ภก.ชัยวัฒน์ สิงห์หิรัญนุสรณ์

ภก.ชัยวัฒน์ สิงห์หิรัญนุสรณ์

เภสัชกรระดับเชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท                         เภสัชกรผู้บุกเบิกงานบริหารให้เป็นวิชาการ

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug events) เกิดขึ้นได้ในทุกจุดของการให้บริการในโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นที่รอยต่อของการให้บริการประมาณ 20% มีสาเหตุมาจากการส่งต่อข้อมูลความคลาดเคลื่อนหรือไม่ครบถ้วน ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้กระบวนการ การประสานรายการยา (Medication Reconciliation) จะช่วยลดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ลดความคลาดเคลื่อน (medication error) ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาที่ควรได้รับอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับผลการรักษาได้ อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนปริมาณยาเหลือใช้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาจากยาเหลือใช้ลดลงด้วย

            หลายปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัดชัยนาทมีกระบวนการ Medication Reconciliation เข้ามาประเมินการใช้ยาของผู้ป่วย แต่กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มผู้ป่วยในเท่านั้น ซึ่งพบว่ากระบวนการดังกล่าว สามารถลดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug events) ในผู้ป่วยได้ และกลุ่มผู้ป่วยนอกโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยอีกกลุ่มที่น่าสนใจที่จะนำเข้าสู่กระบวนการ Medication Reconciliation เนื่องจากพบว่ากลุ่มโรคดังกล่าวยังคงมียาเหลือกลับมาโรงพยาบาลในรอบการนัดครั้งถัดไปเป็นจำนวนมาก อาจเพราะผู้ป่วยได้รับการรักษาในสถานพยาบาลหลายแห่ง เช่น ร้านยาโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วยตามมา ได้แก่ เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ได้รับยาที่เคยใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง ได้รับยาซ้ำซ้อนกับยาที่ผู้ป่วยซื้อรับประทานเอง ได้รับยาไม่ตรงตามขนาดที่แพทย์สั่ง ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับผลการรักษาได้ ฯลฯ

            ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2555 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท นำทีมโดย ภก.ชัยวัฒน์ สิงห์หิรัญนุสรณ์ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท จึงได้จัดทำ “โครงการเพื่อการพัฒนากระบวนการประสานรายการยาผู้ป่วยนอกโรคความดันโลหิตสูงของโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดชัยนาท” โดยเป้าหมายของการดำเนินโครงการนี้คือ ผู้ป่วยนอกในคลินิกโรคความดันโลหิตสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา, ลดความคลาดเคลื่อน (medication error) ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาที่ควรได้รับอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับผลการรักษาได้ อีกทั้งช่วยลดจำนวนปริมาณยาเหลือใช้ ค่าใช้จ่ายด้านยาจากยาเหลือใช้ลดลง และเพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่พิสูจน์ให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สามารถทำงานบริหารให้เป็นวิชาการได้อย่างดี ดังจะเห็นจากการได้รับรางวัลดีเด่นจากการประกวดผลงานวิชาการในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 23

            ภก.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขให้ฟังว่า ลักษณะงานที่รับผิดชอบจะมีอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเห็นบทบาทหน้าที่นี้ผ่านการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ 2. งานด้านเภสัชสาธารณสุข ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยเห็นบทบาทในด้านนี้ แต่จริง ๆ แล้วงานเภสัชสาธารณสุขมีงานที่รับผิดชอบมากมาย รวมถึงงานทางด้านวิชาการซึ่งเป็นการทำงานในภาพรวมของจังหวัด เนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขประจำจังหวัด โดยเป็นผู้รับนโยบายจากส่วนกลางมาแปลเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อถ่ายทอดสู่โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป 

            “ผมดูแลรับผิดชอบในทุกมิติ แต่ในความคิดผมอยากเปิดงานทางด้านเภสัชสาธารณสุขให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นงานเชิงวิชาชีพ และสร้างบทบาทของงานวิชาการได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักมองข้ามถึงบทบาทเภสัชสาธารณสุข จึงอยากแสดงให้ทุกคนรู้ว่า จริง ๆ แล้วสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสามารถทำในส่วนของงานวิชาการได้ โดยเราทำหน้าที่เป็นคนกลางทั้งในส่วนของสายงานบังคับบัญชาและสายงานประสานงานในเรื่องวิชาชีพ เราสามารถใช้ศักยภาพของเราจัดการได้”

            สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยเรื่องนี้ ภก.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เริ่มต้นแรงบันดาลใจจากการเห็นงานวิจัยของเภสัชชุมชนท่านหนึ่งที่ได้ทำวิจัยสำรวจยาตามบ้านและพบยาเหลือใช้จำนวนมาก จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจคิดว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสามารถวางระบบในการทำวิจัยได้ จึงอยากทำให้เห็นแบบเป็นรูปธรรม ทั้งนี้หลายปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัดชัยนาทมีกระบวนการ Medication Reconciliation เข้ามาใช้ประเมินการใช้ยาของผู้ป่วย แต่กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มผู้ป่วยในเท่านั้น ซึ่งพบว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถลดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (adverse drug events) ในผู้ป่วยได้ และพบว่ากลุ่มผู้ป่วยนอกโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจที่จะนำเข้าสู่กระบวนการ Medication Reconciliation เนื่องจากพบว่ากลุ่มผู้ป่วยนอกโรคเรื้อรังดังกล่าวยังคงมียาเหลือกลับมาโรงพยาบาลในรอบการนัดครั้งถัดไปเป็นจำนวนมาก อาจเพราะผู้ป่วยได้รับการรักษาในสถานพยาบาลหลายแห่ง ทำให้เกิดปัญหาส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วยตามมา ได้แก่ ผู้ป่วยไม่ได้รับยาที่เคยใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง ได้รับยาซ้ำซ้อนกับยาที่ผู้ป่วยซื้อรับประทานเอง ได้รับยาไม่ตรงตามขนาดที่แพทย์สั่ง ฯลฯ

“สิ่งที่ผมอยากสร้างให้เห็นคือ สร้างระบบการให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลชุมชนที่ใช้วิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้และรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิตสูงได้ดีมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของวิชาชีพที่เกิดประโยชน์และทำได้ดีกว่าวิชาชีพอื่น เพราะในเรื่องการใช้ยาเป็นหน้าที่ของเภสัชกรที่จะรู้ดีที่สุด งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของน้อง ๆ ในโรงพยาบาลชุมชนที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำเองไม่ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีหน้าที่ในการช่วยอำนวยการจัดการ จัดเวที ออกแบบระบบ ออกแบบการจัดการ สนับสนุนงบประมาณ นำผลงานที่ได้มาประเมินสรุป และนำเสนอให้กับพวกเขา สิ่งนี้คือบทบาทหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้าม และมองว่าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด คือการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นเพียงภารกิจหนึ่ง ผมจึงอยากเพิ่มเติมในส่วนนี้ให้เต็มขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีงานอีกมากมายและทำงานได้หลายอย่างมากที่เราต้องเปิดขึ้นมาในเชิงวิชาการ ซึ่งน้องแต่ละโรงพยาบาลเขาจะทำงานเป็นปัจเจก การที่เราจะสร้างอะไรที่เป็นการจัดการภาพรวมก็ต้องอาศัยโครงสร้างจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินงาน เป็นเครือข่ายสั่งการ และเก็บข้อมูลได้”

            สุดท้ายนี้ ภก.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงคติในการทำงานว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามต้องมีความตั้งใจ ทุ่มเททำให้สำเร็จ นอกจากนี้ในการบริหารคน อันดับแรกคือ การให้ใจ ทั้งนี้งานทุกอย่างผมจะช่วยทำให้ตลอด รวมถึงเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถ เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ดูแลทุก ๆ คน เนื่องจากส่วนใหญ่มาจากสายวิชาชีพเดียวกันจึงเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง อะไรที่เราพอจะช่วยได้ในฐานะพี่ใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดเราก็ต้องให้ ต้องช่วยเหลือ เขาก็จะกลายเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งกว่าที่จะทำงานวิจัยชิ้นนี้ออกมาได้สำเร็จก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนที่ต้องทำงานเหนื่อยมากขึ้น แต่ท้ายที่สุด ทุกคนก็จะเห็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ โดยเรามีหน้าที่ส่งผลสำเร็จนี้กลับคืนสู่เขา           

“วิชาชีพเภสัชเป็นวิชาชีพที่เมื่อจบมาแล้วสามารถทำงานได้หลายมิติ ผมภูมิใจในวิชาชีพที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง” ภก.ชัยวัฒน์ กล่าวย้ำด้วยความภูมิใจ