จะเชื่อใครดี ?

จะเชื่อใครดี?

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

            ทุกวันนี้ข้อมูลใหม่ ๆ มีเข้ามาชนิดที่เรียกว่า หลั่งไหลยิ่งกว่าน้ำป่าไหลทะลัก โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคที่อินเตอร์เน็ตมีความเร็วสูงขึ้น สมาร์ทโฟนราคาถูกลง ข้อมูลจึงเต็มไปหมด

            ข้อมูลเยอะแยะแบบนี้มีทั้งที่เชื่อถือได้และเชื่อถือไม่ได้ เพราะที่มาที่ไปของแต่ละข้อมูลนั้นแตกต่างกันมาก

            ปัญหาคือ จะเชื่ออะไร หรือว่าเชื่อใครดี?

            เนื้อหาที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของ ศ.นพ.จอร์จ ลุนเบิร์ก (George Lundberg) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบรรณาธิการของแหล่งข้อมูลทางการแพทย์ใหญ่ระดับโลกชื่อ Medscape ครับ

            ท่านศาสตราจารย์บอกว่า เมื่อก่อนเวลาที่เราจะหาข้อมูลอะไรที่เราอยากรู้ เราก็จะดู รายงานผู้ป่วย (case report), ข้อสังเกตที่แพทย์ช่วยกันแชร์ (observational anecdotes shared by physicians) หรือพวกรายงานรวบรวมกลุ่มผู้ป่วย (case series) ตลอดไปจนการวิจัยที่ก็มีหลายระดับความน่าเชื่อถือ เช่น รายงานการเฝ้าติดตาม (observational studies), การวิจัยแบบมีตัวเปรียบเทียบ (case-controlled studies) การวิจัยทางคลินิกทั้งหลายทั้ง clinical trials, prospective, randomized, controlled trials

            เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ๆ ก็มีผู้รีวิวรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาสรุปรวบยอด อีกทั้งวิเคราะห์และวิจารณ์ให้ผู้อ่านได้คิดตาม ซึ่งก็หลีกไม่พ้นความเอนเอียงของผู้รวบรวม แม้จะมีระบบแนวทางที่แนะนำกันที่เรียกว่า systematic reviews และท้ายที่สุด ถ้าหากผลของการรีวิวยังไม่สามารถชี้ชัดลงได้ก็จะมาถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “meta-analysis” ด้วยหวังที่จะเป็นข้อสรุปจากการนำเอาข้อมูลจำนวนมาก ๆ มารวมกัน โดยเฉพาะได้จำนวนผู้ป่วยมากมายชนิดที่การวิจัยชิ้นเดียวไม่สามารถรวบรวมได้มากขนาดนั้น

            แต่ตรงนี้แหละครับ “ที่เป็นช่องโหว่มโหฬาร”

            เพื่อนแพทย์ท่านหนึ่งของ ศ.นพ.จอร์จ ที่ทำงานอยู่ในสแตนฟอร์ดเช่นกันได้เคยรายงานไว้ว่า

            ในระหว่างปี ค.ศ. 1986-2015 แหล่งข้อมูลที่ชื่อ PubMed ได้แท็ก (tag) คำว่า “systematic reviews” เอาไว้ 266,782 ครั้ง และแท็กคำว่า “meta-analysis” เอาไว้ 58,611 ครั้ง ซึ่งในระหว่างปี ค.ศ. 1991-2014 นั้นมีรายงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 153 แต่ “systematic reviews” เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,728 ในส่วน “meta-analysis” เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,635!

            นี่มันเกิดอะไรขึ้นเนี่ย?

            ข้อมูลขั้นต้นที่เอามาทำ meta-analysis ซ้อนทับ (overlap) กันอย่างมหาศาล!

            และคงหลีกเลี่ยงได้ยากที่ผู้ทำการวิจัยและรายงานเหล่านี้จะไม่เกี่ยวข้องกับ “เงิน” หรือ “สิ่งตอบแทน” จากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

            การวิจัยทางด้านพันธุกรรมเป็นตัวอย่างอันดีของความสัมพันธ์แบบนี้ เพราะตรงนั้นเป็นแหล่งเงินมหาศาล หรืออย่างประเทศใหญ่โตที่เริ่มผงาดตัวก็รายงานทำนองนี้ที่น่าสงสัยมากขึ้นทุกวัน

            ทุกวันนี้ เราในฐานะคนอ่านคนเสพข้อมูลและนำไปใช้คงต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มาของข้อมูล วิธีการวิจัย และการวิเคราะห์ข้อมูล นอกเหนือไปจากนี้ แหล่งเงินทุนที่ให้แก่การวิจัย ชื่อเสียงของผู้วิจัย/สถาบัน รวมไปถึงคุณภาพของวารสารการแพทย์นั้น ๆ เป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้นที่ต้องนำมาไตร่ตรอง

            ทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้มีวารสารการแพทย์มากถึง 30,000 เล่ม!

            อะไรจะมากมายขนาดนั้น

            ศ.นพ.จอร์จ เล่าต่อว่า ในปี ค.ศ. 2016 นี้เขาเคยตั้งคำถามเล่น ๆ ให้เพื่อนร่วมงานที่เป็นกองบรรณาธิการวารสารอยู่ด้วยกัน 66 ท่านช่วยตอบว่า ลองเอ่ยชื่อวารสารการแพทย์เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่ท่านเชื่อถือมาสัก 10 เล่ม

            มีเพื่อนของท่านร้อยละ 44 ตอบคำถามนี้ส่งมา ทั้งหมดนี้เอ่ยชื่อวารสารได้รวมกัน 70 เล่ม มีอยู่เพียงแค่ 10 เล่มเท่านั้นที่ได้คน 10 คนขึ้นไปเอ่ยชื่อถึง อีก 8 เล่มมีคนเอ่ยถึง 5-9 คน ส่วนอีก 16 เล่มมีคน 2-4 คนเอ่ยถึง ส่วนวารสารที่เหลือแต่ละเล่มมีคนเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เห็นว่าเชื่อถือได้!

            โอย... แล้วเราจะเชื่ออะไรใครได้ล่ะเนี่ย

            ศ.นพ.จอร์จ เห็นว่าทุกวันนี้ทั้ง “systematic reviews” และ “meta-analysis” มันเฝือเกินไปแล้ว ความน่าเชื่อถือในบุคคล (ที่เราเรียกกันว่าผู้เชี่ยวชาญ) ก็คลอนแคลน คนอ่านคงต้องใช้วิจารณญาณกันอย่างสูงยิ่ง

            มาถึงตรงนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงวลีนี้ได้

            “Lies, Damned Lies and Statistics!”