Needle-Free Jet Injections กับการบริหารยาในอนาคต

Needle-Free Jet Injections กับการบริหารยาในอนาคต

โดยปกติการบริหารยาแก่ผู้ป่วยมีหลายวิธี เช่น ทางปาก ให้โดยการฉีด ให้ทางหลอดเลือดดำ ให้ทางผิวหนัง เป็นต้น สำหรับการฉีดยานั้นเป็นการฉีดสารที่เป็นของเหลวเข้าไปในเนื้อเยื่อ หลอดเลือด หรือช่องในร่างกาย การฉีดยาเป็นการให้ยาที่ได้ผลเร็ว แต่มีวิธีการที่ยุ่งยาก สิ้นเปลือง เสี่ยงต่ออันตราย ดังนั้น การให้ยาวิธีนี้จึงกระทำเมื่อจำเป็น และเมื่อไม่สามารถให้โดยวิธีอื่นได้

            การฉีดยาโดยทั่วไปในการรักษาพยาบาลมี 4 วิธี ดังนี้

  1. การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular injection)
  2. การฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection)
  3. การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous injection)
  4. การฉีดยาเข้าผิวหนัง (intradermal injection)

            การบริหารยาให้แก่ผู้ป่วย (drug administration) ด้วยการฉีดและนำส่งผ่านเข็ม (syringe needle injection) เป็นวิธีที่แพร่หลายและมีการใช้งานอย่างกว้างขวาง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการยามีราคาถูก และที่สำคัญการนำส่งยาด้วยวิธีนี้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าวิธีอื่น ๆ เช่น การรับประทาน สูดดม หรือปล่อยให้ซึมผ่านผิวหนัง แต่อย่างไรก็ตาม การฉีดยาด้วยเข็มก็ยังมีข้อด้อยหรือข้อจำกัด และปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารจัดการยาของแพทย์อยู่หลายประการ เช่น

  • การติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากการแทงของเข็ม
  • ความกังวลและอาการกลัวเข็มของผู้ป่วย
  • อาการปวดบริเวณที่ฉีด (site pain) ระหว่างและหลังการฉีด เนื่องจากเป็นการใช้วัสดุแหลมคมแทงผ่านผิวหนัง
  • ผู้จ่ายยาหรือผู้ฉีดต้องมีความเชี่ยวชาญ ได้รับการอบรมหรือฝึกมาอย่างดี

            ในปัจจุบันได้มีการพยายามพัฒนาวิธีการบริหารเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการฉีดยาคือ การฉีดยาแบบไร้เข็มที่มีความสะดวก ปลอดภัย และผู้ป่วยให้ความร่วมมือมากขึ้น นั่นคือ ระบบการนำส่งยาด้วยลำพุ่งความเร็วสูง หรือที่เรียกว่า needle-free jet injections

สำหรับการนำส่งยาด้วยลำพุ่งความเร็วสูง (needle-free jet injections) ซึ่งเป็นวิธีที่มีหลักการคล้ายกับการฉีดด้วยเข็ม แต่แตกต่างกันเพียงการเอาลำพุ่งของเหลวของยาที่มีความเร็วสูงเจาะแทนเข็ม ซึ่งวิธีนี้จะอาศัยการเจาะผ่านผิวหนังของลำพุ่งความเร็วสูงของยาที่ออกจากหัวฉีดที่เรียกว่า nozzle โดยการกดตัวยาที่เป็นของเหลว (liquid medication) ในหัวฉีดให้มีความดันสูงและไหลผ่านปลายหัวฉีดที่เป็นคอคอดขนาดเล็ก ตัวหัวฉีด (nozzle orifice) ที่ใช้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 76-360 micrometers เป็นตัวลำเลียงยาแทน ซึ่งสามารถส่งผ่านตัวยาเข้าไปใต้ผิวหนัง ไปสู่ชั้นไขมันหรือกล้ามเนื้อได้อย่างง่ายดายด้วยความเร็ว 100 m/s (ขึ้นอยู่กับความหยาบและหนาของผิวหนัง รวมถึงบริเวณที่ฉีดด้วย) 

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่