เกาะติดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9

เกาะติดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานของรัฐได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และถูกนำมาใช้สำหรับแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นเวทีในการนำเสนอและผลักดันนโยบายและกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน สู่ระดับชาติและระดับต่าง ๆ ต่อไป

 การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้จัดมาเป็นครั้งที่ 9 แล้ว ในปีนี้จะจัดงานระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ

2. น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน

3. การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม

4. สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน

5. รายงานความก้าวหน้าในการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ประเด็นปัญหาโดยสังเขปที่ทำให้ต้องมีการนำเสนอเป็นระเบียบวาระการประชุม

            1. การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ เนื่องจากมีปัญหาขาดการบูรณาการด้านนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ แผนการปฏิบัติงาน งานพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยซึ่งกระจายอยู่ในหลายกระทรวง ทำให้การจัดการและการพัฒนาขาดเอกภาพและไม่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ ผลที่ตามมา เช่น ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย ไม่มีแหล่งเงินทุนสำหรับเข้าถึงที่อยู่อาศัยในทุกระดับรายได้ แหล่งที่อยู่อาศัยของคนไทยตกอยู่ในมือของต่างชาติในทางปฏิบัติ แหล่งที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะอันมีผลต่อคุณภาพชีวิต มีความยากลำบากในการเดินทาง ต้องลงทุนด้านสาธารณูปโภคสูง ซึ่งจะกระทบต่องบประมาณของประเทศด้วย

            2. น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีมติที่ 64/292 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ยอมรับสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงน้ำและสุขอนามัย รวมทั้งยอมรับว่าน้ำดื่มที่สะอาดเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสิทธิมนุษยชน แต่ปัจจุบันพบว่ายังมีประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำได้ในขั้นพื้นฐาน น้ำที่บริโภคยังมีปัญหาด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย (เช่น ยังพบไม่ผ่านเกณฑ์ด้านแบคทีเรีย ของแข็งที่ละลายในน้ำ ค่าความเป็นกรดด่าง พบปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีความปลอดภัย) ตลอดจนถึงพบปัญหาด้านความเป็นธรรมในรูปแบบของน้ำและราคา (เนื่องจากไม่มั่นใจคุณภาพน้ำ จึงเลือกซื้อน้ำตามโฆษณาซึ่งแพงเกินจริงและไม่มีการควบคุมราคา) ตลอดจนขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างเพียงพอและทันสถานการณ์ นอกจากนี้กฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับน้ำดื่ม (ตลอดจนภาชนะบรรจุ) ยังกระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ไม่บูรณาการระหว่างกัน ไม่สามารถใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            3. การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาคนอย่างมีประสิทธิภาพต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนอายุ 6 ปีบริบูรณ์) แต่กลับพบว่าเด็กยังมีปัญหาด้านโภชนาการมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่อนข้างต่ำ มีภาวะไอคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ พ่อแม่ขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม ขาดหนังสือที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเด็กและทักษะการเรียนรู้ ไม่มีหน่วยงานซึ่งเป็นผู้ดูแลเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน แม้ว่าจะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัยและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 แต่การดำเนินงานยังมีลักษณะแยกส่วน ขาดความเชื่อมโยงในระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่

            4. สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ปัญหาโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข แม้จะมีความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้ลดลง ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัดในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านการควบคุมโรค รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการ ประชาชนส่วนหนึ่งไม่ร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สถานพยาบาลไม่ส่งรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ประชาชนในเขตเมืองไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายหรือฉีดพ่นสารเคมีในบ้าน

รายงานความก้าวหน้าในการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

            การประชุมในครั้งนี้จะมีวาระการรายงานผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการยาโดยตรงมีเรื่อง การติดตามความคืบหน้าแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ. 2557-2561 และการติดตามความคืบหน้าการจัดการสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย

            1. แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ. 2557-2561 ภายหลังมีมติแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ. 2557-2561 ได้รับฉันทามติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ซึ่งมีความก้าวหน้าการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

             - สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพัฒนาช่องทางร้องเรียนทางหมายเลขโทรศัพท์ 1556 อีเมล 1556@fda.moph.go.th นอกจากนี้ยังผลิตสื่อบนเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในสื่ออินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย

            - การเฝ้าระวังและปราบปรามการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยตรวจพบโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 52 รายการ ส่วนวิทยุกระจายเสียงพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย 33 รายการ ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการแจ้งระงับโฆษณาและเปรียบเทียบปรับเจ้าของสื่อโทรทัศน์และวิทยุทั้งหมด 65 รายการ และปี พ.ศ. 2559 มีจำนวน 37 รายการ

