สูงสุดสู่สามัญ

สูงสุดสู่สามัญ

         สูงสุดคืนสู่สามัญ หรือการคืนสู่ฐาน (Back to Basic) หมายถึง การกลับไปสู่หลักการพื้นฐานของการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่สับสนระหว่างความจำเป็นกับความต้องการ เพราะความต้องการของคนไม่มีที่สิ้นสุด การคืนสู่ฐานจึงเป็นการเรียนรู้จักพออยู่พอกิน ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และมีเป้าหมายสุดท้ายคือ ความสุข ไม่สับสนระหว่างเป้าหมายและเครื่องมือ ไม่ใช่เอาเงินเป็นเป้าหมาย เอาความสุขเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่การหาเงินให้ได้มาก ๆ จนเกิดทุกข์ สำหรับชีวิตที่พอเพียง คนที่เรียกว่ารวยก็คือคนที่รู้จักพอนั่นเอง หรือกล่าวได้ว่า คนมีความสุขได้เสมอเพราะว่ารู้จักพอ

มีอีกคำที่เทียบเคียงได้กับคืนสู่สามัญคือ คำว่าคืนสู่รากเหง้า (Back to the Roots) มีความหมายว่าหมายถึง แนวคิดที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น การฟื้นฟูเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ (Identity) ของท้องถิ่น โดยการสืบสาวราวเรื่องในอดีต ค้นหาประวัติความเป็นมาคุณค่าต่าง ๆ อันบูรณาการอยู่ในวิถีของชุมชนในลักษณะต่าง ๆ แล้วนำมาปรับประยุกต์เพื่อสืบทอดคุณค่าเหล่านั้นอย่างเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่แตกต่างไปจากอดีต การคืนสู่รากเหง้าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง บนรากฐานของการเคารพต่อบรรพบุรุษในความรู้ภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายที่เป็นรากฐานของเผ่าพันธุ์ และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่สืบทอดและถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา การคืนสู่รากเหง้าทำให้เข้าใจวิถีของผู้คนในอดีต เข้าใจความสัมพันธ์อันดีและสมดุลที่ผู้คนมีต่อธรรมชาติ ต่อกันและกัน

            ในยุคของโลกาภิวัตน์ดังปัจจุบันนี้ ระบบของความงอกงามในเชิงอุตสาหกรรม และความโลภของเชิงพาณิชย์ ประกอบกับการใช้กลไกทางการตลาด ได้ทำลายการคืนสู่รากเหง้าไปอย่างมาก และมนุษย์กำลังเรียกหาการคืนสู่สามัญมากขึ้นทุกที ไม่เว้นแม้แต่ในวงการวิชาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ห่างไกลจากรากเหง้าของภูมิปัญญาและวิถีชีวิตอันสงบสุขอย่างบรรพบุรุษ

แพทย์ทางเลือกให้ยึดมั่นในหลักแห่งธรรมชาติ ให้ดูแลสุขภาพตามวิถีชีวิตแบบธรรมชาติ การทำงานในยามที่พระอาทิตย์ขึ้น และนอนหลับพักผ่อนเมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า รับประทานอาหารสดประจำถิ่นที่อยู่อาศัย ตามฤดูกาลที่มีในธรรมชาติ บรรพบุรุษของเราจึงพึ่งพายาน้อยมาก และในยามที่ต้องใช้ยาก็ใช้ยาเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ยาดม ยาหอม ยาหม่อง หากเป็นยาแรงที่อาจมีพิษข้างเคียง บรรพบุรุษก็รู้จักวิธีนำมาสะตุเสียก่อนเพื่อทำลายพิษมัน และใช้ยาเดิม ๆ ไม่กี่ชนิดที่สืบทอดกันมายาวนาน และจะใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น จึงเห็นได้ว่ายาเดิม ๆ จะมีความปลอดภัยมากในการใช้ หากจะเทียบเคียงกับในปัจจุบันก็น่าจะยอมรับว่ายาที่ใช้ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน อย่างยาจำพวก NSAIDs เช่น aspirin, ibuprofen หรือ diclofenac ซึ่งเป็นที่ประจักษ์และยอมรับแล้วว่ามีผลการรักษาที่ได้ผลดี อีกทั้งยังรู้ผลข้างเคียงของมันว่ามีอะไรบ้าง และจะระวังได้อย่างไร ยาดังกล่าวจึงมีความปลอดภัยมากกว่ายาที่คิดค้นใหม่ ๆ อย่างยาจำพวก COX-2 ที่ยังไม่อาจติดตามผลเสียของมันได้อย่างดีพอ ซ้ำร้ายบางครั้งยังอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตด้วย

