ทำสมาธิเปลี่ยนยีน

ทำสมาธิเปลี่ยนยีน

            เราเคยได้ยินว่าการทำสมาธิภาวนาช่วยให้เกิดความนิ่งของจิตใจ จิตสงบ สุขใจ ไร้เครียด ผ่อนคลาย ความจำดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในด้านจิตใจหรืออวัยวะของร่างกาย เราไม่เคยได้ยินว่า การทำสมาธิภาวนาแล้วเปลี่ยนแปลงยีนได้ วันนี้จะเล่าให้ฟังครับ

            คณะนักวิจัยแห่งโรงพยาบาลชื่อดัง Massachusetts General Hospital ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา นำโดยคุณเฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Herbert Benson) กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่พบว่า การทำสมาธิสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ถึงระดับยีน

            สิ่งที่คุณเฮอร์เบิร์ตทำคือ นำอาสาสมัครมาจำนวน 26 ท่าน ก่อนเริ่มทำการวิจัยก็จะมีการวิเคราะห์ gene profiles ของอาสาสมัครเหล่านี้ไว้เป็นบรรทัดฐาน อาสาสมัครเหล่านี้เป็นคนที่ไม่เคยทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นก็ทำการสอนอาสาสมัครเหล่านี้ให้ทำสมาธิให้เป็น ฝึกการผ่อนคลาย ซึ่งประกอบไปด้วย การฝึกการหายใจเข้า-ออก ท่องคำภาวนา และสอนการตัดความกังวลต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

            ให้ทำสมาธิทุกวัน วันละ 10-20 นาที

            หลังจากทำสมาธิได้ 8 สัปดาห์ก็นำอาสาสมัครเหล่านี้มาตรวจ gene profiles ซ้ำอีก สิ่งที่พบคือ กลุ่มยีนที่ก่อประโยชน์แข็งขันขึ้น ในขณะที่ยีนที่ก่อผลเสียต่อร่างกายลดความแข็งขันลง

            กลุ่มยีนที่ก่อประโยชน์ที่แข็งขันขึ้นนั้น ส่งผลดีสามด้าน ประการแรกเพิ่มประสิทธิภาพของไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ ประการที่สองเพิ่มประสิทธิภาพของการสร้างอินซูลิน ซึ่งช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และสุดท้ายป้องกันการกร่อนสั้นของทีโลเมีย (telomeres) ซึ่งเป็นหมวกปลายยีน มีส่วนในการคง DNA ให้เสถียร และป้องกันการเสื่อมสลายและชราภาพของยีน

            ในด้านกลุ่มยีนที่ก่อผลเสียต่อร่างกายที่ถูกลดทอนความแข็งขันลงจากการทำสมาธิคือ ยีนกลุ่ม NF-kappa B ซึ่งยีนนี้กระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) ของเซลล์ เมื่อมีการอักเสบเรื้อรังผลที่ตามมาคือ การมีความดันโลหิตสูง การเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน การเป็นโรคทางเดินอาหารอักเสบ รวมไปถึงการเป็นมะเร็งบางชนิด

            น่าทึ่งมากนะครับ ผลของการทำสมาธิ

            ที่น่าทึ่งอีกอย่างคือ ผลเหล่านี้เกิดหลังการทำสมาธิเพียงไม่กี่นาที!

            ทั้งนี้คณะนักวิจัยเจาะเลือดเพื่อตรวจยีนก่อนการทำสมาธิและเจาะทันทีหลังทำสมาธิก็พบความเปลี่ยนแปลงของยีนดังกล่าวแล้ว

            เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่ได้ฝึกสมาธิเป็นประจำ คณะนักวิจัยก็ได้นำอาสาสมัครที่ทำสมาธิสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ปี มาจำนวน 26 ท่าน ก่อนการให้ทำสมาธิในการทดลองได้มีการเจาะเลือดตรวจ gene profiles นักวิจัยก็ได้พบว่า ยีนของกลุ่มคนที่ทำสมาธิประจำเหล่านี้มีกลุ่มยีนอันเป็นประโยชน์มากอยู่แล้ว สิ่งนี้ยืนยันผลของการทำสมาธิอีกเช่นกัน และในขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานว่าผลดีอันนี้เป็นผลดีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน

            คุณจูลี่ เบรฟซินสกี้-เลวิส (Julie Brefczynski-Lewis) นักวิจัยผลของสมาธิต่อสรีรวิทยาของร่างกายแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียตะวันตก (West Virginia University) เมืองมอร์แกนทาวน์ กล่าวว่า ผลของสมาธิเกิดขึ้นเร็วในเวลาเพียงแค่ 15-20 นาทีเท่านั้น และในทำนองตรงกันข้าม ความเครียดก็ส่งผลเร็วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการหลั่งฮอร์โมนความเครียด การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ต้องระวังเพราะมันก็ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวด้วย

            คุณเฮอร์เบิร์ต เน้นว่ายิ่งท่านทำสมาธิมากเท่าไร ความเปลี่ยนแปลงดี ๆ ที่เกิดกับยีนก็ยิ่งถาวรเท่านั้น

            ขณะนี้คณะนักวิจัยชุดนี้กำลังศึกษาต่อว่า การทำสมาธิเช่นนี้จะมีส่วนช่วยในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคลำไส้อักเสบ และมะเร็ง multiple myeloma ได้หรือไม่