ภก.ดุรงค์ฤทธิ์ ตรีภาค

  ภก.ดุรงค์ฤทธิ์ ตรีภาค  เภสัชกรดีเด่นด้านสารสนเทศ ประจำปี พ.ศ. 2556  

ภก.ดุรงค์ฤทธิ์ ตรีภาค หรือ ภก.ต้น เภสัชกรประจำโรงพยาบาลแพร่ ตัดสินใจเลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์ตามความต้องการของพ่อแม่ที่อยากให้ทำงานเกี่ยวกับสายสุขภาพ ขณะที่ความต้องการในวัยเด็กของตัวเองมีความสนใจทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็ตาม แม้จะไม่ใช่ความต้องการตั้งแต่ต้น แต่ ภก.ต้น ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจและทุ่มเทให้กับการพัฒนางานทางด้านเภสัชกรรม โดยเฉพาะการนำระบบของ IT มาประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลจนประสบความสำเร็จ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพในบางครั้งด้วยก็ตาม จากความมุ่งมั่นที่ไม่เคยยอมแพ้นี้เองจึงทำให้ ภก.ต้น ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน เภสัชกรดีเด่นด้านสารสนเทศ ประจำปี พ.ศ. 2556 จากการประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2556 ของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)

ภก.ต้น สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี พ.ศ. 2543 และได้เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลแพร่ และได้ย้ายไปทำงานที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ จ.ปทุมธานี 1 ปี ก่อนย้ายกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลแพร่เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน โดย ภก.ต้น ได้เล่าถึงการทำงานในวิชาชีพเภสัชกรรมให้ฟังว่า มุมมองเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรมสมัยก่อนที่จะได้เข้าไปสัมผัสจริงจะแตกต่างกันมาก สมัยก่อนเราจะมองว่าเภสัชกรคือคนที่ทำหน้าที่จ่ายยาอยู่ในห้องยา ซึ่งดูว่าเป็นงานที่สบายดี แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัสทำงานในวิชาชีพนี้จริง จะเห็นว่างานเภสัชกรรมเป็นงานที่ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ต้องดูแลรับผิดชอบในหลายบทบาทหน้าที่นอกเหนือจากการจ่ายยา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดจ้าง งานบริบาลเภสัชกรรม งานผลิตยา และการดูแลงานด้านคุณภาพ รวมถึงต้องติดต่อปฏิสัมพันธ์กับแพทย์ พยาบาล และตัวคนไข้ที่มีหลากหลายรูปแบบด้วย

            สำหรับจุดเริ่มต้นที่ ภก.ต้น สนใจเข้ามาทำงานทางด้านสารสนเทศ หรือระบบ IT นั้น ภก.ต้น เล่าว่า ผมเริ่มความสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ประกอบกับการได้ศึกษาเรียนรู้ระบบฐานข้อมูล การเขียนโปรแกรมด้วยตนเองตั้งแต่เรียนจบและเริ่มเขียนเว็บไซต์ ประมาณปี พ.ศ. 2546 ทางโรงพยาบาลแพร่มีการเปลี่ยนระบบ Hospital Information System (HIS) ภายในโรงพยาบาล ผมจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในตัวแทนของกลุ่มงานเภสัชกรรมที่เข้าร่วมทีม Admin เพื่อดูแลฐานข้อมูลและระบบงานสารสนเทศในส่วนของงานเภสัชกรรม ซึ่งผมเห็นว่าการจัดทำระบบ Intranet ขึ้น เพื่อใช้สื่อสารภายในองค์กรจะได้ช่วยในการทำงานให้ดีขึ้น จึงได้เริ่มดำเนินการจัดทำระบบ Intranet ขึ้นพร้อม ๆ กับการเริ่มระบบ HIS ในครั้งนั้น

“ผมคิดว่าถ้าเป็นในเรื่องของยาคงไม่มีใครรู้ดีเท่ากับเภสัชกร ดังนั้น ถ้าเราจะทำระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับยาก็คงไม่มีใครรู้ดีเท่ากับเภสัชกรที่ทำงานนั้น นอกจากจะเรียนมาทางด้านนี้แล้ว การจัดทำระบบสารสนเทศก็ต้องอาศัยความรู้ ความสนใจเฉพาะตัว ทำความเข้าใจและพัฒนาเข้ามาประกอบด้วย จะเห็นได้ว่างานด้านสารสนเทศของเภสัชกรจะเป็นความชอบและเป็นความสามารถเฉพาะบุคคล แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลอื่นจะเข้ามาเรียนรู้ไม่ได้ เพราะผมเห็นว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ถ้ามีความสนใจจริง ๆ”

จากการแสดงผลงานในการพัฒนาระบบเชื่อมต่อ HIS ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในกลุ่มงานและหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยการเขียนโปรแกรมเชื่อมต่อได้เป็นผลสำเร็จทำให้ได้รับการยอมรับในความสามารถด้านสารสนเทศจากผู้บริหาร และแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสารสนเทศ ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และแม้ว่าจะมีปัญหาสุขภาพ แต่ ภก.ต้น ยังคงมุ่งมั่นสร้างโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น โปรแกรมกระจายยาผู้ป่วยในแบบ One Day Dose, โปรแกรมที่ใช้ดูประวัติผู้ป่วยนอก, โปรแกรมที่บันทึกข้อมูลผู้ป่วยเพื่อสนับสนุนงานบริบาลเภสัชกรรมเพื่อสนับสนุนการจ่ายยาให้เหมาะสม เป็นต้น ทำให้เภสัชกรสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยหรือข้อมูลยาที่จำเป็นสำหรับการคัดกรองปัญหาการใช้ยา ส่งผลให้การบริหารจัดการระบบยาและการบริบาลทางเภสัชกรรมของโรงพยาบาลแพร่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับจากทั้งในแวดวงวิชาชีพและสหวิชาชีพในโรงพยาบาล

            ทั้งนี้ ภก.ต้น ได้กล่าวถึงความยากลำบากในการจัดทำระบบสารสนเทศในสมัยนั้นให้ฟังว่า ในสมัยที่เริ่มทำนั้น คนที่มีความรู้เรื่องระบบ IT ในโรงพยาบาลมีน้อยมาก เนื่องจากสมัยก่อนอินเตอร์เน็ตยังไม่ได้ใช้กันแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน การหาข้อมูลหรือหนังสือคู่มือก็จะไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้ ทดลอง ลองผิดลองถูก ด้วยตัวเอง ซึ่งผมก็ค้นคว้าหาข้อมูลทำมาเรื่อย ๆ โดยคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ ขอเพียงให้ทุกอย่างเกิดก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ ซึ่งผมคิดว่าผลงานที่ดีเด่นและภาคภูมิใจที่สุดของผมก็คือ เรื่องโปรแกรมกระจายยาผู้ป่วยในแบบ One Day Dose และระบบคิวอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับโปรแกรมที่ใช้ดูประวัติผู้ป่วยนอกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการจ่ายยาให้ง่ายและเหมาะสมในแต่ละวัน