แม้แต่ยาปฏิชีวนะก็เช่นกัน การค้นพบยากลุ่ม penicillin นับว่าเป็นก้าวใหม่ของวงการแพทย์ปัจจุบัน ทำให้ช่วยชีวิตทหารในสงครามได้อย่างมากมาย จากนั้นมาก็มีการค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา ด้วยความคิดทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่ว่าเชื้อโรคเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรค แต่กลับสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่นั่นคือ ในปัจจุบันกลับมีเชื้อเดิม ๆ ที่ดื้อต่อยาใหม่ ๆ มากขึ้นทุกที บนความจริงที่ว่า ยาปฏิชีวนะมิได้ฆ่าเชื้อที่ก่อโรคเพียงอย่างเดียว แต่มันไปทำลายเชื้อประจำถิ่น (normal flora) ด้วย ทำให้ไม่มีนักเลงปากซอยคอยพิทักษ์นักเลงจากถิ่นอื่นมารังแกเรา อุทาหรณ์ดังเช่น สหรัฐอเมริกาอ้างเหตุผลสารพัดในการกำจัดซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัก เพื่อหวังผลประโยชน์ของชาติอเมริกันเอง เมื่อซัดดัมซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจของชนอาหรับหลายเผ่าทั้งหลาย (นักเลงปากซอย) ถูกทำลาย ผลร้ายตามมาเกิดปรากฏการณ์ผึ้งแตกรังเพราะขาดนักเลงปากซอยคุม จึงเกิดพวกผู้ก่อการร้ายอย่างอัลกอร์อิดะห์ ตามมาด้วยกลุ่มไอซิส ทำให้โลกวุ่นวายไปทั่ว

ความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกวันนี้ แทนที่จะสร้างความสุขให้แก่มนุษย์ แต่กลับกลายเป็นสร้างปัญหาให้มนุษย์และโลกใบนี้มากขึ้น การหันมาสนใจภูมิปัญญาชาวบ้าน อารยธรรมดั้งเดิม หรือคืนสู่สามัญ จะเป็นทางออกที่ดีในการสร้างสุขให้แก่มนุษย์ได้อีกครั้งหนึ่ง

การพึ่งตนเอง (Self-Reliance)

            ปัจจุบันมนุษย์ทั้งโลกติดอยู่ในกับดักของบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด การแสวงหาและบริโภควัตถุอย่างบ้าคลั่งนำความทุกข์มาให้แล้ว ยังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษให้แก่โลกใบนี้อีกด้วย จึงต้องมีการลดความอยากลงเพื่อให้ชีวิตคืนสู่สามัญให้ได้ วิธีการหนึ่งคือ การพึ่งพาตัวเองและการสร้างวินัยชีวิตให้อยู่ในหลักของเศรษฐกิจพอเพียง

“การพึ่งตนเองเป็นสภาวะ หมายถึง ความสามารถของคนที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุล ความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางกายที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีสิ่งจำเป็น ปัจจัย 4 พอเพียง เป็นความพร้อมของชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ”

            “การพึ่งตนเอง หมายถึง การจัดชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับคน กับสังคม กับธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเรา การพึ่งตนเอง หมายถึง การมีสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตในปัจจุบันถึงอนาคต สวัสดิการที่พร้อมตอบสนองเราทันที โดยที่เราไม่ต้องไปเรียกให้ใครมาจัดสวัสดิการให้ หรือใครมาช่วยเหลือ” (ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม)

            เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นรากฐานของการพึ่งตนเองทั้งระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับสังคมโดยรวม ดังที่ทรงมีกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า

            “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พัฒนาบนความมั่นคงพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว ค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นสูงในลำดับต่อไป”

คืนสู่สามัญเรื่องของการบริโภคน้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว

