ภัยใกล้ตัว ที่ร้ายยิ่งกว่าตำรับยา

ภัยใกล้ตัว... ที่ร้ายยิ่งกว่าตำรับยา

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว "เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย"

            ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากรายงานการวิจัยพบว่า ในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมหรือเกินความจำเป็น และในปัจจุบันยังมีทะเบียนตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมอยู่จำนวนมากในวงการสาธารณสุข

            ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า จากการรวบรวมบัญชียายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านแบคทีเรียโดยเครือข่ายส่งเสริมการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผล ซึ่งมาจากการรวมตัวของนักวิชาการ แพทย์ เภสัชกร เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็ก โดยการสนับสนุนของ สสส. เพื่อให้ความรู้แก่สังคมในการป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพแก่ผู้บริโภค ได้ทบทวนรายการยาต้านแบคทีเรียในประเทศเพื่อคัดเลือกรายการยาที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทย พบว่ามีตั้งแต่ยาอมที่ไม่ควรมีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะ 80% ของอาการเจ็บคอไม่ได้เกิดจากเชื้อดังกล่าว และอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในลำไส้ เช่นเดียวกับยาแก้ท้องเสียที่ 80% เกิดจากเชื้อไวรัส รวมถึงอันตรายจากสูตรผสมของยาต้านแบคทีเรียในยาประเภทต่าง ๆ โดยทางเครือข่ายนักวิชาการจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ อย. ถอนบัญชียาเหล่านี้ออกจากประเทศ และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรียได้

(ข้อมูลจาก: www.thaidrugwatch.org)

            ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) กล่าวว่า ตัวอย่างยาที่สมควรดำเนินการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาก่อนเป็นอันดับแรกคือ ยาอมที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ (ยาต้านแบคทีเรีย) ที่มี Neomycin เพราะยา Neomycin ไม่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ แต่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เมื่ออมและกลืนยาลงไปจะชักนำให้เกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycoside ทั้งกลุ่ม ซึ่งยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้ช่วยชีวิตคนที่ติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด

            ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะทำงานด้านยาปฏิชีวนะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปีละ 45,000 ราย และการติดเชื้อดื้อยาในผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลก็มีจำนวนมากขึ้น และมีผลทำให้การรักษายุ่งยากเพราะต้องรักษาด้วยยาที่แพงกว่าปกติ หรืออาจต้องฉีดยาวันละหลายครั้ง ซึ่งผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลหรือต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อฉีดยาแทนที่จะใช้ยารับประทานอยู่ที่บ้าน ต้นตอของปัญหาคือ เชื้อดื้อยาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็นและใช้อย่างไม่ถูกต้อง เพราะสามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้ทั่วไป

            รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดในการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียดื้อยา เพราะเด็กยังมีภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาไม่ได้เต็มที่ การเจ็บป่วยส่วนใหญ่ของเด็กจะเริ่มจากการติดเชื้อไวรัส แต่ผู้ปกครองไม่ทราบวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น จึงมักให้ “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะเป็นยาต้านแบคทีเรีย ทั้งที่ยากลุ่มนี้ไม่ออกฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยในช่วง 2-3 วันแรก

            ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ในเด็กปกติที่มีสุขภาพแข็งแรงดีมาก่อน ให้การรักษาโดยวิธีประคับประคองตามอาการอย่างเหมาะสม หากเด็กยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ เช่น กินได้ เล่นได้ นอนหลับพักได้ดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรีย เพราะอาจเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยารุนแรงจนรักษาไม่ได้ในอนาคต

(ข้อมูลจาก: สำนักข่าวอิศรา)

ตัวอย่าง คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข: เพิกถอนทะเบียนตำรับยา

ยาสูตรผสมที่มีตัวยาไทรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) และคานาไมซิน (Kanamycin) เป็นสูตรยาผสมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้และอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้

(สำเนา) คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 613/2549 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา เนื่องด้วยปรากฏข้อมูลทางวิชาการว่า ยาสูตรผสมที่มีตัวยาไทรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) และคานาไมซิน (Kanamycin) เป็นสูตรยาผสมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้และอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ คณะกรรมการยาในการประชุม ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2548 จึงมีมติให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) และคานาไมซิน (Kanamycin) ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการยา จึงสั่งเพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) และคานาไมซิน (Kanamycin) ที่ใช้ภายนอกจำนวน 1 ตำรับ คือ KA-CILONE ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 2A 269/29 ของบริษัท เอส เอ็ม ฟาร์มาซูติคอล จำกัด

อนึ่ง ผู้รับอนุญาตผู้ใดประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งนี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองกลางภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งคำสั่ง สั่ง ณ วันที่  5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ยังมีการถอนทะเบียนตำรับยาที่มีสูตรยาประกอบด้วย Diastase, Papain, Pancreatin, Thiamine Hydrochloride, Riboflavin, Nicotinamide, Diphenhydramine  Hydrochloride, Iodochlorhydroxyquinoline, Homatropine Methylbromide, Methyl Polysiloxane (Simethicone), Activated Charcoal และ Acetphenolisatin เป็นยาที่ไม่เหมาะสมและอาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ คณะกรรมการยาจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2534 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2534  ให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาดังกล่าว เนื่องจากอาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2534

            ก่อนหน้านี้มีการเพิกถอนทะเบียนยาที่รู้จักกันดีคือ คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 187/2530 คือการเพิกถอนทะเบียนยา Chloramphenicol ผงผสมน้ำบรรจุซอง ด้วยเหตุผลว่าน่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดการกดไขกระดูก ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง (Aplastic anemia) และอีกตัวอย่างคือ คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 573/2532  คือการถอนยาตำรับ Cyproheptadine บวก Vitamins และตำรับ Pizotifen บวก Vitamins ที่มุ่งใช้กระตุ้นการเจริญอาหารของเด็กเล็ก เนื่องด้วยอาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้

การเพิกถอนทะเบียนตำรับยา และการยกเลิกทะเบียนตำรับยา

             การเพิกถอนทะเบียนตำรับยา คือ กระบวนการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 สั่งให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปรากฏว่ายาใดที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว ไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ หรือเป็นยาปลอมตามมาตรา 72(1) หรือยานั้นได้เปลี่ยนไปเป็นวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารหรือเครื่องสำอาง โดยได้รับใบอนุญาตผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารที่ควบคุมเฉพาะ หรือได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

            การยกเลิกทะเบียนตำรับยา คือ กระบวนการที่ผู้รับอนุญาตผลิตยาหรือผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรสมัครใจขอยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วโดยแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกระบวนการที่ผู้รับอนุญาตผลิตยาหรือผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ได้มีการผลิต หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นการยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วโดยปริยาย

            ผลของการเพิกถอนทะเบียนตำรับยา และการยกเลิกทะเบียนตำรับยา

            1. การเพิกถอนทะเบียนตำรับยา เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยาไม่สามารถผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรอีกต่อไป 

            2. การยกเลิกทะเบียนตำรับยา เมื่อทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิกแล้ว ผู้รับอนุญาตผลิตยาและผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรห้ามผลิตหรือห้ามนำเข้าอีกต่อไป แต่ยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับยานั้นยังคงสามารถขายยานั้นได้ ทั้งผู้รับอนุญาตขายยา ผู้รับอนุญาตผลิตยา และผู้รับอนุญาตให้นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรภายใน 6 เดือน

(ข้อมูลจาก: ปรุฬห์ รุจนธำรงค์  http://www.facebook.com/rparun)

 

