การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ

การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ 
ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
           
 ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในขณะนี้ เนื่องจากพบว่าทำให้ประชาชนเสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยาจำนวนมากและก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประเทศไทยมีการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 38,000 คน คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 42,000 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์จากทั่วโลกหากไม่เร่งแก้ปัญหา ในปี พ.ศ. 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน และในทวีปเอเชียจะมีการเสียชีวิตถึง 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท (100 trillion USD)

ทิศทางของรัฐบาลต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร

            กระทรวงสาธารณสุขได้นำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติ[1]

            1. เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้

                        1.1 เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบการทำงานให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในการร่วมแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ มีทิศทางการดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “การป่วย การตาย และการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเชื้อดื้อยาลดลง” ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ

(1) การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
(2) การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ
(3) การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม
(4) การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง
(5) การเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพแก่ประชาชน
(6) การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน

                        1.2 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564

                        1.3 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

            2. ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรนำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป สำหรับกลยุทธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพแก่ประชาชน ควรพิจารณาให้ครอบคลุมประเด็นการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในด้านการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ การส่งเสริมการขายยาต้านจุลชีพที่สอดคล้องกับเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา และการจัดระบบติดตามและเฝ้าระวังการส่งเสริมการขายยาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม รวมทั้งในขั้นตอนการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ควรพิจารณากำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานที่มีเป้าหมายร่วมกันระหว่างหน่วยงาน (Joint KPI) และจัดทำแผนงาน/โครงการที่ใช้งบประมาณในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินการเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

            ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ คือ เห็นชอบร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (Political Declaration of the High-level Meeting of the General Assembly on Antimicrobial Resistance) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในการจัดการกับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (United Nations General Assembly (UNGA) High-level Meeting on Antimicrobial Resistance) ในวันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย[2]

            จากนั้น วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีเปิดการประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในฐานะกลุ่ม 77 และจีน ในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ [High-level Meeting on Antimicrobial Resistance (AMR)] ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยกล่าวถึงการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัย
            การแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องสนับสนุนเป้าหมายต่าง ๆ ที่ครอบคลุม ดังนี้[3]

            (1) ส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้กรณีการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ คน และการเกษตรอย่างเหมาะสม

            (2) เสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันการเข้าถึงน้ำสะอาด สุขลักษณะและสุขอนามัย การสร้างภูมิคุ้มกัน และการควบคุมการติดเชื้อทั้งในและนอกสถานพยาบาล

            (3) สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพและส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

            (4) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนายาต้านจุลชีพ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงยาแผนดั้งเดิมและยาสมุนไพรอย่างเร่งด่วน โดยมีหลักประกันว่าต้องเป็นไปตามความจำเป็น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และรับผิดชอบร่วมกัน โดยยึดหลักราคาสมเหตุสมผล มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความเท่าเทียม โดยตัดความเชื่อมโยงระหว่างต้นทุนการวิจัยและพัฒนาจากราคาและปริมาณในการขาย กลุ่ม 77 และจีน ยินดีที่หลักการการตัดความเชื่อมโยงนี้ได้รับการเน้นความสำคัญในปฏิญญาทางการเมือง

            (5) สร้างหลักประกันให้ราคายาไม่สูงเกินไปและสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และเครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ ทั้งที่มีอยู่และแบบใหม่ ซึ่งยินดีต่อผลลัพธ์ของการอภิปรายระดับสูงเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งจัดโดยเลขาธิการสหประชาชาติ

            (6) เสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ และการติดตามดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพ เราต้องสนับสนุนการวิจัยระบบสาธารณสุข และการวิจัยและพัฒนาทั้งประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนการคุ้มครองและสร้างหลักประกันในการเข้าถึงยา ทั้งหมดนี้จะต้องทำโดยคำนึงถึงการมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม โดยไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ หรือก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

ประเด็นกฎหมายที่ต้องติดตาม

            แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีเป้าประสงค์ให้ภายในปี พ.ศ. 2564 การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ลดลงร้อยละ 20 ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลดลงร้อยละ 30 ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลไม่ต่ำกว่าระดับ 4

            ประเด็นด้านกฎหมายที่น่าจะเป็นไปได้จากแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องดังต่อไปนี้ เช่น ระบบการควบคุมและติดตามการกระจายยาต้านจุลชีพแบบบูรณาการทั้งยาสำหรับมนุษย์และยาสัตว์ การควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในคลินิกและในร้านยา การลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการทำปศุสัตว์และประมง การเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพในพืช ควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในสถานพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยง

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ระบุชัดเจนในแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ในส่วนที่ 4 ผลที่คาดว่าจะได้รับ โดยกล่าวถึงผลสำเร็จไว้ว่า

            (1) ภายในระยะเวลา 6 เดือน จะต้องมีการประกาศยกเลิกรายการยาต้านจุลชีพจากการเป็นยาสามัญประจำบ้าน[4]

            (2) ภายในระยะเวลา 12 เดือน จะต้องมีประกาศปรับประเภทยาต้านจุลชีพ (reclassification) 1 ฉบับ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ควบคุมการผลิต ขาย ใช้ ยาผสมลงในอาหารสัตว์ 1 ฉบับ

            ส่วนประเด็นด้านกฎหมายด้านอื่นยังไม่มีการกล่าวถึงในแผนยุทธศาสตร์ คงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564. เอกสารประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559.
  2. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99320767
  3. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (Political Declaration of the High-level Meeting of the General Assembly on Antimicrobial Resistance) [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99321298
  4. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ข่าวทำเนียบรัฐบาล [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.thaigov.go.th/index.php/th/government-th1/item/107361-107361 (วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559)

 

 

[1]

                  [1]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564. สืบค้นจาก https://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99320767

 

[2]

                  [2]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (Political Declaration of the High-level Meeting of the General Assembly on Antimicrobial Resistance). สืบค้นจาก https://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99321298

 

[3]

                  [3]สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ข่าวทำเนียบรัฐบาล. สืบค้นจาก http://www.thaigov.go.th/index.php/th/government-th1/item/107361-107361 (วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559)

[4]

                  [4]ประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า ควรให้ยาต้านจุลชีพทั้งหมดมีสถานะขั้นต่ำเป็นยาอันตราย เนื่องจากในปัจจุบันยังมียาต้านจุลชีพจำนวนหนึ่งไม่ได้เป็นยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ส่งผลให้โฆษณาทางสื่อต่าง ๆ ต่อประชาชนทั่วไปได้ อันจะส่งผลให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลได้