กฏหมายใหม่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ตอนที่ 1

กฎหมายใหม่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ตอนที่ 1

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            เดิมกฎหมายที่ใช้สำหรับการควบคุมเครื่องสำอางนั้นคือ พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558 จนกระทั่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

            สาระสำคัญของการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงนิยาม “เครื่องสำอาง” ให้มีความชัดเจน ตลอดจนกำหนดนิยามศัพท์หลายประการ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลเครื่องสำอางเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุ หลักเกณฑ์ วิธีการผลิต วิธีการนำเข้า หรือวิธีการเก็บรักษา วิธีการรายงานอาการที่ไม่พึงประสงค์ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางต้องจัดให้มีไว้เพื่อการตรวจสอบ การกำหนดอายุของใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง และข้อยกเว้นสำหรับเครื่องสำอางที่ไม่ต้องจดแจ้ง การห้ามขายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้ตามที่ได้แสดงไว้ในฉลาก การคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณาเครื่องสำอางโดยมีหมวดการโฆษณาไว้โดยเฉพาะจากเดิมที่ต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

1. เครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 คืออะไร

            พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 4 มีการปรับปรุงนิยามเครื่องสำอางใหม่ โดยกำหนดนิยาม “เครื่องสำอาง” หมายความว่า

            (1) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่าง ๆ นั้นให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นต่าง ๆ สำหรับผิวด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย

            (2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ

            (3) วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง

            เหตุผลในการปรับปรุงนิยามในครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติเครื่องสำอางแห่งอาเซียน อีกทั้งการเพิ่มกรณีรายละเอียด “ส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจำแนกเครื่องสำอางออกจากผลิตภัณฑ์อื่น เช่น อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์

2. ประเภทของเครื่องสำอาง

            เดิมพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 แบ่งประเภทของเครื่องสำอางเป็น 3 ประเภท คือ (1) เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่ต้องได้ขึ้นทะเบียน (2) เครื่องสำอางควบคุม ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่ต้องจดแจ้ง และ (3) เครื่องสำอางทั่วไป ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่ไม่เข้าเงื่อนไขเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ หรือเครื่องสำอางควบคุม แต่ในทางปฏิบัติเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้มีการกำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุมเท่านั้น[1] ส่งผลให้ลดระดับการควบคุมจากเครื่องสำอางควบคุมพิเศษมาเป็นเครื่องสำอางควบคุม และยกระดับจากเครื่องสำอางทั่วไปเป็นเครื่องสำอางควบคุม ทำให้มีระดับการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น เมื่อเป็นเครื่องสำอางควบคุมจะต้องมีการแจ้งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553[2] แต่ก็มีการให้ยื่นคำขอผ่านอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา

            ส่วนพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ก็ยังคงประเภทของเครื่องสำอางเพียงเครื่องสำอางที่ต้องจดแจ้งเท่านั้น

3. การผลิต การนำเข้าเครื่องสำอาง

            ผู้ใดประสงค์จะผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง ต้องจดแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อผู้รับจดแจ้ง และเมื่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้วจึงจะผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 14 โดยให้การจดแจ้งและการออกใบรับแจ้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

            ผู้จดแจ้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต นำเข้า หรือการรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดในประเด็นดังต่อไปนี้

 - ลักษณะสถานที่ผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์การผลิต ภาชนะบรรจุเครื่องสำอาง และสถานที่นำเข้าเครื่องสำอาง

 - หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอาง

 - หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับแจ้งและการรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้เครื่องสำอาง

 - หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย หรือผู้รับจ้างผลิตจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอางไว้เพื่อการตรวจสอบ

ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อจัดนิทรรศการ หรือเพื่อใช้ในการศึกษา วิจัย หรือวิเคราะห์ทางวิชาการ ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบจดแจ้งสำหรับเครื่องสำอาง แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด[3] ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 16

            พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 94 กำหนดให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และต้องดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้

            ปัจจุบัน (วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559) เมื่อยังไม่มีการกำหนดวิธีการแจ้งและการออกใบรับแจ้งตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 จึงยังคงใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553[4] ส่วนแบบแจ้งรายละเอียดในปัจจุบันให้ปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดแบบแจ้งรายละเอียดการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2557[5]

            ด้านการนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อขาย มีมาตรการที่เกิดขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 25 คือ ต้องผ่านการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง

4. การส่งออกเครื่องสำอาง

            พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 35 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการส่งออกเครื่องสำอาง โดยกรณีส่งออกเครื่องสำอางนี้ได้กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อการส่งออก โดยเครื่องสำอางนั้นจะมีคุณภาพ มาตรฐาน ฉลาก หรือรายละเอียดอื่น ๆ เป็นตามที่ผู้สั่งซื้อกำหนดก็ได้

            นอกจากนี้ต้องจดแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อผู้รับจดแจ้ง และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

            ทั้งนี้ห้ามมิให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องสำอางเพื่อการส่งออกขายเครื่องสำอางดังกล่าวในราชอาณาจักร

5. ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางมีอายุเท่าใด

            เดิมพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ตลอดจนกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องอายุใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง แต่พระราชบัญญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 15 กำหนดให้ใบรับจดแจ้งมีอายุ 3 ปี นับแต่วันที่ออกใบรับจดแจ้ง ส่วนผู้ได้ใบรับจดแจ้งก่อนพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558) ให้ใช้ต่อไปได้อีก 3 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ตามมาตรา 93 ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561

            กรณีที่ผู้จดแจ้งประสงค์จะขอต่ออายุใบรับจดแจ้ง ให้ยื่นคำขอก่อนวันที่ใบรับจดแจ้งสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอและชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุพร้อมกับการยื่นคำขอแล้ว ให้ใบรับจดแจ้งนั้นใช้ได้ต่อไปจนกว่าผู้รับจดแจ้งจะสั่งไม่ให้ต่ออายุใบรับจดแจ้งนั้น โดยการขอต่ออายุใบรับจดแจ้ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

            ผู้จดแจ้งซึ่งใบรับจดแจ้งของตนสิ้นอายุไม่เกิน 1 เดือน จะยื่นคำขอต่ออายุและขอผ่อนผันโดยแสดงเหตุผลในการที่มิได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในกำหนด พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุก็ได้ แต่การขอผ่อนผันไม่เป็นเหตุให้พ้นผิดตามมาตรา 64 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับรายวัน วันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ยื่นคำขอต่ออายุใบรับจดแจ้ง

6. ฉลากเครื่องสำอางต้องระบุอะไรบ้าง

            พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 22 วรรคสอง (3) กำหนดให้ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางต้องจัดให้มีฉลาก ซึ่งได้มีการกำหนดข้อความที่ต้องระบุ ลักษณะข้อความอื่น และภาษาที่ใช้ในเครื่องสำอาง ดังนี้

         6.1 ข้อความที่ต้องระบุ

                        (1) ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า

                        (2) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีที่ผลิตในประเทศ ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีที่นำเข้า

                        (3) ปริมาณ

                        (4) วิธีใช้

                        (5) ข้อแนะนำ

                        (6) คำเตือน

                        (7) เดือน ปีที่ผลิต

                        (8) เดือน ปีที่หมดอายุ[6]

                        (9) เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต

                        (10) ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต

                        (11) ข้อความอื่นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

            กรณีเลขทะเบียนจดแจ้งเครื่องสำอางนั้น เคยมีการอภิปรายว่าระบบของอาเซียนไม่จำเป็นต้องระบุให้ปรากฏในฉลาก แต่ประเทศไทยต้องระบุหมายเลขทะเบียนการจดแจ้งไว้ในฉลากด้วย[7] และผู้ประกอบการเครื่องสำอางมีความเห็นว่าการระบุเลขที่ใบรับจดแจ้งไว้ในฉลากเครื่องสำอางเป็นปัญหาและอุปสรรคในการผลิต เนื่องจากการทำบรรจุภัณฑ์และฉลากต้องดำเนินการก่อนการผลิตเครื่องสำอางนาน 3-4 เดือน เพื่อให้สามารถบรรจุได้ทันทีเมื่อผลิตเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรลดอุปสรรคในประเด็นเลขที่รับแจ้ง[8]

         6.2 ลักษณะข้อความอื่น

            ใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริง ไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง และไม่ใช้ข้อความที่ขัดต่อศีลธรรม หรือวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

            กรณีที่เครื่องสำอางนั้นใช้ชื่อฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง หรือแสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง จะถือว่าเป็นเครื่องสำอางปลอมด้วย

