั้นเมื่อไร ปัญหาเรื่องการเข้าถึงยา (ใหม่) จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป