ยาที่มีผลต่อสุขภาพช่องปากและฟัน

ยาที่มีผลต่อสุขภาพช่องปากและฟัน

            ในบางครั้งความรู้สึกและพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในช่องปากเรานั้นจะรู้สึกแปลก ๆ ไป เช่น ปากแห้งคอแห้ง การรู้รสชาติเปลี่ยนไป รับประทานอาหารไม่อร่อย ขมคอ เป็นต้น สุขภาพและการรับรสในช่องปาก เลือดออกตามไรฟัน เหล่านี้บางครั้งเกิดจากการใช้ยาของเราเอง ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ เภสัชกร ย่อมมีโอกาสซักถามขอข้อมูลจากผู้ป่วยหรือผู้ใช้ยาอยู่บ่อย ๆ โดยกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นสามารถสรุปเบื้องต้นเป็นกลุ่มอาการ ดังนี้

กลุ่มยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด(1) ที่พบในผู้ที่มาทำฟันที่ใช้กันมากคือ aspirin และยาป้องกันการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น heparin หรือ warfarin ป้องกันเส้นเลือดอุดตัน  Stroke หรือโรคหัวใจ กลุ่มยาเหล่านี้ช่วยป้องกันเลือดแข็งตัว จึงทำให้มีผลต่อการผ่าตัดเพราะเลือดจะไหลไม่หยุดบริเวณแผลผ่าตัด เช่น การถอนฟัน ผ่าฟันคุด ผ่าตัดเหงือก แม้กระทั่งการขูดหินปูน หากไม่หยุดยาก่อนมาผ่าตัด ผลคือ เลือดจะไหลเรื่อย ๆ ไม่หยุดสักที ทำให้หลังผ่าตัดต้องมาแก้ปัญหาเลือดไหลไม่หยุดซึ่งจะยุ่งยากมาก และรวมถึงการขาดวิตามินซีที่ทำให้เกิดเลือดออกตามไรฟัน

         กลุ่มยาที่มีผลกับการรับรส(1) ยาบางตัวทำให้การรับรสเปลี่ยนไป เช่น พอรับยาเหล่านี้จะรู้สึกขมลิ้น หรือเหมือนมีรสของโลหะ หรือประสิทธิภาพการรับรสเสียไป กลุ่มยาพวกนี้ ได้แก่

  • ยาพ่นต่าง ๆ ที่ใช้ในโรคหอบหืด เช่น ยาพ่นที่เป็นสเตียรอยด์
  • ยาหยุดบุหรี่ เช่น potassium nitrate ที่ออกฤทธิ์ทำให้การรับรสที่ลิ้นเปลี่ยนไป(2)
  • ยารักษาโรคหัวใจ
  • ยากระตุ้นระบบประสาท

         ยาที่มีผลต่อเหงือก(1) ยาบางตัวทำให้เหงือกบวมขยายใหญ่ เช่น ยาป้องกันการชัก phenytoin ยาที่ใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เมื่อเหงือกบวมขยายใหญ่เศษอาหารจะติดง่าย ทำให้มีปัญหาเหงือกและฟันตามมา เราต้องให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดฟัน และควบคุมให้สุขภาพในช่องปากสะอาดอยู่เสมอ

         ยาที่มีผลต่อเยื่อบุในช่องปาก(1) ยาที่ใช้ควบคุมความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงเหล่านี้มีผลต่อเยื่อบุในช่องปาก อาจทำให้เกิดแผลในช่องปากง่ายขึ้น มีการอักเสบ หรือมีการเปลี่ยนสีของเยื่อบุในช่องปาก การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอจะช่วยลดอาการปวดที่เกิดจากแผลในช่องปากและอาการอักเสบได้

         ยาที่ทำให้ปากแห้ง(1,3) การใช้ยาแล้วมีอาการปากแห้ง แม้ว่าจะเป็นยาที่ซื้อโดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ก็ตาม โดยยาที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปากแห้ง(3) เช่น

  • ยาแก้แพ้
  • ยาลดน้ำมูก
  • ยาแก้ปวด
  • ยาขับปัสสาวะ
  • ยาลดความดันโลหิต
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยารักษา Parkinson's disease
  • ยารักษาภาวะซึมเศร้า

            เมื่อภายในช่องปากมีน้ำลายลดลง ปากจะแห้ง รู้สึกไม่สบาย อาจเกิดแผลในช่องปากบ่อยขึ้น มีอาการอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องเพิ่มการรักษาสุขภาพในช่องปากให้มากขึ้น

            ยาที่มีผลต่อฟัน(1,4) เช่น ฟันผุ ฟันเป็นกระ หรือเป็นคราบ

  • ยาปฏิชีวนะ: ยาชนิดหนึ่งที่อาจทำให้ฟันของคุณเป็นคราบคือ เตตร้าซัยคลิน เตตร้าซัยคลินเป็นยาปฏิชีวนะที่มีสรรพคุณหลายอย่าง จึงมีการนำมาใช้รักษาอาการต่าง ๆ มากมาย รวมถึงรักษาสิวด้วย เด็กเล็กและสตรีตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ คุณแม่ที่กำลังให้นมทารกหรือว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยาเตตร้าซัยคลินในระหว่างตั้งครรภ์ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากยาชนิดนี้จะส่งผลต่อลักษณะฟันของทารกในอนาคต
  • สารต้านฮิสทามีน: สารต้านฮิสทามีนช่วยบรรเทาอาการแพ้และไข้ละอองฟาง แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจทำให้ฟันเปลี่ยนสีได้เช่นกัน ถึงแม้ว่ายาประเภทสารต้านฮิสทามีนช่วยบรรเทาอาการคันและน้ำมูกไหล แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้ฟันเป็นคราบได้
  • ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง: ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งตัวยับยั้งแองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (ACE), แคลเซียม แชนแนล บล็อกเกอร์, เบต้า บล็อกเกอร์, ยาเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ และยาขับปัสสาวะ อาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้ปากแห้ง ภาวะปากแห้งทำให้การกลืนและการย่อยอาหารทำได้ลำบาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุและฟันเป็นคราบได้
  • ฟลูออไรด์(5): การได้รับฟลูออไรด์ในขนาดที่เกินกว่าขนาดที่สมควรจะได้รับเป็นระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการที่แสดงออก ได้แก่ ฟันตกกระ
  • น้ำตาลที่มากับยา: มียาหลายตัวที่มีน้ำเชื่อมผสมเพื่อให้เด็กรับประทานยาง่ายขึ้น น้ำตาลที่มากับยาทำให้ฟันผุได้ แต่เรามักมองข้ามไป การใช้ยาเหล่านี้นาน ๆ เท่ากับเรารับประทานน้ำตาลเป็นประจำ เช่น ยาแก้ไอ วิตามิน น้ำตาลคือตัวที่ทำให้ฟันผุได้ง่าย ดังนั้น เมื่อรับประทานแล้วก็ต้องบ้วนน้ำหรือแปรงฟัน อย่าให้มีน้ำตาลค้างในปากสัมผัสกับฟันเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะการรับประทานยาก่อนนอนอย่าลืมบ้วนน้ำตาม

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ยาและสารที่เป็นองค์ประกอบของยาที่ผู้ป่วยรับประทานกันอยู่นั้นมีหลายตัวที่มีผลข้างเคียงต่อช่องปาก ซึ่งในบางครั้งอาจมีผู้ป่วยมาปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาในช่องปาก ซึ่งเขาอาจคิดไม่ถึงว่าอาจเกิดจากยาที่รับประทานกันอยู่ทั้งตามที่แพทย์สั่งหรือซื้อรับประทานเอง หวังว่าข้อมูลที่กล่าวคงจะเป็นประโยชน์ในการใช้ซักประวัติเพื่อหาสาเหตุเบื้องต้นสำหรับเภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ยา...กับสุขภาพในช่องปาก. http://www.islammore.com/view/492
  2. เลิกบุหรี่เป็นเรื่องยาก...แต่เลิกได้. http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-general/cigarettes/2160-2012-06-13-06-54-09.html
  3. การใช้ยาบางชนิดมีผลต่อสุขภาพปากและฟันหรือไม่. http://www.colgate.co.th/app/CP/TH/TH/OC/Information/Articles/Oral-and-Dental-Health-Basics/Common-Concerns/Dry-Mouth/article/Can-Medications-Have-an-Effect-on-My-Oral-Health.cvsp
  4. ยาที่ทำให้ฟันเป็นคราบ. http://www.colgate.co.th/app/AsiaEquity/TH/whitening/article/Medicine_wh.cvsp
  5. นราวัลภ์ เชี่ยววิทย์. ฟลูออไรด์. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=91