น้ำนมแม่ วัคซีนแรกของลูก
เมื่อกล่าวถึงวัคซีน หลายคนอาจจะคิดถึงการฉีดยาวัคซีนประเภทต่าง ๆ ที่ให้แก่เด็กทารก แต่มีวัคซีนจากธรรมชาติที่มีความสามารถในการกระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กทารกได้อย่างดีและปลอดภัยที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งวัคซีนนั้นก็คือ น้ำนมแม่ โดยในปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้มีการใช้น้ำนมแม่เลี้ยงเด็กทารกเพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งน้ำนมแม่ในช่วง 3-4 วันแรกหลังคลอด หรือที่เรียกว่า “หัวน้ำนม” เป็นน้ำนมที่มีระดับของสารภูมิคุ้มกัน และสารที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของทารกที่สูงมาก เปรียบเสมือนกับเป็น “วัคซีนหยดแรก” ดีกับทารกทุกคน ไม่ว่าจะคลอดมาปกติ หรือไม่ปกติ(1)
โดยน้ำนมแม่จะช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเกิดการพัฒนาลำไส้และอวัยวะต่าง ๆ ได้เต็มที่ ช่วยพัฒนาเนื้อเยื่อประสาทของสมอง ประสาทหู และจอรับภาพ จนไปสู่การพัฒนาสมอง นอกจากนั้นยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้โปรตีนนมวัว โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน หรือแม้แต่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะทารกที่ป่วยยิ่งต้องควรได้รับนมแม่ เพื่อให้ได้สารอาหารพร้อมภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรค สำหรับทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ทารกกลุ่มอาการดาวน์ ทารกมีปัญหาลิ้นติด และทารกคลอดแฝด ก็สามารถกินนมแม่ได้ ถึงจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกแยกแม่แยกลูกด้วยภาวะเจ็บป่วย ในความเป็นจริงทารกเหล่านี้ถ้าได้รับนมแม่จะยิ่งทำให้การซ่อมแซมเนื้อเยื่อดีขึ้น ลดโอกาสการติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้(1)
น้ำนมแม่ ถ้าแบ่งตามช่วงเวลาจะแบ่งเป็น 3 ประเภท(3-4) ได้แก่
1. Colostrum คือน้ำนมแม่ที่หลั่งออกวันแรก ๆ หลังคลอด มีลักษณะสีเหลืองและข้นกว่าน้ำนมปกติ มีความเข้มข้นของ Calcium, Potassium, Protein, Fat Soluble Vitamin, เกลือแร่ และภูมิต้านทาน สูงกว่าน้ำนมปกติ มีปริมาณ 100 ml ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด มีสารภูมิคุ้มกันในปริมาณสูง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อประมาณร้อยละ 10 ของการคลอด จากการศึกษาในปากีสถานและในสวีเดนพบว่า การให้น้ำนมแม่ในระยะแรกเกิดสามารถลดอัตราการเกิดภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด (neonatal sepsis) ได้ ในน้ำนมแม่จะมีสารภูมิคุ้มกันที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ secretary IgA, เม็ดเลือดขาว, ไลโซไซม์ (lysozyme เอนไซม์ที่มีฤทธิ์ย่อยสลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียทำให้เชื้อตาย), แลคโตเฟอริน (lactoferrin โปรตีนที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค) และ bifidus growth factor (สารที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของแล็กโตบาซิลัส ช่วยให้แบคทีเรียไม่สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้) ปริมาณของ secretary IgA จะมีระดับที่สูงมากในวันแรก ซึ่งสูงถึง 11,000 mg/day ถ้าเทียบกับระดับที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีระดับประมาณมากกว่าถึง 50 เท่า และจะค่อย ๆ ลดลงใน 1-2 สัปดาห์แรกสู่ระดับประมาณ 1,000 mg/day
2. Transitional milk คือน้ำนมในช่วงวันที่ 4-10 หลังคลอด เป็นนมที่อยู่ระหว่าง Colostrums และ Mature milk และมีปริมาณที่มากขึ้น เป็นระยะระหว่างการเปลี่ยนจากหัวน้ำนมแม่เป็นน้ำนมแม่ ซึ่งจะหลั่งในช่วง 7-10 วัน จนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด
3. Mature milk คือน้ำนมในช่วงประมาณวันที่ 10 หลังคลอด จนถึงช่วงสุดท้ายของการให้นมบุตร Mature milk ประกอบด้วย
ประโยชน์ของน้ำนมแม่
น้ำนมแม่มีกลไกในการป้องกันโรคแพ้อาหาร เนื่องจากการกินนมแม่ช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายจะได้รับ เช่น โปรตีนในนมวัว และในนมแม่มีภูมิคุ้มกันช่วยจับสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอาหาร ทำให้สารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของลูก(6)
จากงานวิจัยจากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า การกินนมแม่นอกจากจะทำให้ไม่ป่วยบ่อย ไม่เป็นโรคแพ้โปรตีนนมวัว และผลกระทบทางสุขภาพอื่น ๆ ในวัยเด็กแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพของเด็กเมื่อเติบโตด้วย
เด็กที่กินนมแม่จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย 3 โรค ได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่(7) คือ
1. ลดการเกิดโรคเบาหวานได้ 40% คือ ถ้ามีเด็กไม่ได้กินนมแม่และโตขึ้นเป็นเบาหวาน 100 คน ถ้าเปลี่ยนเด็กกลุ่มนี้มากินนมแม่ เมื่อโตขึ้นจะเป็นเบาหวานเพียง 60 คน
2. ลดการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ 20%
3. ลดการเกิดโรคอ้วนได้ 22% ซึ่งเป็นผลทำให้อาจช่วยลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และเส้นโลหิตอุดตันเมื่อสูงวัย
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าในน้ำนมแม่นั้น นอกจากจะมีสารอาหารที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการเติบโตของทารกอย่างมากแล้ว ยังมีสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันที่สำคัญโดยเฉพาะในช่วงแรก เปรียบเสมือนกับวัคซีนที่มีคุณค่าและมีความจำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพในอนาคต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการรณรงค์การให้น้ำนมแม่แทนอาหารทั้งหมดแก่ทารกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เด็กในอนาคตมีสุขภาพร่างกายที่ดีและแข็งแรง
เอกสารอ้างอิง