         6.3 ภาษาที่ใช้ในฉลากเครื่องสำอาง

            ใช้ข้อความภาษาไทย และมีขนาดที่สามารถอ่านได้ชัดเจน และอาจมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ สำหรับเครื่องสำอางที่นำเข้าเพื่อขายให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำฉลากภาษาไทยที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อในขณะนำเข้าที่ด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง แต่ต้องจัดทำฉลากเป็นภาษาไทยก่อนขาย

            ผู้จดแจ้งผู้ใดสงสัยว่าฉลากของตนจะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 22 ผู้จดแจ้งผู้นั้นอาจขอให้คณะกรรมการเครื่องสำอางให้ความเห็นเกี่ยวกับฉลากที่ประสงค์จะใช้นั้นได้ ทั้งนี้คณะกรรมการเครื่องสำอางจะต้องให้ความเห็นและแจ้งให้ผู้ขอทราบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับคำขอ ถ้าไม่แจ้งภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคณะกรรมการให้ความเห็นชอบแล้ว และมีอัตราค่าธรรมเนียมในการขอความเห็นด้วย ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 24 ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แต่กฎหมายใหม่นี้ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการเครื่องสำอาง เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ         

เอกสารอ้างอิง

พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553

กระทรวงสาธารณสุข. หนังสือด่วนที่สุดที่ สธ 1007/3993 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

กลุ่มงานคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5. สรุปผลการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

กลุ่มงานคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5. สรุปผลการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 12 วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2

สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ). เอกสารบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2558 วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558 (อ.พ. 7/2558)

[1]

                  [1] เนื่องจากมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกการกำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 25 กันยายน พ.ศ. 2551) ได้ยกเลิกการกำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ และให้เครื่องสำอางควบคุมพิเศษที่ได้รับทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551) ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางควบคุมที่ได้รับการจดแจ้งแล้ว และได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดเครื่องสำอางควบคุม (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 25 กันยายน พ.ศ. 2551) ให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม

 

[2]

                  [2] เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ โดยที่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยแผนการปรับกฎระเบียบเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันแห่งอาเซียน (Agreement on the ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme) ที่จะปรับกฎระเบียบด้านเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมให้สอดคล้องกับแบบการแจ้ง ตามที่คณะกรรมการเครื่องสำอางอาเซียน (ASEAN Cosmetic Committee) กำหนด และเนื่องจากมาตรา 28 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 กำหนดให้การแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

[3]

                  [3] เดิมพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 กำหนดให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัว

[4]

                  [4] ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/036/15.PDF

[5]

                  [5] ประกาศฉบับนี้ใช้แทนประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดแบบแจ้งรายละเอียดการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2556 โดยรายละเอียดที่ต้องแจ้ง เช่น ชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง ประเภทของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จุดประสงค์ของการใช้ วิธีใช้ ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์และภาชนะบรรจุ รูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รายละเอียดของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้เปลี่ยนภาชนะบรรจุเครื่องสำอาง รายละเอียดของผู้รับผิดชอบที่วางตลาดในประเทศ รายการสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (โดยระบุหรือแนบสูตรแสดงชื่อสารทุกตัวที่ใช้เป็นส่วนประกอบพร้อมปริมาณของสารสำคัญ แต่คำว่า “สารสำคัญ” ตามประกาศฉบับนี้ หมายถึง สารที่กำหนดอัตราส่วนสูงสุดที่ให้ใช้ ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง โดยแบบแจ้งรายละเอียดแบบใหม่นี้ตัดการแจ้งเรื่องภาพผลิตภัณฑ์และขนาดบรรจุออกไป ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/239/5.PDF

[6]

                  [6] ฉลากกำหนดให้ระบุเดือน ปี ที่หมดอายุ เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ เดิมพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ไม่ได้กำหนดไว้ในระดับพระราชบัญญัติ แต่มีประกาศกำหนดซึ่งไม่ใช่ข้อความบังคับในฉลากเครื่องสำอาง โดยให้แสดงเฉพาะกรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน ได้แก่ เครื่องสำอางที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) แต่ถ้าพิจารณาพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558  หากผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มีฉลากที่ฉลากไม่ระบุเดือน ปีที่หมดอายุ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 32(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 68 วรรคสอง อีกทั้งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 32(6) กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้ตามที่แสดงไว้ในฉลาก หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 79 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอาง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ตามมาตรา 79 วรรคสอง

[7]

                  [7] สรุปผลการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

[8]

                  [8] สรุปผลการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 12 วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558