ศ.เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช มโนสร้อย และ ศ.เกียรติคุณ ดร.ภญ.อรัญญา มโนสร้อย ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียม ยกมาตรฐานสมุนไพรไทย จากงานวิจัยบนหิ้งสู่ห้าง

.เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช มโนสร้อย และ ศ.เกียรติคุณ ดร.ภญ.อรัญญา มโนสร้อย ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียม ยกมาตรฐานสมุนไพรไทย จากงานวิจัยบนหิ้งสู่ห้าง

อาการขาดน้ำลาย (xerostomia) เป็นอาการข้างเคียงที่พบในผู้ป่วยมะเร็งจากการใช้ยาหรือฉายรังสี และพบในผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยทั่วไปต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เองและมีราคาค่อนข้างสูง (66.39 บาท/มิลลิลิตร) ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เตรียมจากสารเคมีหรือส่วนประกอบของเมือกที่ได้จากสัตว์ที่มักมีปัญหาในการยอมรับของผู้บริโภค ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรจำนวนมากที่มีเมือกซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่เทียบเคียงหรือดีกว่าน้ำลายธรรมชาติได้

            จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญและความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาสมุนไพรไทย รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยของโรคแล้ว คุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ของเขาเหล่านั้น แม้แต่การรับประทานอาหารก็ยังต้องทรมานจากการกลืนที่ลำบาก การมีผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมจึงเปรียบเสมือนการมาช่วยชดเชยให้วิถีชีวิตของเขาเหล่านั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นเหมือนอย่างที่เคยเป็น เพื่อเป็นการช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตของเขาให้ดีขึ้นได้ สิ่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ .เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช มโนสร้อย ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์/ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หัวหน้าโครงการวิจัย) และคณะผู้วิจัย ซึ่งได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.ภญ.อรัญญา มโนสร้อย ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์/ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการวิจัย), อ.ทพ.วิชพงศ์ อิศรางพร ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเซียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.ทพญ.เกษรา ปัทมพันธุ์ ภาควิชาทันตกรรมบูรณะและปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมสำหรับผู้ป่วยขาดน้ำลายขึ้น โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ สกว. (Thailand Research Fund: TRF)-SME เป็นผู้ให้ทุนวิจัย และ ดร.บังอร เกียรติธนากร โดยบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด (TCFF) เป็นผู้ร่วมให้ทุนแก่ สกว.

            ศ.เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช และ .เกียรติคุณ ดร.ภญ.อรัญญา ได้ร่วมกันกล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานวิจัยผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมให้ฟังว่า ได้คัดเลือกพืชหรือสมุนไพรไทยจำนวน 23 ชนิด มาเตรียมเป็นสารสกัดด้วยวิธีการต่าง ๆ มากกว่า 20 วิธี ได้สารสกัดมากกว่า 100 ตัวอย่าง แล้วนำสารสกัดมาวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีและศึกษาสมบัติต่าง ๆ จากนั้นคัดเลือกสารสกัดที่มีคุณสมบัติดีที่สุดไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียม และศึกษาลักษณะทางกายภาพ รวมทั้งฤทธิ์ทางชีวภาพต่าง ๆ ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน และฤทธิ์ลดการเกาะของเชื้อจุลินทรีย์ ทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันในหนูทดลอง ตลอดจนศึกษาการยอมรับในอาสาสมัคร และจัดทำ Specification ของสารสกัดและผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่พัฒนาได้

ผลงานวิจัยนี้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมจากสารสกัดกระเจี๊ยบเขียว ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านไทยที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร สารสกัดกระเจี๊ยบเขียวมีสมบัติการไหลแบบ Non-Newtonian ชนิด Pseudoplastic ที่เหมือนน้ำลายธรรมชาติและที่ความเข้มข้นต่ำให้ความหนืด 9 cP ซึ่งเท่ากับน้ำลายธรรมชาติ มีค่าการทำให้เปียกเท่ากับ 4.53 ± 0.56 นาที ซึ่งดีกว่าน้ำลายธรรมชาติ (10.88 นาที) และมีฤทธิ์ทางชีวภาพต่าง ๆ สารสกัดไม่มีพิษต่อเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของเหงือกและไม่เป็นพิษต่อสัตว์ทดลองโดยการกินทั้งแบบเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลัน สารสกัดมีต้นทุน 91.40 บาท/กรัมของสารสกัด ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่มีส่วนผสมของสารสกัดมีค่าความเป็นกรด-ด่างเท่ากับ 7.38 มีความหนืดเท่ากับ 9.5 cP และมีสมบัติการไหลแบบ Non-Newtonian ชนิด Pseudoplastic เช่นเดียวกับน้ำลายธรรมชาติ มีค่าการทำให้เปียกเท่ากับ 5.06 ± 0.81 นาที ซึ่งมีค่า 2.15 เท่า เร็วกว่าน้ำลายธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทางชีวภาพต่าง ๆ ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของเหงือก มีฤทธิ์ต้านการยึดเกาะอนุภาค hydroxyapatite ของเชื้อ Streptococcus mutans ที่เป็นสาเหตุทำให้ฟันผุ ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่พัฒนาได้มีความคงตัวสูงเมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 4 ± 2, 2.5 ± 2 และ 4.5 ± 2 °C นาน 3 เดือน มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปากและคอแห้ง ตลอดจนอาการเจ็บปวดในช่องปากและลิ้นในอาสาสมัครเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่มีจำหน่ายในท้องตลาดซึ่งพบว่าได้ผลไม่แตกต่างกัน และสามารถบรรเทาอาการปากและคอแห้ง รวมทั้งอาการเจ็บปวดในช่องปากและลิ้นดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่พัฒนาได้มีต้นทุนเท่ากับ 0.36 บาท/มิลลิลิตร ซึ่งต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ 8.00-184.42 เท่า (2.88-66.39 บาท/มิลลิลิตร) การวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจพบว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมจากสารสกัดกระเจี๊ยบเขียวมีความเป็นไปได้ในด้านการตลาด เทคนิค การจัดการ การเงิน และผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจและสังคม

ผลงานวิจัยนี้ได้นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติและตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวน 2 เรื่อง รวมทั้งได้จดสิทธิบัตรจำนวน 1 เรื่องกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของ Colgate Research Award 2012 ในการประกวดผลงานวิจัยทาง Basic Sciences ในการประชุมวิชาการของทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้แผนธุรกิจของผลงานวิจัยน้ำลายเทียมนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในโครงการเส้นทางนวัตวณิชย์ (Research to Market: R2M 2015) ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในประการสำคัญ ผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศผลงานวิจัยดีเด่นทางด้านวิชาการ ประจำปี พ.ศ. 2558 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ซึ่งมอบรางวัลโดย พล.อ.อ.ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด ผู้ร่วมทุนของโครงการวิจัยนี้ ยังได้ศึกษาและทดลองตลาดของผลิตภัณฑ์แล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมนี้มีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายต่อไป

            สำหรับจุดเด่นของผลงานวิจัยนี้ อาจารย์ทั้ง 2 ท่านกล่าวว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในเชิงพาณิชย์ของสารสกัดจากสมุนไพรพื้นบ้านของไทยในการนำมาพัฒนาเป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมสำหรับใช้ในผู้ป่วยขาดน้ำลาย ซึ่งนอกจากได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของพืชสมุนไพรไทยที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมจากต่างประเทศที่มีราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบราคากับผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด น้ำลายเทียมที่ผลิตได้มีราคาต่ำกว่า 8-180 เท่า โดยน้ำลายเทียมที่ได้จากการวิจัยและพัฒนานี้ถือเป็นนวัตกรรมแรกของโลก นอกจากนี้ผลงานวิจัยจากสารสกัดกระเจี๊ยบเขียวและสารสกัดจากพืชอื่นที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพต่าง ๆ ก็ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีก เช่น เป็นสารหล่อลื่นในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถุงยางอนามัย และยังสามารถนำสารสกัดที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในเครื่องสำอางและอาหารเสริมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กว่าที่งานวิจัยจะสำเร็จออกมาให้ทุกคนได้รู้จักนั้น .เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช กล่าวว่า ท่านและคณะผู้วิจัยใช้เวลาในการทำวิจัยนาน 1 ปี 6 เดือน ความยากของงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ตรงความคิดที่ว่าเราจะเลือกพืชใดมาศึกษาบ้าง และการที่จะบอกว่าเป็นน้ำลายเทียมได้หรือไม่จะต้องศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ อะไรบ้าง ทั้งนี้จากที่ค้นคว้าและทำวิจัยมายังไม่เคยทราบว่ามีนักวิจัยกลุ่มไหนที่ทำวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรใช้เป็นน้ำลายเทียมที่ทำวิจัยที่ครอบคลุมและละเอียดสมบูรณ์แบบเท่านี้ ส่วนใหญ่จะคิดแค่ว่ามีพืชตัวไหนที่มีความลื่น แต่ไม่มีใครคิดจนถึงว่าเมื่อเคี้ยวแล้วความหนืดต้องลดลงเหมือนน้ำลายตามธรรมชาติและลื่นคอ ผลงานจากโครงการนี้จึงเป็นผลงานที่ .เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช และผู้ร่วมวิจัยทุกท่านภูมิใจมากที่สุดโครงการหนึ่งตั้งแต่ทำวิจัยมา เพราะทำด้วยความสนุกและอยากรู้ แม้เงินทุนสนับสนุนในการทำวิจัยจะไม่มาก โดยงบประมาณแม้ไม่พอเพียงในการศึกษาให้ครบถ้วนครอบคลุมสมบูรณ์จนถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้ ในบางครั้ง .เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช ต้องใช้งบประมาณส่วนตัวมาสนับสนุนเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังพบปัญหาและอุปสรรคด้วย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เฉพาะแค่ปัญหาทางวิชาการเท่านั้น แต่เป็นปัญหาอื่น เช่น ในเรื่องของการบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องใด .เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช เห็นว่าเราจะต้องมองที่เป้าหมายเป็นหลัก จากนั้นจึงค่อย ๆ แก้ไขปัญหาไปทีละเปลาะ เนื่องจากท่านเห็นว่าทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไข ซึ่งตัวเราเองก็รู้เฉพาะบางจุดเท่านั้น จึงต้องอาศัยความรู้จากคนอื่น ๆ ด้วย เช่น อาจารย์หลาย ๆ ท่านที่ร่วมทำวิจัย แต่ละท่านต่างก็มีความรู้ความชำนาญในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการทำงานวิจัยที่ได้ผลดี มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง จึงต้องทำงานเป็นทีมและเป็นงานวิจัยแบบสหสาขา

            ศ.เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงหัวใจสำคัญของการทำวิจัยให้ฟังว่า การทำวิจัยต้องมีใจรัก และคิดต่าง ซึ่งถึงแม้ว่าตอนแรกคนอื่นอาจจะไม่ค่อยยอมรับ เนื่องจากอาจใหม่เกินไปสำหรับเขา รวมทั้งเขาเหล่านั้นอาจอยู่ห่างไกลจากปัญหาที่เราทำวิจัย ตลอดจนเขาเหล่านั้นมีความคิดที่ต่างจากเรา แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเราพยายามและเดินหน้าต่อไป เราก็จะประสบความสำเร็จได้ ที่สำคัญเราจะต้องมีความวิริยะ อุตสาหะ มุ่งมั่น และไม่ละความพยายาม โดยเฉพาะเวลาที่ประสบกับปัญหา จะต้องหาวิธีแก้ปัญหาซึ่งทุกอย่างล้วนมีทางแก้ไข ไม่เช่นนั้นงานก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ

นอกจากนี้ .เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช และ .เกียรติคุณ ดร.ภญ.อรัญญา ยังได้แนะนำถึงเคล็ดลับของการสร้างผลงานวิจัยให้เป็นจากหิ้งไปสู่ห้างได้ว่า ลักษณะของงานวิจัยมี 2 ประเภทคือ งานวิจัยพื้นฐาน (basic research) และงานวิจัยเชิงประยุกต์ (applied research) ซึ่งงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยประยุกต์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งงานวิจัยพื้นฐานก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานจะสามารถนำมาช่วยสนับสนุนการวิจัยเชิงประยุกต์ได้ ดังนั้น การทำวิจัยจะต้องมีทั้ง 2 ประเภทควบคู่กันไป นอกจากนี้การที่เราจะทำวิจัยไม่ให้ขึ้นหิ้งจะต้องดูด้วยว่าสังคมและผู้บริโภคต้องการอะไร การทำวิจัยเพียงแค่เราอยากรู้อยากเห็นอย่างเดียวจะไม่เพียงพอ เราต้องทำตามความต้องการของสังคมและของผู้บริโภคด้วย ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงให้มากเพื่อให้งานวิจัยของเราไม่อยู่เฉพาะบนหิ้ง