            ภก.ต้น ยังกล่าวถึงงานเภสัชกรสารสนเทศให้ฟังว่า งานเภสัชกรสารสนเทศเป็นงานสนับสนุนด้านการทำงานให้แก่เภสัชกรอื่น ๆ ซึ่งแต่ละแห่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของแต่ละโรงพยาบาล หรือในแต่ละโรงพยาบาลมีเภสัชกรสนใจในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากงานสารสนเทศเป็นงานเฉพาะตัวที่ต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าถามความคิดเห็นโดยส่วนตัวของผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ถ้ามีแล้วจะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการทำงานให้ดีขึ้น และสำหรับผม งานในส่วนนี้คืองานเสริมที่เราชอบนอกเหนือจากงานประจำที่รับผิดชอบดูแลการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้เป็นงานที่ทำให้เสียเวลา ตรงกันข้ามแต่กลับช่วยลดเวลาในการทำงานอย่างอื่นให้แก่เราและคุ้มค่าที่จะทำ เพราะถ้าเราตั้งใจทุ่มเทให้กับงานทางด้านสารสนเทศเพียงแค่ครั้งเดียวโดยอาจเขียนโปรแกรม หรือคิดพัฒนาระบบงานอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่งก็จะช่วยลดเวลาในการทำงานอื่นได้มาก ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราต้องการข้อมูลของคนไข้ที่คลินิกโรคเรื้อรังประมาณ 70-80 คน ถ้าเป็นแบบสมัยก่อนเราคงต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์เพื่อเตรียมสำหรับทำงานสัปดาห์ต่อไป แต่ถ้ามีระบบสารสนเทศเข้ามาเราอาจใช้เวลาไม่นาน แค่วันหรือสองวัน ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการทำงานลงได้มาก หรือในสมัยก่อนเวลาทำงานส่วนใหญ่จะมาเป็นรูปแบบเอกสาร เวลาที่เราจะทำอะไรก็ต้องรอเอกสารในการจัดการ แต่เมื่อนำระบบไอทีเข้ามาใช้ในการบันทึกข้อมูลประวัติของคนไข้ก็จะช่วยให้เราสามารถนำข้อมูลนี้มาใช้ได้ทันที

สำหรับความรู้สึกที่ได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นด้านสารสนเทศ ประจำปี พ.ศ. 2556 จากการประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2556 ของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) นั้น ภก.ต้น กล่าวว่า ตอนแรกที่พี่เภสัชกรที่โรงพยาบาลโทรศัพท์มาบอกผมไม่ค่อยเชื่อ และคิดว่าเป็นการล้อเล่น แต่เมื่อได้รับรางวัลผมรู้สึกดีใจที่มีคนเห็นผลงานในส่วนนี้ เนื่องจากงานด้านสารสนเทศส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ปิดทองหลังพระ

            นอกจากนี้ ภก.ต้น กล่าวถึงเป้าหมายที่อยากทำต่อไปด้วยว่า ผมคิดว่ายังมีโปรแกรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเภสัชกรรมที่ต้องทำอีกหลายเรื่อง แต่สำหรับสิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดและถือเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่สมัยที่เรียนจบคือ การจัดทำระบบฐานข้อมูลยาของประเทศไทยในรูปแบบต่าง ๆ ที่เราสามารถเข้าไปสืบค้นดูได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานในส่วนนี้ถ้าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบจัดทำคงดีมาก ซึ่งถ้าทำในเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่เภสัชกรและประชาชนมากที่สุด เพราะถ้าสามารถทำระบบฐานข้อมูลของยาในรูปแบบต่าง ๆ สำเร็จ เราจะสามารถนำมาเผยแพร่หรือค้นหาเกี่ยวกับเรื่องยาในฐานข้อมูลนี้ได้ง่ายและสะดวกขึ้นมาก ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าขึ้นเช่นปัจจุบันนี้ สิ่งนี้คือความใฝ่ฝันที่อยากทำมาก แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะการจะทำเรื่องนี้ได้ต้องอาศัยหน่วยงานใหญ่ ๆ ให้การสนับสนุน

            สุดท้ายนี้ ภก.ต้น กล่าวฝากถึงเภสัชกรทุกคนที่อยากบุกเบิกงานทางด้านใหม่ว่า ผมมองว่างานที่เภสัชกรสามารถบุกเบิกในการทำยังมีอีกมากแล้วแต่ความสนใจของแต่ละคนที่จะคิดนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่เราทำงานสำเร็จก็จะเกิดความภูมิใจด้วยว่างานที่ทำมีประโยชน์ และความชอบของเราก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่หน่วยงานได้