อันตรายเบื้องต้นจากการใช้สบู่ ยาสระผม โฟมล้างหน้า
            จากตัวอย่างยาไม่ปลอดภัยที่กระทบวงการสาธารณสุขที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน แต่ในชีวิตประจำวันของประชาชนยังต้องสัมผัสกับสารเคมีและสารมีพิษอีกมากมายที่มีผลต่อสุขภาพความเป็นอยู่ที่ควรจะรับรู้ไว้และหาทางป้องกันไว้ก่อน ดังตัวอย่างเช่น Sodium Lauryl Sulfate (SLS) ใช้เป็นสารเคมีที่ใช้ล้างพื้นอู่ซ่อมรถยนต์ และใช้ทำความสะอาดเครื่องยนต์อีกด้วย และมีการใช้สารนี้สำหรับทดสอบการระคายเคืองของผิว เพราะว่ามันทำลายการป้องกันผิวตามธรรมชาติให้หมดไป และเป็นสาเหตุของการเกิดผื่นและการติดเชื้อ และ SLS/Sodium Lauryl Ether Sulfate (SLES) กลับกลายเป็นสารเคมีสำคัญที่มีในแชมพู คอนดิชั่นเนอร์ และผลิตภัณฑ์ที่ให้ฟองในการอาบน้ำ ซึ่งมันสามารถสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อได้เป็นเวลานานและดูดซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย และเข้าสู่สมองและอวัยวะภายใน นอกจากนี้ SLS ยังสามารถรวมตัวกับสารไนเตรต ทำให้เกิดเป็น Nitrosamine ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
            Aluminum compounds (Aluminum Zirconium Tetrachlorohydrex และ Aluminum Chlorohydrate) เป็นสารที่ใช้กันโดยทั่วไปในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเพื่อควบคุมการขับเหงื่อ ได้มีการคาดการณ์ว่า aluminum เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ โดยพบว่าในสมองและอวัยวะภายใน ตัว aluminum จะขัดขวางการทำงานของ acetylcholine การที่สมองมี acetylcholine ต่ำมีผลต่อการเปลี่ยนสภาพจิตใจ รวมถึงความสับสน และปริมาณความเป็นพิษสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ ยังพบอีกว่า ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและสารเคมีในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย รวมถึง aluminum และ paraben สามารถเร่งการเกิดของมะเร็งเต้านมได้
           Propylene Glycol (สารป้องกันการแข็งตัวในอุตสาหกรรม) เป็นสารที่ทำให้สารรวมตัวกันเป็นเนื้อเดียว และสารกันเสียที่ใช้ในครีมทาผิว โลชั่น และตัวปรับสภาพผมเกือบทั้งหมด Propylene Glycol เป็นตัวทำละลายชนิดหนึ่งซึ่งสามารถซึมผ่านผิวหนังและเข้าสู่กระแสเลือดได้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ไตและตับได้รับอันตราย รวมถึงยังส่งเสริมให้ผิวแห้งและมีรอยย่น
            ข้อมูลของสาร 3 ตัวนี้ไม่เคยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ต่อผู้บริโภค และน่าจะยังไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เชิงวิชาการที่ชอบใช้อ้างอิงกัน เพราะขัดผลประโยชน์มหาศาลกับกลุ่มนายทุนเครื่องสำอาง เพราะแม้เป็นในสบู่เหลวยี่ห้อดังหลายยี่ห้อ รวมถึงสบู่เหลวสำหรับเด็ก ก็ยังพบว่ามีส่วนผสมของ SLS อยู่ และบางยี่ห้อก็มีส่วนผสมของ Propylene Glycol อยู่ด้วย แต่ถ้าหากเราจะเป็นผู้บริโภคที่รู้จักป้องกันตัวเอง เราไม่ควรคล้อยตามคำโฆษณาที่บอกความจริงเพียงครึ่งเดียวเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกใช้สินค้า แล้วลองศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเอง อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ตนเองและคนในครอบครัวที่เรารักใช้สารเคมีเหล่านี้น้อยลง และเลิกใช้ในที่สุดได้

(ข้อมูลจาก: http://board.narak.com/topic.php?No=16609)

อันตรายที่น่ากลัวจากการใช้เวชสำอาง

         1. สบู่ยา (medicated soaps) มีตัวยาประกอบอยู่ เช่น กำมะถัน กรดซาลิไซลิก เบนซอยล์เปอร์-ออกไซด์ และยาฆ่าเชื้อโรค ยาพวกนี้อาจใช้ได้ผลในการรักษาโรคผิวหนังบางอย่างจริงเมื่อผสม อยู่ในรูปของครีมและโลชั่น แต่การฟอกสบู่เพียงชั่วครู่แล้วก็ล้างออก ยาจึงไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ข้อเสียที่เกิดคือ สบู่ประเภทนี้ทำให้ผิวอักเสบ เกิดการระคายเคืองได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้
            2. สบู่ดับกลิ่นตัว (deodorant soaps) กลิ่นตัวเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียย่อยสลายของ เหลวที่ต่อมเหงื่อ “อะโปครีน” หลั่งออกมา สบู่ดับกลิ่นตัวก็คือ สบู่ธรรมดาที่เพิ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพื่อยับยั้งไม่ให้แบคทีเรียที่เป็นตัวการทำให้เกิดกลิ่น สบู่ดับกลิ่นตัวมักทำให้ผิวแห้ง แต่ถ้าเป็นคนที่มีกลิ่นตัว สบู่นี้ให้ใช้ถูตัวเฉพาะบริเวณรักแร้
         3. สบู่ขัดถู (abrasive soaps) คนที่ผิวปกติไม่สมควรใช้สบู่พวกนี้ เพราะจะทำให้ผิวแห้งและระคายเคือง ยิ่งถ้าในกรณีที่ผิวหน้ามีสิวหรือมีการอักเสบอยู่แล้ว ห้ามใช้สบู่ขัดถู เพราะจะทำให้ทั้งสิวและใบหน้าอักเสบระคายเคืองยิ่งขึ้น
            4. สบู่ที่มีส่วนผสมของผลไม้ ผัก และสมุนไพร (fruit, vegetable and herbal soaps) คือสบู่ธรรมดาที่มีส่วนประกอบไม่แตกต่างไปจากสบู่ทั่วไปเลย ส่วนผสมของผลไม้ ผัก และสมุนไพร ที่แต่งเติมลงไปอาจช่วยให้สบู่มีกลิ่น มีสีน่าใช้มากขึ้น แต่สารเหล่านี้โดยแท้จริงแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์ อะไรต่อผิวแต่ประการใด ๆ เลย จะมีประโยชน์ก็แต่กับผู้ผลิต เพราะสบู่พวกนี้มีราคาสูง
            สบู่นั้นจะช่วยเพียงแค่ขจัดสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง แต่ไม่สามารถทำให้ผิวอ่อนเยาว์ลงได้ หรือไม่สามารถขจัดรอยเหี่ยวย่นได้ ผู้บริโภคจึงควรเลือกแต่สบู่ที่อ่อนที่สุด ใช้แล้วผิวแห้งน้อยที่สุด และระคายเคืองน้อยที่สุดในราคาที่ยุติธรรม

