แป้งทนการย่อย (resistant starch) กำลังมา

แป้งทนการย่อย (resistant starch) กำลังมา         

            โรคอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยอื่น ๆ ตามมามากมาย รวมทั้งเป็นต้นทางให้เสียชีวิตเร็วในมนุษย์ยุคนี้อย่างที่เราทราบกันดีแล้ว ดังนั้น แนวทางที่จะป้องกันภาวะดังกล่าวจึงเป็นที่สนใจของทางการแพทย์อย่างยิ่งมานมนานแล้ว หลายวิธีที่ผ่านมานั้นทำได้ยากบ้าง มีผลข้างเคียงเยอะบ้าง ก็เลยยังต้องหาวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม และวันนี้ก็มาถึง แป้งทนการย่อยครับ

            แป้งทนการย่อย (resistant starch) คืออะไร? ช่วยสุขภาพคนเราอย่างไร?

ก่อนจะเล่าในรายละเอียด คงต้องให้ข้อมูลปูพื้นเล็กน้อยเสียก่อนว่า แป้งทนการย่อย (resistant starch) คืออะไร เพราะหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ

            คำอธิบายของ แป้งทนการย่อย ที่เขียนไว้โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีดังนี้ครับ

            แป้งทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์ หรือ สตาร์ชที่ให้พลังงานต่ำ (resistant starch: RS) คือ แป้งและผลิตภัณฑ์ของแป้งที่ไม่สามารถถูกย่อยด้วยเอนไซม์และถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์  resistant starch จึงมีคุณสมบัติเทียบเท่าเส้นใยอาหาร สามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไขมันสายสั้น ๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ ผลจากการย่อยที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณพลังงานในระดับต่ำกว่าปกติ หรือทำหน้าที่คล้ายกับใยอาหาร ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคทางอายุรกรรมต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น

            รายงานล่าสุดเมื่อต้นเดือนนี้จากมหาวิทยาลัย South Dakota State University ในสหรัฐอเมริการายงานว่า การผสมแป้งทนการย่อยลงในอาหารจะช่วยบรรเทาภาวะเมตาบอลิก ซินโดรม (metabolic syndrome) ด้วยการลดการสร้างไขมันเลว (bad cholesterol) และลดการอักเสบที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน (inflammation associated with obesity)

            รศ.มูล์ เดย์ (Assoc.Prof.Moul Dey) ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและอาหาร (Department of  Health and Nutritional Sciences) แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์ดาโกตา หัวหน้าคณะอธิบายว่า แป้งทนการย่อยนี้ทำตัวเป็นเหมือนเส้นใยที่จะไม่ถูกย่อยในลำไส้ส่วนต้น แต่จะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ แล้วให้ผลผลิตออกมาเป็นกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids) ซึ่งดีต่อสุขภาพ

            รศ.มูล์ อธิบายต่อว่า ร่างกายคนเราเลี้ยงดูแบคทีเรียจำนวนมากไว้ในลำไส้ อาหารที่คนเรารับประทานเข้าไป นอกจากใช้เลี้ยงตัวเราแล้ว ยังใช้ประคบประหงมเลี้ยงดูแบคทีเรียเหล่านี้ด้วย เรารับประทานอาหารอย่างไรก็ส่งผลแบบนั้น เพราะอาหารจะเป็นวัตถุดิบให้แบคทีเรียสร้างสารต่าง ๆ ตามมา ถ้าอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นวัตถุดิบสร้างสารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ร่างกายก็จะมีสุขภาพดี ทำนองตรงกันข้าม อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็มีผลร้ายต่อสุขภาพเฉกเช่นเดียวกัน

            รศ.มูล์ นำอาสาสมัครจำนวน 20 คนที่มีภาวะอ้วนร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูงและเป็นเบาหวาน รวมทั้งมีไขมันเลวในเลือดสูง แต่มีไขมันดีต่ำ แบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม ให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งรับประทานอาหารที่มีแป้งทนการย่อยผสมอยู่ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารแบบปกติ

            อาสาสมัครไม่รู้ตัวนะครับว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มไหน

            เมื่อเวลาผ่านไป 12 สัปดาห์ นำอาสาสมัครมาตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ รวมทั้งสแกนร่างกายตรวจหาปริมาณเนื้อเยื่อไขมัน ผลพบว่าไขมันในเลือดของอาสาสมัครที่ได้แป้งทนการย่อยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นไขมันตามร่างกายก็ลดลงเช่นกัน รวมทั้งรอบเอวที่ผอมลงด้วย

            และเมื่อตรวจอุจจาระก็พบว่าแบคทีเรียที่ดีที่สร้างกรดไขมันสายสั้นมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย

            แป้งทนการย่อยที่ใช้ในการวิจัยนี้คือ RS4 หรือ resistant starch type 4 แป้งทนการย่อยชนิดที่ 4

            รศ.มูล์ บอกว่า ความงดงามของการวิจัยนี้คือ ไม่ได้มีการดัดแปลงชีวิตประจำวันของอาสาสมัคร เพราะวิธีอื่น ๆ ที่ผ่านมา อย่างเช่น การควบคุมอาหารต้องการความเข้มงวด มีวินัยและความสม่ำเสมอในการใช้ชีวิตซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งสำหรับคนทั่ว ๆ ไป คนส่วนใหญ่ทำได้พักหนึ่งแล้วก็หมดแรง หมดพลังตั้งใจ ผลดีที่ได้ก็ยุติลงแค่นั้น แต่สำหรับแป้งชนิดนี้ เราสามารถผสมลงไปในแป้งที่เรารับประทานปกติ ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมากมายนัก วิธีนี้น่าจะปฏิบัติตนได้ไม่ยากนัก ผลสำเร็จจึงอยู่แค่มือเอื้อม

            สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาคำนวณว่า คนอเมริกันร้อยละ 34 มีภาวะเมตาบอลิก ซินโดรม (คร่าว ๆ ก็ราว 70 ล้านคน) หากปล่อยตามอำเภอใจในอนาคตอันใกล้คนเหล่านี้ก็พัฒนากลายเป็นโรคต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้ว และในที่สุดก็จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดก็จะเกิด และนี่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการแก้ไข

            และตรงนี้แหละครับ กำลังจะเป็นเวลาของแป้งทนการย่อย