            ศ.เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช และ .เกียรติคุณ ดร.ภญ.อรัญญา ยังได้กล่าวถึงความตั้งใจในการทำงานวิจัยว่า อยากทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาของไทยต่อไป โดยจะนำสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่า อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้พัฒนา ฐานข้อมูล มโนสร้อย (MANOSROI) III ที่ได้รวบรวมตำรายาสมุนไพรไทยต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ โดยครอบคลุมทั้งสมุนไพรและตำรับยาสมุนไพรสำหรับอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง และยา ซึ่งเมื่อจัดทำฐานข้อมูลนี้เสร็จสิ้นแล้วคาดว่าจะมีตำรับยาสมุนไพรถึง 200,000 ตำรับ โดยเฉพาะยาต้านมะเร็งซึ่งมีมากกว่า 800 ตำรับ ฐานข้อมูลนี้มีโปรแกรมที่จะสามารถคัดเลือกตำรับยาสมุนไพรและสมุนไพรในตำรับที่มีศักยภาพ แล้วนำมาทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิธีลัด สะดวก และรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องไปเลือกสุ่มจากตำรับยาสมุนไพรหรือพืชสมุนไพรจำนวนมาก เฉพาะตำรับยาสมุนไพรหรือพืชสมุนไพรที่ได้ผลในการใช้จึงได้ถูกนำมาบันทึกในตำรายา จะเห็นว่าไม่เคยพบเลยว่ามีการเขียนระบุในตำรับยาไหนที่บอกว่ารับประทานแล้วตาย มีแต่เขียนระบุว่ารับประทานแล้วหาย จากประสบการณ์ของอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน พบว่ามากกว่า 80% ของตำรับยาสมุนไพรหรือพืชสมุนไพรที่คัดเลือกจากฐานข้อมูลนี้ เช่น ฤทธิ์ต้านมะเร็งให้ผลบวกในหลอดทดลอง

            ในการพัฒนายาจากภูมิปัญญา จากผลการทดลองจะทำให้ทราบว่าตำรับยาสมุนไพรไหนหรือสมุนไพรตัวไหนมีฤทธิ์สูง เช่น ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ซึ่งจะสามารถนำไปวิจัยต่อโดยนำมาสกัดสารออกมาเป็นสารเดี่ยวที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ จากนั้นจะสามารถพัฒนาต่อจนเป็นรูปแบบยาแผนปัจจุบันได้ในที่สุด โดยความเป็นจริงแล้ว ในปัจจุบันมียาแผนปัจจุบันจำนวนมากที่มาจากพืชสมุนไพร เช่น ยาแอสไพรินที่มาจากต้นหลิว เป็นต้น .เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช ยังเล่าให้ฟังต่อว่า จาก ฐานข้อมูล มโนสร้อย III นี้ คณะผู้วิจัยได้ทุนจากกรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาตำรับยาสมุนไพรต้านมะเร็งปากมดลูก ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกในคนไข้โรคมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายที่พบว่าได้ผลดี และกำลังอยู่ในระหว่างการขยายขนาดการผลิตสารสกัดและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นยาแผนปัจจุบันจากสมุนไพรตัวแรกของไทยต่อไป

“จริง ๆ แล้ว แม้ประเทศไทยจะไม่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยแบบต่างชาติ แต่เรามีสิ่งที่จะสามารถแข่งขันกับผู้อื่นในโลกได้ ซึ่งก็คือองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษของเรามาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้มาต่อยอด นอกจากจะง่ายและรวดเร็วแล้ว ยังจะเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากงานวิจัยและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถนำไปใช้แข่งขันในตลาดของเวทีโลกได้” .เกียรติคุณ ดร.ภก.จีรเดช และ .เกียรติคุณ ดร.ภญ.อรัญญา ร่วมกันกล่าวในท้ายที่สุด