(ข้อมูลจาก: ข้อมูลสื่อ นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 281 กันยายน 2545 คอลัมน์: ถามตอบปัญหาสุขภาพ)

 

อย. ระบุอันตรายในผลิตภัณฑ์เพื่อชีวิตประจำวัน

1. สบู่เหลว นับเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมที่ใกล้ตัวผู้ใช้มาก โดยตามหลักการผลิตที่ถูกต้องแล้ว จะต้องมีเนื้อสบู่อย่างน้อย 25% ผสมกับน้ำ แต่ในประเทศไทยพบว่าไม่มีการขายสบู่เหลวชนิดนี้ โดยจากการสำรวจพบว่า สบู่เหลวที่วางขายอยู่ในท้องตลาดกลับมีส่วนผสมจากสารซักฟอกหรือดีเทอร์เจนท์ผสมกับสารเคมีสังเคราะห์อื่น ๆ ที่ถูกทำละลายให้อยู่ในรูปของเหลว โดยสารซักฟอกหรือดีเทอร์เจนท์เหล่านี้ยังเป็นสารเคมีหลักที่ใช้ในการผลิตแชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดพื้น หรือแม้แต่น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำอีกด้วย แตกต่างกันตรงความเข้มข้นของสารซักฟอกนั่นเอง

สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สบู่เหลวสามารถสะสมเป็นปัญหาในระยะยาว โดยสะสมซึมลงไปในผิวหนัง อวัยวะภายใน เป็นสารเคมีที่ดูดซึมผ่านผิวหนังได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถสะสมอยู่ในดวงตา สมอง หัวใจ ตับ และก่อปัญหาในระยะยาว หากยิ่งมีการใช้ร่วมกับสารประกอบตระกูลเอมีน ก็จะกลายเป็นสารก่อมะเร็งในที่สุด เนื่องจากมีส่วนผสมของสาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) และ PEG (Polyethylene Glycol) ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรง ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาตรากฎหมายห้ามใช้แล้ว

2. ลูกเหม็น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งชนิดก้อน ชนิดเม็ด และชนิดผลึก มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถระเหิดเป็นไอ ส่งกลิ่นสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบอยู่ภายในมาดับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และส่งกลิ่นขับไล่แมลงได้ โดยลูกเหม็นส่วนใหญ่ทำมาจากสารเคมีที่เรียกว่า แนพทาลีน (Naphthalene) มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว แข็ง และสามารถระเหิดเป็นไอได้ง่าย ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ เพราะหากหายใจเข้าไปหรือสัมผัสทางผิวหนังโดยตรง หรือแม้แต่ผ่านเสื้อผ้าที่มีการสัมผัสกับลูกเหม็นจะทำให้ระคายเคืองตา จมูก คอ และผิวหนัง แต่หากเข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ และหากได้รับเข้าไปมาก ๆ จะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายเป็นสาเหตุของการเกิดโรคโลหิตจางโดยเฉพาะในทารก เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีภาวะระดับเม็ดเลือดแดงผิดปกติ

