ยา ondansetron ขณะตั้งครรภ์: ปลอดภัยหรือไม่

ยา ondansetron ขณะตั้งครรภ์: ปลอดภัยหรือไม่?

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

         อาการคลื่นไส้ อาเจียนในขณะตั้งครรภ์ เป็นอาการที่พบได้มากถึง 80% ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสแรก ในจำนวนนี้ประมาณ 15% จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาอาการ ข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับการรักษาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็คือ ความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์จากยาที่ใช้

         ยา ondansetron เป็นยาในกลุ่ม 5-HT3 receptor antagonist ซึ่งส่วนมากถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง และผู้ป่วยในระยะหลังผ่าตัด นอกจากนี้ในหลายครั้งยา ondansetron ยังถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์อีกด้วย ซึ่งในความเป็นจริง ยานี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้สามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้

         ในปี ค.ศ. 2004 ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยจากประเทศแคนาดาและออสเตรเลีย ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการแท้งบุตร คลอดเสียชีวิต และความพิการของทารกในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยา ondansetron เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนกลุ่มอื่นหรือไม่ได้รับเลย โดยมีจำนวนหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละกลุ่ม 176 คน ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ในกลุ่มที่ได้รับยา ondansetron นั้น เมื่อคิดอัตราการเกิดความผิดปกติของการตั้งครรภ์ทุกประเภทรวมกันแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ แต่สำหรับความเสี่ยงในการเกิดความพิการในทารกแล้ว พบว่ามีโอกาสเสี่ยงมากกว่าถึง 3.5 เท่า ลักษณะความผิดปกติในทารกที่พบได้บ่อยขึ้นอย่างชัดเจนสัมพันธ์กับการใช้ยา ondansetron คือโรคเพดานโหว่ (cleft palate) ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าหากได้รับยานี้ในไตรมาสแรก ส่วนความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปากแหว่ง, hypospadias หรือ neural tube defect นั้นไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับยา

         สำหรับข้อมูลของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีหญิงตั้งครรภ์ได้รับยานี้ 251 รายในช่วงปี ค.ศ. 2002-2005 ก็พบข้อมูลการเพิ่มขึ้นของความผิดปกติในทารกเพิ่มขึ้นเช่นกันคือ 20% แต่ผลการวิเคราะห์พบว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

         กลุ่มนักวิจัยจากประเทศเดนมาร์ก รายงานเกี่ยวกับการใช้ยา ondansetron ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงปี ค.ศ. 2004-2011 เช่นกันซึ่งมีอยู่จำนวน 1,970 ราย ประมาณครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ใช้ยาในช่วงไตรมาสแรก และอีกครึ่งหนึ่งในไตรมาสที่ 2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลไม่พบความแตกต่างในการเกิดความผิดปกติของการตั้งครรภ์อย่างชัดเจน ส่วนในประเทศสวีเดนมีรายงานเกี่ยวกับการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรกจำนวน 1,349 ราย เช่นเดียวกัน โดยพบว่ามีโอกาสในการเกิดความผิดปกติของหัวใจ เช่น septum defect ได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาคิดเป็น odd ratio 2.1 แต่โอกาสในการเกิดความพิการอย่างรุนแรงในทารกไม่แตกต่างกัน

จากข้อมูลรายงานและการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงหรืออันตรายที่เกิดจากการใช้ยานี้ในช่วงตั้งครรภ์ยังไม่ชัดเจน ข้อมูลจากการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่พบความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ที่ชัดเจน แต่มีบางการศึกษาที่บ่งชี้ว่าอาจมีความเสี่ยงของความผิดปกติเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่น เพดานโหว่ และความผิดปกติของหัวใจ ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติในปัจจุบันสำหรับในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน จึงยังไม่ได้แนะนำให้เลือกใช้ยา ondansetron เป็นทางเลือกแรกในการรักษา แต่ควรเลือกวิธีการอื่น เช่น ปรับเปลี่ยนอาหารหรือวิธีการดำรงชีวิตก่อน หากจำเป็นต้องใช้ยาอาจพิจารณาเลือกใช้ยา doxylamine/pyridoxine ก่อน เนื่องจากเป็นยาที่ได้รับการรับรองจาก FDA แล้วว่าสามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนยา ondansetron อาจนำมาใช้ได้หากใช้วิธีการรักษาเบื้องต้นต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ได้ผล