ความคืบหน้าของการจัดการยาโคลิสติน (Colistin)

ความคืบหน้าการจัดการยาโคลิสติน (Colistin)

            จากกรณีที่ทีมนักข่าวหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ได้ลงสำรวจพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงหมูในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งได้พบว่ามีการใช้ยาหลายชนิดในการเลี้ยงหมู หนึ่งในยาเหล่านั้นเป็นยาโคลิสติน (Colistin) โดยยานี้เป็นยาที่แพทย์เก็บไว้ใช้ในกรณีจำเป็น ใช้เป็นยาชนิดสุดท้ายสำหรับผู้ป่วยวิกฤติซึ่งยาชนิดอื่นใช้ไม่ได้ผล หลังจากนั้นได้มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา[i] เป็นกระแสที่ทำให้เกิดการตื่นตัว ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในวงการสาธารณสุขและวงการปศุสัตว์ต่อข่าวที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ยาดังกล่าว แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวนี้ว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังไล่บี้ตรวจสอบ บางเรื่องทำกันมานานแล้ว รัฐบาลพยายามกวดขันกันมาตลอด เมื่อตรวจพบหน่วยงานต้องจัดการ”[ii]

สถานะของยาโคลิสตินในปัจจุบัน

            ยาโคลิสตินเป็นยาอันตราย ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 (อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับสถานะให้เป็นยาควบคุมพิเศษ)

            ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยาโคลิสตินสำหรับสัตว์มีขึ้นทะเบียนทั้งหมด 146 ตำรับหรือยี่ห้อ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ยาสำหรับฉีด 11 ตำรับ และยาที่ใช้ผสมเป็นอาหาร 135 ตำรับ[iii] ตัวอย่างข้อบ่งใช้กรณีผสมอาหารสัตว์ เช่น เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคท้องร่วง

ประเด็นความกังวล

            จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนนั้น พบว่ามีประเด็นความกังวลที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ยาโคลิสติน คือ เรื่องการตกค้างในเนื้อสัตว์ ประเด็นนี้ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เคยกล่าวไว้ว่า ยาโคลิสตินไม่ได้ตกค้างในเนื้อหมูในปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กังวลว่าจะทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา[iv] และเรื่องการทำให้เกิดยีนดื้อยาโคลิสติน เอ็มซีอาร์-วัน (Colistin MCR-1) ประเด็นนี้กรมปศุสัตว์ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นจากการเฝ้าระวังและสุ่มตัวอย่างประมาณ 6,000 ตัวอย่างต่อปี และในปี พ.ศ. 2559 ผลสรุปเบื้องต้นพบว่ายังไม่พบปัญหาการดื้อยาที่ถ่ายทอดจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด[v]

            ทางด้านคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้จัดแถลงข่าว “เชื้อดื้อยากับการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560 ซึ่งกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีการใช้ยาในสุกร ตลอดจนมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อข่าวที่เกิดขึ้น โดย รศ.สพญ.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามการดื้อยาของโรคอาหารเป็นพิษ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การเลิกใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเสมอไป เช่น การลดการใช้ยาโคลิสตินก็ยังมียาปฏิชีวนะอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการคัดเลือกร่วมหรือดื้อข้ามได้ การป้องกันปัญหาจึงต้องควบคุมให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น และมีวิธีใช้ที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับข้อสงสัยว่าสามารถรับประทานเนื้อหมูได้หรือไม่ ขอยืนยันว่าได้ เพราะโดยปกติสุกรที่เข้าสู่กระบวนการฆ่านั้นเป็นสุกรที่มีสุขภาพดี ผ่านกระบวนการฆ่าที่ได้มาตรฐานและนำมาปรุงให้สุกก่อนบริโภค”[vi]

การแก้ปัญหา

            จากกรณีที่พบการใช้ยาโคลิสตินในการเลี้ยงหมู หลายหน่วยงานก็เร่งชี้แจงข้อมูลการวางมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เช่น

         1. ความร่วมมือของผู้ประกอบการ

            นสพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจสุกร CPF ให้ข้อมูลว่า “ผู้บริหารได้กำหนดนโยบายยกเลิกการใช้ยาโคลิสตินที่ผสมในอาหารสัตว์มาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2559 และยกเลิกการใช้ยาโคลิสตินในรูปแบบยาฉีดและยาละลายน้ำเพื่อรักษาอาการท้องเสียตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 โดยยกเลิกการสั่งซื้อยาโคลิสตินในระบบการสั่งซื้อ”[vii]

            เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับผู้ประกอบกิจการในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ CPF เบทาโกร สหฟาร์ม เซนทาโก แหลมทองโพลทริ บางกอกแรนซ์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรนครราชสีมา ร่วมทำบันทึกข้อตกลงการใช้ยาในฟาร์มปศุสัตว์ปลอดภัยไร้สารตกค้างในเนื้อสัตว์ เพื่อมุ่งกระบวนการผลิต การยกระดับฟาร์มมาตรฐาน การควบคุมและติดตามการใช้ยาในฟาร์ม บทบาทสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม การหยุดยาก่อนส่งโรงฆ่า การตรวจติดตามและปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงและยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ[viii] เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นแหล่งที่มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปริมาณการผลิตรวมของสุกรและสัตว์ปีกมากที่สุด รวมทั้งส่งออกเพิ่มมากขึ้น[ix]

         2. ความร่วมมือกับสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย

            วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มีหนังสือถึงนายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เพื่อให้ดำเนินการ 5 ข้อ ได้แก่[x]    

                        1. ห้ามสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสั่งหรือใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารหรือละลายน้ำให้สัตว์กินเพื่อเป็นการป้องกันโรคอย่างเด็ดขาด

                        2. หากสัตว์มีอาการป่วยให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มใช้หลักวิชาการทางสัตวแพทย์ในการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ใช่โคลิสตินเป็นลำดับแรก ส่วนยาโคลิสตินจะใช้ได้ต่อเมื่อไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดใช้แล้วได้ผล

                        3. ให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มรายงานการใช้ยาโคลิสตินแก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เมื่อมีการใช้ยาดังกล่าว

                        4. ให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มคัดกรองและตรวจสอบอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงสัตว์จะต้องไม่มียาโคลิสตินผสมอยู่ โดยให้มีการเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ส่งตรวจเพื่อพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะ

                        5. กรมปศุสัตว์จะจัดเจ้าหน้าที่สุ่มเข้าฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อตรวจสอบการใช้ยาโคลิสตินหากพบว่ามีการใช้ที่นอกเหนือจากข้อ 2 จะพิจารณาสถานะของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มนั้น

         3. การบังคับใช้กฎหมาย

            นสพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ให้ข้อมูลว่า “กรมปศุสัตว์บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้ใช้ยาสัตว์และอาหารสัตว์ที่ผสมยาหรือสารต้องห้ามที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยในปี พ.ศ. 2559 มีการจับกุมดำเนินคดีมากกว่า 100 ราย โดยมีการยึดยาโคลิสตินเถื่อนที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ด้วย ซึ่งปัจจุบันในการเลี้ยงสุกรยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในลูกสุกรเพื่อป้องกันหรือควบคุมไม่ให้เกิดโรค”[xi] กรณีที่เป็นยาเถื่อนทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่ระหว่างประสานงานกับกรมศุลกากรเพื่อตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าต่อไป

         4. การยกระดับการควบคุมยาโคลิสติน

            ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เตรียมที่จะยกระดับยาโคลิสตินจากยาอันตรายมาเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องซื้อได้ในร้านขายยาภายใต้ใบสั่งยาของสัตวแพทย์เท่านั้น หากพบว่าร้านขายยาใดไม่ปฏิบัติตามนโยบายจะดำเนินการส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณายึดใบอนุญาตเภสัชกรและสั่งพักใช้ใบอนุญาตร้านขายยาอย่างน้อย 90-120 วัน คาดว่าภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560[xii]