3. น้ำยาปรับผ้านุ่ม มีส่วนประกอบสําคัญคือ น้ำมัน และมีสารเคมีที่เป็นอันตรายอีกหลายชนิดได้แก่ เอทิล อะซิเตท, เบนซิล อะซิเตท, เบนซีน, แอลกอฮอล์, เอทานอล และคลอโรฟอร์ม ที่ช่วยให้ผ้ามีความเรียบ นุ่ม ป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิต ช่วยให้รีดได้ง่าย ลดการยับของผ้า ทําให้สิ่งสกปรกติดเนื้อผ้ายากขึ้น และทําให้ผ้าเปียกน้ำยากขึ้น น้ำมันนี้จะยังคงติดค้างอยู่ในเนื้อผ้าแม้ว่าจะผ่านการซักน้ำและรีดแล้วก็ตาม ซึ่งน้ำมันเหล่านี้จะสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง หรือการสูดดม โดยสารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดการระคายเคือง มีพิษต่อระบบทางเดินหายใจ อาจรุนแรงถึงขั้นทําลายตับและไต โรคโลหิตจาง มีผลต่อระบบประสาท และอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้

4. น้ำยาลบคำผิด (ลิควิดเปเปอร์) ทั่วไปจะประกอบด้วยสารทึบแสงซึ่งช่วยปิดทับคำผิด เช่น titanium dioxide ตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในน้ำยาลบคำผิด ได้แก่ methylchlorohexane เป็นของเหลวไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายเบนซีน ไม่ละลายในน้ำ ติดไฟได้ ควรระวังการสูดดม methylchlorohexane เนื่องจากเป็นก๊าซที่เป็นอันตราย มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยทำให้เกิดอาการระคายเคืองจมูกและลำคอ เวียนศีรษะ มึนงง ง่วง จึงห้ามสูดดมหรือสัมผัสกับน้ำยาโดยตรง 

5. น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาดเครื่องครัวบางชนิดมีโซดาไฟเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เป็นพิษต่อร่างกาย ต่อมาคือสารเคมีที่ใช้ในการขจัดสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้งมักเป็นสารอันตรายที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง รวมทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงการสูดกลิ่นเหล่านี้ เพราะมีอันตรายรุนแรง นอกจากนี้ยังมีน้ำยาทำความสะอาดพื้นบ้านที่นิยมใช้กันแทบทุกบ้านในปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นคือ สารกลุ่มอัลคิลฟีนอล อีธอกไซเลต ซึ่งเป็นโนนิลฟีนอล เอธอกซีเลต (15 EO) หรืออาจเรียกว่า เอธอกซีเลตเตท โนนิลฟีนอล (ethoxylated nonylphenol) (ใช้ชื่อย่อว่า NPE-15 EO) เป็นสารอนุพันธ์ในกลุ่มโนนิลฟีนอลที่มีการเติมหมู่เอธิลีน ออกไซด์ (ethylene oxide) มีรายงานความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสาร NPE ว่าหากรับประทาน สูดดม หรือสัมผัสในปริมาณความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ตา และผิวหนังอย่างรุนแรง

6. น้ำยาล้างเล็บ มีสารอะซีโตน (Acetone) ที่หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก ๆ แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก็สามารถทำให้เกิดอาการแสบจมูก แสบตา มึนศีรษะ อาเจียน เกิดอาการระคายเคืองคอไปถึงปอดได้ หรือรุนแรงหนักก็อาจจะก่อกวนฮอร์โมนเพศหญิง ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับรอบเดือนได้

7. ยาจุดกันยุง ที่นิยมใช้กันคือ กลุ่มไพรีทรอยด์ (pyrethroids) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารไพรีทรินส์ (pyrethrins) ที่สกัดได้จากพืชตระกูลเบญจมาศ (สารสกัดไพรีทรัม หรือ pyrethrum extract) ตัวอย่างสารออกฤทธิ์กลุ่มไพรีทรอยด์ที่นิยมใช้ในยาจุดกันยุงและขึ้นทะเบียนไว้กับ อย. เช่น ดี-อัลเลทริน (d-allethrin), เอสไบโอทริน (esbiothrin), เมโทฟลูทริน (metofluthrin) เป็นต้น สารไพรีทรอยด์ในยาจุดกันยุงจะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว การใช้ยาจุดกันยุงในขนาดและวิธีการใช้ปกติมักไม่พบการเกิดพิษ หากสูดดมควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุงในปริมาณมาก เช่น อยู่ในบริเวณที่คับแคบไม่มีอากาศถ่ายเทติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจเป็นอันตรายได้ แต่หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงจะมีอาการพิษเฉียบพลัน ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติได้ ส่วนอาการพิษอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ อาการแพ้ทางผิวหนัง คัน มีผื่นแดง หากเข้าตาอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้

