เภสัชกรโรงพยาบาลกับงานสมุนไพรในชุมชน “ชมรมสุขภาพดีกับสมุนไพรและการใช้ยาอย่างถูกต้อง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

เภสัชกรโรงพยาบาลกับงานสมุนไพรในชุมชน “ชมรมสุขภาพดีกับสมุนไพรและการใช้ยาอย่างถูกต้อง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

จากเด็กผู้หญิงที่เติบโตมาในไร่นาของคุณตาและสวนผลไม้ของคุณปู่ ความใกล้ชิดธรรมชาติในวัยเยาว์ทำให้มีความสนใจด้านเภสัชพฤกษศาสตร์ มีความใฝ่ฝันในการวิจัยสมุนไพรไทยให้มีโอสถสารมาตรฐาน สามารถบำบัดรักษาโรคได้โดยมีความปลอดภัยอย่างสูงสุดเพื่อทดแทนการใช้ยาจากต่างประเทศ แม้จะยังไม่มีโอกาสได้ทำความฝันนี้ให้สำเร็จ แต่ ภญ.สุวิมล พงษ์สมบูรณ์ เภสัชกรชำนาญการ เภสัชกรเพียงคนเดียวในโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยังคงก้าวเดินต่อไปบนถนนของภารกิจการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้สูงอายุที่สามารถนำไปสู่การวิจัยด้านสมุนไพร ได้แก่ การสำรวจภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้าน การสังเคราะห์งานวิจัยด้านสมุนไพร มีความสนใจในศาสตร์โฮมีโอพาธีย์ การใช้สมุนไพรไทย สมุนไพรจีน เพื่อทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความปลอดภัยในการใช้ยา และการใช้ผักพื้นบ้านเป็นอาหาร

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน อุทิศเวลาในการปฏิบัติงาน และมีความเสียสละ จนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับแก่ผู้ร่วมงาน ตลอดจนผู้ใกล้ชิด สมควรกับรางวัล “คนดีศรีสาธารณสุข” ที่ได้รับจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง

ภญ.สุวิมล สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ปฏิบัติราชการครั้งแรกในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลนิคมพัฒนาเป็นระยะเวลา 1 ปี จากนั้นได้รับบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการ ปฏิบัติราชการเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขนาด 10 เตียง ที่ให้บริการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและธาราบำบัด เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และการแพทย์ทางเลือก (ฝังเข็มและนวดไทย) ปฏิบัติงานบริการเภสัชกรรม เภสัชกรรมคลินิก เภสัชสนเทศ บริหารเวชภัณฑ์ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ งานวิทยากรสอนประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการโดยไม่รับค่าตอบแทน ได้รับทุนการวิจัยและกำลังอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูลงานวิจัยโครงการพัฒนาภาพสัญลักษณ์ทางเภสัชกรรมบนฉลากยาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุไทย และพัฒนานวัตกรรม “เปิดตลับรับหนึ่งมื้อ” สำหรับใช้ในระบบกระจายยาผู้ป่วยในแบบหนึ่งหน่วยการใช้ (Units dose) ที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการของพยาบาลวิชาชีพ มีระบบประสานรายการยาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน (Medication Reconciliation) งานคุณภาพเภสัชกรรม กิจกรรมหิ้วถุงผ้ามาหาหมอ และยังมีส่วนร่วมในคณะกรรมการและเลขานุการพัฒนาระบบบริการและพัฒนางานในโรงพยาบาล และผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล

สำหรับจุดเริ่มต้นที่สนใจทำกิจกรรมในโครงการต่าง ๆ นอกจากความสนใจด้านเภสัชพฤกษศาสตร์แล้ว ภญ.สุวิมล กล่าวต่อว่า ทางโรงพยาบาลยังให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค การพึ่งพาตัวเองด้านสุขภาพ และเตรียมพร้อมผู้สูงอายุเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากในชุมชนมีพื้นที่ว่างที่สามารถปลูกพืชสมุนไพรได้ จึงจัดโครงการพัฒนาแกนนำหมู่บ้านรักษ์โลกวิถีชุมชนห้วยใหญ่กับสมุนไพรและการใช้ยาอย่างถูกต้อง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา ในปี พ.ศ. 2556 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในส่วนของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อจัดทำสวนสมุนไพรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และจัดตั้งชมรมสุขภาพดีกับสมุนไพร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดองค์ความรู้ด้านทางวิชาการทางการแพทย์ของคนในชุมชน การหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ ความเชื่อผิด ๆ โดยสนับสนุนองค์ความรู้ทางเภสัชพฤกษศาสตร์และเภสัชวิทยา นำไปสู่การลดใช้ยาในอนาคต โดยบูรณาการกับกิจกรรมจากงานวิจัยการดูแลผู้ป่วยตามหลักปรัชญามอนเตสซอรี่ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือ ประสาทตา ประสาทสัมผัส รับรู้กลิ่น และการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นของผู้ป่วย และจัดโครงการต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีความปลอดภัยในการใช้ผักพื้นบ้านเป็นอาหาร

ทั้งนี้รายละเอียดเกี่ยวกับงานโครงการต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ ได้แก่

- โครงการพัฒนาแกนนำหมู่บ้านรักษ์โลกวิถีชุมชนห้วยใหญ่กับสมุนไพรและการใช้ยาอย่างถูกต้อง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา ปีที่ 1 พ.ศ. 2556 และดำเนินการต่อเนื่องทุกปี จนถึงปัจจุบัน

- กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องสมุนไพร ผักพื้นบ้าน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชมรมสุขภาพดีกับสมุนไพร แก้ปัญหาด้านความเชื่อ และการใช้ยาและสมุนไพรไม่ถูกต้อง ยกระดับสมุนไพรในครัวเรือนสู่สมุนไพรเชิงพาณิชย์เพื่อการพึ่งพาตนเองและการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน

- ต้นแบบสวนสมุนไพรในโรงพยาบาล “สวนสมุนไพร พ.ศ. 2556 เฉลิมพระเกียรติ 85 พรรษา” และพัฒนาต่อยอดเป็นสวนสมุนไพรในชุมชนอีก 4 แห่ง

- พัฒนาสวนเภสัชภัณฑ์เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้พิการรถเข็นนั่งให้สามารถทำกิจกรรมและปลูกสมุนไพรได้สะดวก

            - กิจกรรมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น ยาดมสมุนไพร พิมเสนน้ำสูตรโบราณ ลูกประคบสมุนไพร ยาหม่องไพล เป็นต้น

ภญ.สุวิมล ยังกล่าวถึงการนำโครงการไปต่อยอดหรือนำไปใช้ประโยชน์ด้วยว่า การจัดกิจกรรมทำให้รับรู้ปัญหาในชุมชนและสามารถแก้ไขปัญหาการใช้ยา และยาสมุนไพรที่ไม่ถูกต้อง คนในชุมชนนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและการประกอบอาชีพ รวมทั้งได้รู้จักใกล้ชิดกับแพทย์พื้นบ้านในชุมชน นำไปสู่ความต้องการที่จะนำภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเก็บรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย

นอกจากนี้ ภญ.สุวิมล ได้กล่าวถึงมุมมองหรือปัญหาเกี่ยวกับการทำงานวิจัยว่า ไม่เคยคิดว่างานวิจัยเป็นภาระ แม้ว่าการปฏิบัติราชการตลอดระยะเวลา 4 ปีมานี้ ในบางช่วงจะต้องปฏิบัติงานโดยไม่มีผู้ช่วยปฏิบัติงานในห้องยาเลย ซึ่งการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่มีจำนวนหน้างานเท่ากับโรงพยาบาลอื่น ๆ แม้ว่าผู้รับบริการจะมีจำนวนไม่มาก แต่ได้รับประสบการณ์อันมีค่าในการทำงานโครงการและงานวิจัยทั้งแบบที่ได้รับและไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณนั้น รู้สึกว่าเราได้ทำหน้าที่เภสัชกรที่ครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งด้านการวิจัยและพัฒนานั้นก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการปฏิบัติงานวิชาชีพ ได้ทำคุณประโยชน์ต่อเภสัชกรรมไทยอย่างเท่าเทียมกัน โดยการปฏิบัติงานวิจัยไปพร้อม ๆ กับงานประจำด้านคลินิกนั้นจะต้องคำนึงถึงผู้รับบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเป็นสำคัญที่สุดควบคู่ไปด้วย และขอให้กำลังใจแก่ผู้ที่มีแนวคิดในการทำงานวิจัย หากงานวิจัยนั้นเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่อาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยบางประการที่ทำให้ท่านไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการวิจัย หากท่านสามารถดำเนินงานวิจัยนั้นต่อไปด้วยความเสียสละและอุทิศตนเพื่อวงการวิชาชีพได้ ก็ขอเป็นกำลังใจและชื่นชมท่านด้วยใจจริงมา ณ โอกาสนี้

            ภญ.สุวิมล ยังกล่าวถึงคติในการทำงานให้ฟังด้วยว่า มีสมเด็จย่าที่ทรงงานหน่วยแพทย์ พอ.สว. และคุณพ่อคุณแม่ที่รับราชการครูเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจและเสียสละ ใช้ธรรมะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ถือคติในการดำเนินชีวิตคือ “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” และเมื่อรู้สึกท้อในการทำงานให้คิดอยู่เสมอว่า “ทำเพื่อคนไข้”

ท้ายสุดนี้ ภญ.สุวิมล กล่าวด้วยความภูมิใจเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพให้ฟังว่า มีความภาคภูมิใจที่สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และฝึกปฏิบัติงานด้านเภสัชกรรมในทุก ๆ ด้านให้นักศึกษามาเป็นอย่างดี ทำให้ได้รับคำชื่นชมจากโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งที่รับสมัครงานเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเภสัชกรจบใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในด้านเภสัชกรรมคลินิกโดยประเมินจากผลการสอบข้อเขียน เมื่อได้ปฏิบัติงานครั้งแรกในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวยังได้รับคำชมจากพี่เภสัชกร ภญ.ปรัชญา อักษร หัวหน้างานในขณะนั้นว่าเป็นผู้มีความตั้งใจในการทำงาน อุทิศเวลาในการปฏิบัติงาน มีความเสียสละและมีความยุติธรรมต่อรุ่นน้องเจ้าพนักงานเภสัชกรรม สามารถรับผิดชอบและปฏิบัติงานโครงการงานคุณภาพเภสัชกรรมได้อย่างดีภายใต้คำแนะนำของท่าน ซึ่งยังคงมีความเสมอต้นเสมอปลายในการปฏิบัติงานมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ได้รับคำชื่นชมจากผู้เยี่ยมสำรวจและประเมินคุณภาพสถานพยาบาล ผู้เยี่ยมสำรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 6 ว่าสามารถปฏิบัติงานคุณภาพเภสัชกรรมของโรงพยาบาลได้อย่างดี โดยการปฏิบัติงานนั้นยังเอื้อต่อการปฏิบัติงานของทีมสหวิชาชีพ ทั้งยังได้รับคำชมจากหน่วยงานอื่น ๆ ผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริร่วมกัน อีกทั้งได้รับคำแนะนำที่ดีจากท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาล พี่ ๆ น้อง ๆ ในโรงพยาบาลที่ให้ความปรารถนาดีในยามที่มีปัญหาต่าง ๆ เสมอมา เหล่านี้นำไปสู่การสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เภสัชกรตัวเล็ก ๆ ในการทำงานเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะขอตั้งมั่นปฏิบัติงานตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อไป