            กรณียาโคลิสตินที่ใช้ในมนุษย์ ทาง อย.ได้มีมาตรการควบคุมยาและปรับประเภทยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ ตามมติคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาการปรับประเภทยาต้านจุลชีพ โดยจะเพิกถอนทะเบียนตำรับยารูปแบบยารับประทานเหลือเพียงรูปแบบยาฉีดเท่านั้น[xiii]

 

เอกสารอ้างอิง

[i]
                  .[i]คม ชัด ลึก. สยองสูตรอาหาร ผสม "โคลิสติน" ยาเถื่อนฟาร์มหมูโลกผวาตัวแพร่ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่. ฉบับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560 หน้า 1, 11.

[ii]

                  . เดลินิวส์. อย.ยกระดับ 'โคลิสติน' ยาใช้ในสัตว์ให้แพทย์สั่ง. ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560 หน้า 1, 8.

[iii]

                  .[iii]คม ชัด ลึก. ตะลึงหาซื้อง่าย-ราคาถูกกว่าของนอก 5 เท่า โคลิสตินเถื่อนทะลัก อึ้งพบสารหัวเชื้อคาบ้าน ชี้คนเลี้ยงหมูเสี่ยงดื้อยา. ฉบับวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560 หน้า 1, 5.

 

[iv]

                  .[iv] คม ชัด ลึก. แพทย์เตือนสาร 'โคลิสติน' ตกค้างในเนื้อหมูพิษอันตราย คนกินเสี่ยงไตวาย แฉนายทุนจ้างเลี้ยงบังคับฟาร์มให้ใช้ยา 'ปศุสัตว์' ไล่เช็กบิล จุฬาฯ ชงคุม-เลิกใช้. ฉบับวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560 หน้า 1, 2.

[v]

                  .[v]มติชน. กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง. ฉบับวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560 หน้า 7.

[vi]

                  .[vi] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สัตวแพทย์ จุฬาฯ ไขข้อข้องใจเรื่อง “เชื้อดื้อยากับการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์”. ข่าวสื่อสารองค์กร 26 มกราคม พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก http://www.chula.ac.th/th/archive/56156 (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560)

 

[vii]

                  .[vii]บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน). สร้างความมั่นใจ ไม่มีการใช้โคลิสตินและยาเถื่อนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของ CPF. ข่าวสารองค์กร วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก http://www.cpfworldwide.com/th/media-center/news/view/828 (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560)

[viii]

                  .[viii]สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา. ปศุสัตว์โคราชจัดแถลงข่าวสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค. สืบค้นจาก http://pvlo-nak.dld.go.th/news60/std010260/std010260.html (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560)

 

[ix]

                  . คุมเข้มสารตกค้างในเนื้อไก่-หมู. ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หน้า 6.

[x]

                  .[x]คม ชัด ลึก. ปศุสัตว์ร่อน จ.ม.สัตวแพทย์ห้ามผสมโคลิสตินให้หมูกิน หวั่น 'ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่' ขู่ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจฟาร์ม. ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หน้า 1, 2.

[xi]

                  .[xi]กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์. ปศุสัตว์ย้ำคุมเข้มการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์. ข่าวที่ 65/2560. สืบค้นจาก http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/2431-65-2560 (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560)

 

[xii]

                  . เดลินิวส์. อย.ยกระดับ 'โคลิสติน' ยาใช้ในสัตว์ให้แพทย์สั่ง. ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560 หน้า 1, 8.

[xiii]

                  .[xiii]หนังสือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด่วนที่สุดที่ สธ.1009.6/ว17397 ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เรื่อง รับฟังความคิดเห็นต่อมาตรการควบคุมยาและปรับประเภทยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์.