โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)

 โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)

จากกระแสการใช้โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ในการเสริมสร้างร่างกายของนักกีฬาและนักเพาะกาย จนในวงการกีฬาต้องนำมาเป็นประเด็นในการตรวจเช็กการใช้ฮอร์โมนนี้ในการแข่งขันกีฬา เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบกันในการแข่งขัน จนทำให้มีข่าวของนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่มีการโดนปรับหรือมีการลงโทษกันมากมาย

โกรทฮอร์โมน คือ ฮอร์โมนหลักที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย การสร้างเซลล์ใหม่ การทำงานของระบบสมอง และการทำงานของเอนไซม์

โกรทฮอร์โมน หรือ GH (Growth Hormones)(1) มีโปรตีนที่มีกรดอะมิโนอยู่มากมายถึง 191 โมเลกุล ในแต่ละช่วงอายุก็จะมีการหลั่งไม่เท่ากัน แต่ฮอร์โมนตัวนี้จะสามารถหลั่งได้ตลอดชีวิต โดยระดับการหลั่งจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษในช่วงวัยเจริญเติบโตหรือวัยเจริญพันธุ์ และเริ่มน้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยชรา โดยระดับของโกรทฮอร์โมนจะลดต่ำลงเมื่ออายุมากขึ้น คือจะลดลง 14% ทุก 10 ปี แต่ก็อาจมีปัจจัยอื่นที่สามารถส่งผลกระทบต่อการหลั่งที่น้อยลงของโกรทฮอร์โมน เช่น โภชนาการอาหาร ความเครียด การนอนหลับ การออกกำลังกาย น้ำหนัก

การขาดโกรทฮอร์โมนมีผลทำให้เกิดการแก่ชรา และโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความชรา มีผลต่อการลดลงของสมรรถนะ และการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเพิ่มโกรทฮอร์โมนเป็นหนทางการเพิ่มความอ่อนเยาว์ และคืนความกระชุ่มกระชวยให้แก่ร่างกาย จึงจัดเป็นกลุ่ม anti-aging หรือสารชะลอวัย(1)

รูปที่ 1 การหลั่งโกรทฮอร์โมนของร่างกาย(2)

การทำงานของโกรทฮอร์โมน(1,3)

โกรทฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาจะถูกส่งไปยังตับเพื่อเปลี่ยนเป็นสารคล้ายอินซูลิน (Insulin-like growth factor-1 หรือ IGF-1) หรือโซมาโตเมดิน (Somatomedin) นำไปใช้ในร่างกายเพื่อเสริมสร้างเนื้อเยื่อ

จากการวิจัยจากวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England) พบว่า การทดลองให้คนอายุ 65 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับ HGH และกลุ่มที่ไม่ได้รับ HGH ผลคือ กลุ่มที่ได้รับ HGH ทำให้ผมที่เคยหงอกลดลง ผมเริ่มกลับมาดกดำขึ้น ในบางรายมีการลดลงของรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าและตามร่างกาย อีกทั้งมีสมรรถภาพทางเพศที่เพิ่มขึ้นด้วย ความเสื่อมจากความชราลดลง ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับ HGH จะมีความชราตามปกติโดยไม่มีการฟื้นฟูที่ดีขึ้น

ปัญหาจากการที่ร่างกายขาดโกรทฮอร์โมน(1,3)

ผมเริ่มหงอก ร่วง หรือผมบางจนเกือบล้าน ผิวหนังจะขาดความยืดหยุ่น ไม่ชุ่มชื้น ผิวแห้ง มีริ้วรอยเกิดขึ้น และเริ่มเหี่ยวย่น เพราะคอลลาเจนที่ช่วยทำให้ผิวเต่งตึงเริ่มลดน้อยลง สายตาจะเริ่มเปลี่ยน ความเปลี่ยนแปลงที่พบได้คือ เริ่มมีปัญหาสายตายาว อ่านหนังสือใกล้ ๆ จะเหมือนกล้องที่ไม่โฟกัส และยิ่งอายุเพิ่มขึ้น สายตาก็จะฝ้าฟางขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงระบบการเผาผลาญ การได้ยิน ความจำ กล้ามเนื้อ ฮอร์โมน และอื่น ๆ อีกที่เสื่อมถอยลงไป

ประโยชน์ของโกรทฮอร์โมน(1-4)

  • ช่วยลดไขมันและช่วยลดน้ำหนัก ช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ
  • มีผลคล้ายยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressant) และไม่มีผลข้างเคียง ช่วยลดความเครียด มีสมาธิมากขึ้น ฟื้นฟูความจำ และเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้
  • ช่วยเพิ่มความสามารถทางด้านกล้ามเนื้อ ช่วยเสริมกล้ามเนื้อ และเพิ่มความคงทนในการออกกำลังกาย
  • ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว ช่วยให้ผิวเรียบเนียนขึ้นเหมือนดังผิวของคนหนุ่มสาว ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดรอยเหี่ยวย่นบนผิวหน้าและตามร่างกาย ลดรอยตีนกา ช่วยฟื้นฟูให้กลับมาหนุ่มสาว
  • มีผลช่วยต้านภาวะกระดูกพรุน และช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก
  • ช่วยกระตุ้นการสูบฉีดเลือดของหัวใจ (Cardiac output) ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น ออกกำลังกายได้มากขึ้น ลดภาวะความดันโลหิตสูง ปรับสมดุลของคอเลสเตอรอล ช่วยบรรเทาอาการของโรคหัวใจ
  • ช่วยให้การหายของบาดแผลเร็วขึ้น เพราะไปช่วยกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์คอลลาเจนซึ่งเป็นสารที่ช่วยฟื้นฟูบาดแผล สร้างเนื้อเยื่อให้ประสานกัน เนื้อเยื่อจะแข็งแรงขึ้น ผิวหนังยืดหยุ่นได้ดีช่วยทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น อีกทั้งฟื้นฟูการยึดติดของกระดูกในผู้ป่วยกระดูกหัก ในผู้ป่วยบาดแผลจากไฟไหม้ขั้นรุนแรงและแผลจากการผ่าตัดได้ผลดี แผลหายเร็วขึ้น

โดยปกติโกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมาเฉพาะในตอนที่เราหลับลึกเท่านั้น ช่วงเที่ยงคืนจนถึงตีหนึ่งครึ่ง  หลังจากหลับไปแล้ว 1 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าหลับหลังตีหนึ่งเราจะไม่ได้โกรทฮอร์โมนเลย ดังนั้น การหลับที่ถูกต้องคือ หลับตั้งแต่สี่ทุ่มเพราะกว่าจะหลับลึกต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมง และปริมาณโกรทฮอร์โมนจะลดลงหรือถูกสลายไปเมื่อมีน้ำตาลสูง ดังนั้น ก่อนนอนจึงไม่ควรบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรต

ดังนั้น ข้อปฏิบัติตัวที่กล่าวมาแล้วนั้นจะช่วยให้เราได้โกรทฮอร์โมนและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ แต่ถ้าต้องการเสริมโกรทฮอร์โมนควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ

เอกสารอ้างอิง

  1. โกรทฮอร์โมน (Growth hormones) คืออะไร. http://www.oknation.net/blog/30uphealthclub/2014/12/16/entry-1
  2. http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201412/16/700527d81.jpg
  3. HGH หรือฮอร์โมนเจริญวัยคืออะไร?. http://www.biospray-today.com/index.php/component/content/article/34-demo-category/58-what-is-hgh
  4. โกรทฮอร์โมน (HGH/Human growth hormone) คือ. http://www.growthhormoneplus.com/โกรทฮอร์โมน-hgh-คือ/