            นอกจากนี้แล้ว อันตรายจากเทคโนโลยี โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ นับเป็นเทคโนโลยีที่มีสารอันตรายปะปนอยู่ด้วยเสมอ ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ฯลฯ สารพิษนานาชนิดเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาปะปนในอากาศ โดยที่วัสดุสังเคราะห์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะปล่อยสารเคมีหรือไอระเหยที่เป็นพิษนับร้อยชนิดสู่อากาศ ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด ระคายเคือง ไซนัส อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดต้นคอ ปวดศีรษะ เป็นต้น

ยังมีอันตรายจากสารพิษอื่น ๆ ที่แฝงอยู่ในบ้าน จำเป็นที่เราต้องระมัดระวัง โดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติให้มากขึ้น เพราะภัยอันตรายจากสารพิษเหล่านี้ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน ที่สำคัญยังมองไม่เห็น การป้องกันก่อนเกิดจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

(ข้อมูลจาก: บ้านปลอดสารพิษ ชีวิตปลอดภัย. โดย ผศ.ดร.พูลสุข ปรัชญานุสรณ์ สำนักพิมพ์มติชน)

 

จากข้อมูลข้างต้นที่รวบรวมมา ยังพบภัยใกล้ตัวที่ยิ่งกว่าอันตรายจากยาที่เรียกร้องให้เพิกถอนทะเบียน ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวอย่างยิ่ง เช่น น้ำยาบ้วนปากที่ผสมยาฆ่าเชื้อ (chlorhexidine) สบู่ยาที่โฆษณาให้ใช้ในชีวิตประจำวัน ผงยาใส่แผลจำพวกซัลฟ่าและนีโอมัยซิน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกิดพร้อมกับสังคมชีวิตที่เร่งรีบ ประกอบกับมือที่มองไม่เห็นของระบบทุนนิยมที่เน้นด้านวัตถุนิยม ภายใต้การครอบงำของระบบเชิงพาณิชย์ด้วยการทุ่มโฆษณาชวนเชื่อ (ที่บอกความจริงเพียงครึ่งเดียว) ทางสื่อ ทางรอดของผู้บริโภคจึงควรน้อมนำหลักแห่งเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการเสริมสร้างสุขภาพด้วยวิถีชีวิตแบบธรรมชาติให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อันเป็นการนำไปสู่ชีวิตที่มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ใช่หันไปอาศัยแต่การใช้วัตถุเคมี (รวมทั้งยาและเครื่องสำอาง) เพิ่มขึ้น โดยรู้เท่าทันทั้งประโยชน์และโทษมหันต์ของมัน แต่ไม่พึ่งพาและยึดติดในตัววัตถุเคมีเหล่านั้น (Touch everything but wasn’t addicted.) เหมือนหนึ่งอุปมาของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กล่าวถึงการให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ด้านเศรษฐกิจว่า ...

“........หัวใจสำคัญอยู่ที่ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม ไม่ใช่ให้เขาก่อหนี้เพิ่ม”

 

หมายเหตุ (ท้ายบทความ)  

มาตรา 85 (วรรคสอง) ยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วตำรับใดมิได้มีการผลิต หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ให้ทะเบียนตำรับยานั้นเป็นอันยกเลิก

มาตรา 86 ยาใดที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว หากภายหลังปรากฏว่ายานั้นไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ หรือเป็นยาปลอมตามมาตรา 72(1) หรือยานั้นได้เปลี่ยนไปเป็นวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารหรือเครื่องสำอาง โดยได้รับใบอนุญาตผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารที่ควบคุมเฉพาะหรือได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยานั้นได้ การเพิกถอนให้กระทำโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

            คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา 86 ทวิ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ยา ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งแก้ไขทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วได้ตามที่เห็นสมควรหรือตามความจำเป็น

            มาตรา 123 ทวิ ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 5,000 บาท และให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละ 100 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

            มาตรา 123 ตรี ผู้รับอนุญาตผู้ใดส่งรายงานประจำปีเกี่ยวกับการผลิต หรือนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 85 วรรคหนึ่งอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