            นพ.วีระชัย สิทธิปิยะสกุล ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก ได้แชร์ประสบการณ์ของตัวเองและมีการแชร์ต่อ ๆ กันไปในโลกออนไลน์ไว้ว่า… "ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ในยุคนั้นคงเหมือนกับครอบครัวของผมที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง และเชื่อตามโฆษณาที่มีการยิงโฆษณาถี่มากในสมัยนั้น เพื่อพยายามชักจูงให้ผู้คนหันมารับประทานนํ้ามันพืชแทนนํ้ามันหมู โดยการโฆษณาในสมัยนั้นจะใช้นํ้ามันพืชและนํ้ามันหมูแช่ใส่ตู้เย็นเปรียบเทียบกัน ทำให้เห็นว่านํ้ามันพืชไม่เป็นไข ส่วนนํ้ามันหมูจะเป็นไข แล้วก็จะชักจูงต่อเนื่องด้วยวารสารทางการแพทย์ บทวิจัยทางการแพทย์ การออกสื่อต่าง ๆ โดยแพทย์และนักวิชาการที่น่าเชื่อถือ ทั้งที่ความจริงแล้วคนเหล่านั้นน่าจะไม่ได้วิจัยหรือทราบอะไรจริง แค่ทราบมาจากในสถาบันการเรียน จากตำราฝรั่ง จากการวิจัยหลอกลวงของฝรั่ง คือวงการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาใช้การล่อลวงนี้เพื่อจะทำให้อุตสาหกรรมถั่วเหลืองของสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้น ซึ่งเรื่องนี้วงการแพทย์สหรัฐอเมริกาเพิ่งออกมายอมรับ โดยออกบทความว่า "ขอโทษที่หลอกลวงพลโลกให้หลงเชื่อเปลี่ยนมารับประทานนํ้ามันถั่วเหลืองมากว่า 60 ปี..."
         "ที่บ้านผมจึงเปลี่ยนกลับมาซื้อมันหมูมาเจียวเป็นนํ้ามันหมูเพื่อทำอาหารเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ก็สังเกตว่าคนในบ้านไม่เห็นมีใครเป็นอะไรมากมาย อาการโรคผิดปกติทางกายที่หลายคนเคยเป็นก็ดูดีขึ้น จากการตรวจร่างกายเป็นระยะ การเจ็บป่วยที่มีเป็นบ้าง นาน ๆ ครั้งก็สามารถหายได้อย่างรวดเร็ว" ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผลออกมาเป็นเช่นนี้ เนื่องจาก "น้ำมันหมู" เหมาะที่จะใช้กับมนุษย์ เนื่องจากอวัยวะในร่างกายหลาย ๆ อย่างมีส่วนคล้ายคลึงกัน และในวงการแพทย์ยังมีความพยายามที่จะเปลี่ยนถ่ายอวัยวะภายในของหมูกับคนอีกด้วย
            "การเจียวนํ้ามันหมูก็ใช้วิธีแบบบ้าน ๆ ไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ผมหันมาใช้นํ้ามันหมู และก็รวมถึงรับประทานของทอดน้อยลงด้วย เพราะเมื่อใช้น้ำมันหมูแล้วทำให้ใช้น้ำมันพืชน้อยลง แต่หากจะใช้น้ำมันพืช จะใช้น้ำมันพืชประเภท “สกัดเย็น” เท่านั้น เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สลับกับน้ำมันหมูในบางครั้ง"

ประสบการณ์ของคุณหมอวีระชัยเป็นความจริง โดยการยืนยันจากนิตยสาร 'เกษตรกรรมธรรมชาติ' ฉบับ 2/2548 บทความพิเศษ "น้ำมันมะพร้าวและกะทิเป็นอันตรายหรือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ" โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา กล่าวไว้ว่า "น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันพืชที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแปซิฟิกใช้เป็นแหล่งพลังงาน และการหุงหาอาหารมาช้านานโดยไม่ปรากฏอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จากรายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2521 ประเทศศรีลังกาเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมะพร้าวมากที่สุดประเทศหนึ่ง มีอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเพียง 1 ในแสนคน เปรียบเทียบกับ 187 ในแสนคนในประเทศที่ไม่ได้ใช้น้ำมันมะพร้าว" ดร.ณรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า "น้ำมันมะพร้าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เนื้อมะพร้าวกับน้ำมะพร้าวลดระดับคอเลสเตอรอลอย่างมีนัยสำคัญ น้ำมันมะพร้าวเพิ่มปริมาณของ High density lipoprotein (HDL) ได้มากกว่าน้ำมันถั่วลิสง น้ำมันมะพร้าวไม่เพิ่มอัตราส่วนของ LDL ต่อ HDL ในขณะที่ไปลดระดับของไตรกลีเซอไรด์"

เกือบ 30 ปีมาแล้วที่เราถูกเขาหลอกให้บริโภคน้ำมันไม่อิ่มตัว เพราะผลประโยชน์อันมหาศาล แต่ได้ทำลายอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวและกะทิของเรา รวมทั้งรายได้ของชาวสวนมะพร้าว ตลอดจนต้องเสียเงินอีกมากในการสั่งซื้อน้ำมันไม่อิ่มตัวเข้ามาบริโภค และในการรักษาโรคที่เกิดจากการบริโภคน้ำมันไม่อิ่มตัว ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องตอบโต้กับการปรักปรำกะทิและน้ำมันมะพร้าว และรณรงค์ให้คนไทยหันกลับมาบริโภคกะทิ ดังที่บรรพบุรุษของเราได้ปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน [บทความจากสถาบันวิจัยโรคเรื้อรัง (CDRI): น้ำมันพืชผ่านกรรมวิธีกำลังคุกคามสุขภาพคนไทย]

จงกินและจงอยู่บนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตัวเราเอง

            ยอดดอยไม่ใช่จุดเดียวเท่านั้นที่จะเห็นทัศนียภาพได้งดงามที่สุด ยามลงเขาหากเปิดใจกว้าง ไม่หวนหาอาลัยความงามบนยอดดอย ก็จะพบว่ารอบตัวมีธรรมชาตินานาพรรณอันงดงามรอการชื่นชมจากเรา การลงจากความสำเร็จก็เช่นกัน มันหาใช่อวสานของวันคืนอันชื่นบานไม่ หากเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขอย่างใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพาเสียงตบมือของผู้คน หรือแสงไฟบนเวที หากวางใจเป็น ก็จะเห็นความสุขที่แท้ในใจเรา เป็นความสุขที่เบ่งบานในยามสงบสงัด เมื่อวางภาระทุกอย่างออกจากใจ มีแต่ความโปร่งเบา เพราะตื่นรู้ในปัจจุบัน ในยามนั้นแม้แต่ดวงจันทร์กลางค่ำคืนก็ให้ความสุขแก่เราอย่างลึกซึ้งได้ โดยไม่ต้องขึ้นไปถึงบนนั้นเลย ถึงตอนนั้นเราจะซาบซึ้งยิ่งกับถ้อยคำของท่านติช นัท ฮันห์ ว่า “การเดินบนพื้นโลกคือปาฏิหาริย์” (พระไพศาล วิสาโล นิตยสารสารคดี: ฉบับที่ 297: พฤศจิกายน 2552 ปีที่ 25 คอลัมน์ริมธาร: คืนสู่สามัญ)

            ทุกวันนี้คนไทยเราไขว่คว้าเรียกหาแต่เทคโนโลยีสมัยใหม่มากเกินไปหรือไม่ เราเชื่อนักวิชาการและการชักนำวิชาการแพทย์ตะวันตกง่ายเกินไปหรือไม่ ที่น่าคิดคือ เราเชื่อแต่คำว่า Evidence-based มากเกินไปหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของตัวเลขสุขภาพ ตัวเลขดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ที่ซีกโลกทางตะวันตกกำหนดขึ้นมานั้น มันเหมาะกับคนเอเชียอย่างเราหรือไม่ เหล่านี้ยังคงเป็นคำถามท้าทายความเชื่อของวงการแพทย์ของไทยอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมีความมั่นใจอย่างมากคือ ระบบอุตสาหกรรมยุคใหม่เหมาะกับสินค้าประเภทอุปโภค (material products) บางอย่างบางจำพวกเท่านั้น หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริโภคในชีวิตประจำวันแล้วไซร้ การรับประทานแต่ของสดที่เพาะปลูกในพื้นที่ประจำถิ่นของเราเอง (เช่น ผักบุ้ง ตำลึง) จะมีประโยชน์และปลอดภัยที่สุด และหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านสุขภาพหรือด้านความงามที่ต้องใช้เครื่องสำอางแล้ว อย่าไปหลงปลื้มกับระบบเชิงพาณิชย์และระบบกลไกทางตลาดอย่างตะวันตกเลย เพราะมันเป็นการพูดความจริงเพียงด้านเดียวเท่านั้น เราต้องฉลาดเพียงพอในการที่จะใช้หลักการพึ่งตัวเองบนฐานของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อจะได้ไม่ตกหลุมพรางของกลไกการตลาดที่ไร้คุณธรรมอย่างทุกวันนี้

โลกที่ไร้การครอบครองของผู้ใด

            จอห์น เลนนอน (9 ตุลาคม ค.ศ. 1940 - 8 ธันวาคม ค.ศ. 1980) ชาวอังกฤษ เป็นนักแต่งเพลง นักร้อง และ นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ จอห์น คงต้องการสื่อและเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวใช้จินตนาการของตนเพื่อสร้างชีวิตและสังคมที่แตกต่างไปจากสภาวะเผชิญหน้า แบ่งแยก และการเอารัดเอาเปรียบกันบนโลกใบนี้ ผลงานชิ้นหนึ่งของเขาที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ เขาได้แต่งเพลงชื่อ IMAGINE และคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ได้ให้คำแปลไว้ ดังนี้...

หากไม่มีสรวงสวรรค์ฝันง่าย ๆ  นรกร้ายเบื้องล่างก็ว่างหาย เงยขึ้นเห็นฟ้าโปร่งโล่งสบาย ลองนึกภาพคนทั้งหลายอยู่ร่วมกัน...เพื่อวันนี้ ลบเส้นแบ่งแห่งรัฐชาติลองวาดฝัน เพียงเท่านั้นเรื่องร้าย ๆ ก็คลายคลี่ ไม่ต้องฆ่าไม่ต้องรีบเอาพลีชีพ

ผองชนทั้งหลาย สุขสบายสันติธรรมค้ำคุณค่า เธอจะหยันว่าฉันเพ้อไม่ลืมตา แต่ก็มีมากกว่าฉันที่ฝันเป็น

ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งเธอจึงเห็น มาร่วมเป็นหนึ่งเดียวสร้างโลกใหม่ โลกที่ไร้การครอบครองของผู้ใด   ลองคิดดูได้ไหมอยากให้ลอง

เมื่อโลกนี้พี่น้องกัน ชนทั้งผอง  ลองวาดฝันวันใหม่ได้ปรองดอง ร่วมแบ่งปันครรลองโลกของเรา เธอหยันว่ายังเพ้อละเมอฝัน แต่มิใช่เพียงแค่ฝันเก่าเก่า จะรอเธอมาร่วมแรงช่วยแบ่งเบา เพื่อโลกเราสุขสมานศานติครอง

            จากบทกวีแปลของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา เห็นชัดได้ว่าการที่โลกพัฒนาจากยุคร่อนเร่พเนจร เข้าสู่ยุคเกษตรกรรม แล้วยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มาเป็นยุคเชิงพาณิชย์ และกลายมาเป็นโลกแห่งเทคโนโลยียุคใหม่อย่างในยุคนี้ ทำให้มนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เคยอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้ผันตัวมาอยู่เป็นสังคมเมืองที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์เองล้วน ๆ อาศัยอยู่ในแท่งตึกคอนกรีตเหมือนดั่งรังนกพิราบ ช่องใครช่องมัน ทิ้งชีวิตการดำรงชีพอย่างธรรมชาติเกือบจะสิ้นเชิง นี่อาจจะเป็นการขึ้นสูงสุดของวิทยาศาสตร์ที่ได้ก่อให้เกิดมลภาวะมากมายให้แก่โลกใบนี้ ทำให้ฤดูกาลผิดไปจากเดิม เกิดปัญหาโลกร้อน เกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่มมากขึ้น สายน้ำและอากาศเป็นพิษ จนทุกประเทศต้องหันหน้ามาเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ซึ่งก็คือการคืนสู่สามัญ เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติดังเดิม การเรียกร้องให้คนหันกลับมาใช้ถุงผ้า ใช้ตะกร้าในการบรรจุของเวลาไปจ่ายตลาด คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่มนุษย์เรากำลังดำเนินการเพื่อก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตสามัญ

            ในวงการสาธารณสุขต่างตระหนักดีว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ อันทันสมัย เป็นตัวการสร้างปัญหาสุขภาพให้แก่มนุษย์มากมาย อย่างโรค NCDs (Non-communicable diseases) เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “กลุ่มโรคเรื้อรัง” ในปัจจุบันวงการแพทย์พยายามนำเทคโนโลยีใหม่มารักษา เช่นการผ่าตัด การเปลี่ยนอวัยวะ การฉายรังสี แต่คนป่วยกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น มันคงถึงเวลาแล้วที่จะต้องลดการพึ่งพาเทคโนโลยี แล้วคืนสู่สามัญด้วยการใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ ในฐานะเป็นสมาชิกหนึ่งของธรรมชาติ ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องดูแลสุขภาพของตนด้วยวิธีการ.... คืนสู่สามัญ

