ใบกระท่อม สมุนไพรเพื่อรักษา หรือยาพิษ ?

ใบกระท่อม สมุนไพรเพื่อรักษา หรือยาพิษ ?

            กระท่อม (Kratom, Mitragyna speciosa) เป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่งที่อยู่ตระกูลเดียวกับกาแฟและต้นพุทธชาด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศตะวันออกเฉียงใต้ ใบกระท่อมถูกนำมาบริโภคกันเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้วในแถบประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เพื่อใช้รักษาอาการอ่อนเพลียหรืออ่อนล้า อาการปวด และอาการถอนฤทธิ์ยาในกลุ่มฝิ่น โดยนำใบมาเคี้ยวรับประทานสด สกัดเป็นน้ำ ทำเป็นใบแห้งใช้สำหรับชงชา หรือบรรจุลงในเม็ดแคปซูลก็ได้ ส่วนน้อยมีการนำมาใช้เป็นแบบยาสูบ ปัจจุบันเริ่มมีการกระจายการใช้ใบกระท่อมไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา

            ฤทธิ์ของใบกระท่อมนั้นขึ้นอยู่กับขนาดที่บริโภคเข้าไป (Dose-dependent) โดยการรับประทานในขนาดตั้งแต่ 1-5 กรัมจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้รู้สึกสดชื่นมีกำลัง ขนาด 5-15 กรัมจะออกฤทธิ์คล้ายกับฝิ่น คือทำให้รู้สึกเคลิ้ม (euphoria) และในขนาดที่มากกว่า 15 กรัมขึ้นไปจะมีฤทธิ์กดประสาท ง่วงและซึมลงได้คล้ายกับฤทธิ์ของฝิ่น ซึ่งฤทธิ์ของใบกระท่อมดังกล่าวเกิดจากสารชื่อ mitragynine ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม indole alkaloid สารนี้มีคุณสมบัติจับกับ mu-opioid receptor ได้ดีมาก แต่ยังน้อยกว่ามอร์ฟีน (morphine) และจับกับ delta- และ kappa-opioid receptor ได้บ้าง แต่มากกว่ามอร์ฟีน

            จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ใบกระท่อมมีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดและสามารถแก้ฤทธิ์ได้ด้วยยา naloxone มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดไข้ได้ด้วย ซึ่งฤทธิ์บางส่วนของใบกระท่อมไม่สามารถอธิบายผ่านกลไกกระตุ้น opioid receptor ได้ โดยคาดว่าน่าจะเป็นการออกฤทธิ์ผ่านกลไกอื่น ๆ เช่น noradrenergic หรือ serotonergic mechanisms ใบกระท่อมสามารถทำให้เกิดอาการติดยา (addiction) ได้ โดยพบทั้งในสัตว์ทดลอง และจากผลการสำรวจในคนที่มีประวัติการใช้ใบกระท่อมอย่างเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากอาการติดยาที่เกิดขึ้นในบุคคลที่มีประวัติการใช้ใบกระท่อมอย่างเรื้อรังดังกล่าว

            สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา ใบกระท่อมถือว่าเป็นสารที่ถูกกฎหมายในหลายรัฐ และให้คำนิยามเพื่อการควบคุมการใช้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในร้านขายยาสูบและผ่านทางอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะห้ามนำเข้าใบกระท่อมแล้ว โดยให้เหตุผลว่าในใบกระท่อมมีสารบางชนิดที่ไม่ได้มีการระบุไว้ในการเสนอนำเข้าก่อนหน้านี้ และไม่มีข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยและพิษของสารในใบกระท่อมที่ชัดเจน

            อาการข้างเคียงเฉียบพลันที่เกิดจากใบกระท่อม ได้แก่ อาการหงุดหงิด วิตกกังวล หรือฉุนเฉียว หรืออาจมีอาการคล้ายกับสารจากฝิ่น ได้แก่ อาการง่วงซึม คลื่นไส้ ท้องผูก และอาการคันตามร่างกายได้ ผู้ที่ใช้ใบกระท่อมติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผิวตามบริเวณใบหน้าและแก้มคล้ำลง น้ำหนักลด หรือมีอาการประสาทหลอนได้ ส่วนอาการที่เกิดขึ้นจากการใช้ใบกระท่อมเกินขนาด ได้แก่ อาการใจสั่น และอาการชัก ส่วนอาการที่เกิดขึ้นจากการถอนฤทธิ์ใบกระท่อม ได้แก่ อาการปวดตามกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย และอาการแน่นหน้าอก มีรายงานอาการถอนฤทธิ์ใบกระท่อมในทารกที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้ใบกระท่อมด้วย

            สารในใบกระท่อมสามารถมีอันตรกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) กับยาอื่นได้หลายชนิดเนื่องจากสารในใบกระท่อมมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกลุ่ม cytochrome P450 CYP2C9, CYP2D6 และ CYP3A4 และเมื่อมีการใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น tramadol อาจเสริมกันมากขึ้น และทำให้มีการกดระบบประสาทที่มากขึ้นได้

ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองการได้รับสารพิษเบื้องต้นยังไม่สามารถทำการตรวจหาสารจากใบกระท่อมในร่างกายได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่เข้าได้กับฤทธิ์ของใบกระท่อม และไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุอื่น ควรสงสัยการใช้ใบกระท่อมในผู้ป่วยเหล่านี้ไว้ด้วยเสมอ