            - การสร้างและพัฒนาเครือข่ายกลไกการเฝ้าระวังจัดการปัญหาการโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับประเทศและพื้นที่ให้เข้มแข็ง โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กสทช. องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ในจังหวัดนำร่อง 12 จังหวัด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในการกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง     

         2. การจัดการสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย มติการจัดการสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย ได้รับฉันทามติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

            - คณะรัฐมนตรีได้พิจารณารับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ ลำดับความสำคัญเร่งด่วนโดยยึดหลักคือ นโยบายของรัฐบาล กฎหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนงบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่ของหน่วยงาน

            - คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการจัดการปัญหายาสเตียรอยด์ (ชื่อในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 มีบทบาทหน้าที่ในการ กำหนดนโยบาย มาตรการ ติดตาม และประเมินผล บูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ป้องกัน ปราบปรามการใช้ยาสเตียรอยด์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ ตลอดจนคัดกรอง ส่งต่อ และรักษาผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

            - มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายยา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป จำกัดปริมาณการขายส่งยาจำพวกคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในตำรับยาเดี่ยว รูปแบบยาเม็ดและยาแคปซูล กับผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันจำนวนไม่เกิน 1,000 เม็ดหรือแคปซูลต่อแห่งต่อเดือน ต้องรายงานเข้าระบบ FDA Reporter ตลอดจนต้องทำบัญชีที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องระบุชื่อ-สกุลของผู้ซื้อ

            - มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดให้ยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) และยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) และเกลือของยาดังกล่าวเป็นยาที่ต้องรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ระบบรายงานครอบคลุมวัตถุดิบถึงยาสำเร็จรูป)

            - จัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้เภสัชเคมีภัณฑ์ เกลือเภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและยา เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. …. และ (ร่าง) ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการอนุญาตให้นำเภสัชเคมีภัณฑ์ เกลือเภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและยานำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. …. เพื่อกำหนดให้สเตียรอยด์ (ทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป) เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าและส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งต้องมีการรับฟังความเห็นต่อไป

            - อยู่ระหว่างพิจารณาการจำกัดช่องทางการจำหน่าย จำกัดปริมาณการผลิต นำเข้าและจำหน่ายยาสเตียรอยด์ (ทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป) และทบทวนทะเบียนตำรับสเตียรอยด์ เช่น ลักษณะยา รูปแบบของยา หรือสัญลักษณ์ รวมทั้งยกเลิกทะเบียนตำรับยาเม็ดเบต้าเมทาโซน ให้เอื้อต่อการนำไปใช้อย่างถูกต้องตามความจำเป็นด้านสุขภาพนั้น

            - อยู่ระหว่างพัฒนาการจัดการฐานข้อมูลการกระจายสเตียรอยด์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันและเป็นปัจจุบัน ตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบ การผลิตยาสำเร็จรูป และการจำหน่ายของแหล่งกระจายยา เช่น ร้านยา สถานบริการสุขภาพ ซึ่งได้ปรับปรุงระบบ FDA Reporter เพื่อควบคุมการกระจายยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561)

            - พัฒนาระบบรายงานและประเมินผลมาตรการการจัดการสเตียรอยด์ในภาพรวมของประเทศเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ การศึกษาวิจัย เพื่อรองรับการรายงาน โดยมีการร่วมมือกับภาคประชาชนและเผยแพร่รายงานสู่สาธารณะเป็นระยะ การดำเนินการที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการจากวิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ทำวิจัยเพื่อประเมินผลระบบควบคุมการกระจายสเตียรอยด์ผ่าน FDA Reporter

            - การเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการปลอมปนสเตียรอยด์ ข้อมูลการโฆษณาและการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการปลอมปนสเตียรอยด์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนรับแจ้งเรื่องร้องเรียน ข้อมูลเบาะแส และการกระจายสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมหรือการปลอมปนสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดการปัญหาสเตียรอยด์ มีศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และได้ปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายผู้กระทำผิด (เช่น การนำสเตียรอยด์ไปปลอมปนกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ) ใน 25 จุด เขตพื้นที่ขอนแก่น โดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)

            - การรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาสเตียรอยด์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ดำเนินกิจการสถานพยาบาล ผู้ประกอบการด้านยา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม./อสส.) และประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายในการใช้สเตียรอยด์ 

            - เร่งผลิตชุดตรวจการปลอมปนสารสเตียรอยด์ออกจำหน่ายแก่หน่วยงาน และประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลาย โดยมีราคาที่เหมาะสม

_______________

เอกสารอ้างอิง

            สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (2559). เอกสารหลัก/เอกสารร่างมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9. สืบค้นจาก http://www.samatcha.org/nha/website/subs/index/9/31/1/เอกสารหลัก|เอกสารร่างมติ203 (สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559)