วิธีการแบบสามัญที่แก้ปัญหาใหญ่

            ผู้เขียนเคยเล่าเรื่องคนเลี้ยงแกะกับนายพรานอาศัยอยู่ที่เชิงเขาและเป็นเพื่อนบ้านกัน หมาล่าเนื้อของนายพรานกัดทำร้ายแกะของคนเลี้ยงแกะเสมอ ขอร้องให้กักขังหมาไว้ นายพรานก็ไม่รับฟัง จนต้องเข้าเมืองไปฟ้องผู้พิพากษา ผู้พิพากษาไม่แนะนำให้ฟ้องร้องเป็นคดี เพราะถึงแม้จะชนะคดีก็จะเสียเพื่อนบ้านไป จึงแนะนำให้คนเลี้ยงแกะมอบลูกแกะน่ารักให้ลูกของนายพรานเพื่อนำไปเลี้ยง ลูกของนายพรานรักลูกแกะมาก ตั้งแต่นั้นมา นายพรานไม่ปล่อยหมาล่าเนื้อออกมาทำร้ายแกะของคนเลี้ยงแกะอีกเลย นี่เป็นอุทาหรณ์แสดงให้เห็นว่า แม้ผู้พิพากษาจะเป็นผู้ใช้กฎหมายเพื่อความยุติธรรม แต่ผู้พิพากษาท่านนี้กลับแก้ปัญหาคู่ความด้วยวิธีสามัญธรรมดาโดยเลี่ยงกฎหมาย เพราะผลของการใช้กฎหมายจะมีผลเสีย (Side effect) ตามมา การแก้ปัญหาของเรื่องนี้เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย วิธีแก้ปัญหาแบบสามัญนี่แหละคือความเป็นธรรมที่สำคัญกว่าความเคร่งครัดตามกฎหมาย (A good judge decides accordingly to justice and right, and prefer equity to strict law) อุทาหรณ์ของเรื่องนี้ วงการแพทย์ตลอดจนวงการสาธารณสุข รวมทั้งเภสัชกรชุมชนน่าจะพิจารณาไตร่ตรอง แล้วนำไปประยุกต์ใช้ได้
            อีกเรื่องที่ผู้เขียนกล่าวถึงคือการดูแลสุขภาพด้วย Sleep, Eat and Exercise (SEX) ว่าสุขภาพคนเราจะดีก็ด้วยวิธีสามัญธรรมดาในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม เลือกอาหารการกินที่มีประโยชน์ มีคุณค่าที่ดีต่อร่างกาย โดยรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมตามวัย และต้องออกกำลังกายเป็นประจำเพียงพอและเหมาะสมกับวัยของตัวเอง เรื่องของสุขภาพ สุขภาวะเป็นเรื่องส่วนตัวของทุกคน เราต้องเป็นหมอเองเพื่อดูแลตัวเราเอง จะแข็งแรงสมบูรณ์เพียงใด ย่อมเกิดจากผลของการกระทำ การปฏิบัติของตัวเราเอง ดังคำกลอนภาษิตที่ว่า “...ปราชญ์ว่ากรรมเองไซร้ ก่อสร้างมาเอง”

            ที่หมู่บ้านบริเวณเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ มีชาวบ้านพลัดตกเขาบ่อยครั้ง ผู้นำหมู่บ้านประชุมหารือกัน มีความเห็นแตกต่างกัน แล้วได้ข้อสรุป 2 ข้อ ข้อ 1. ให้รีบเร่งสร้างโรงพยาบาลเพื่อรองรับและรักษาชาวบ้านที่ตกเขา ข้อ 2. เสนอว่าควรสร้างแผงกำแพงเพื่อทำเป็นราวรั้วกั้นบริเวณริมผาป้องกันมิให้ชาวบ้านตกเขา ถามว่า แล้วเราจะเลือกวิธี “สามัญ” อย่างไร ในการแก้ปัญหานี้ ไม่มีคำว่าผิดหรือถูกครับ เพราะคำถามสำคัญกว่าคำตอบ อยู่ที่ว่าเราจะมีวิธีคิดอย่าง “สามัญ” อย่างไรเท่านั้นเอง