ควบคุมแบคทีเรียไม่ดี ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย

ควบคุมแบคทีเรียไม่ดี ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย

ภก.วิสุทธิ์ สุริยาภิวัฒน์

            จักรวาลนั้นประกอบด้วยวัตถุและสรรพสิ่งทั้งหลายอาศัยอยู่ร่วมกัน พึ่งพิงเกื้อกูลกันตลอดเวลา ร่างกายของมนุษย์เราเปรียบเสมือนจักรวาลน้อย เป็นบ้านหลังใหญ่ให้จุลินทรีย์นานาชนิดได้อาศัย จุลินทรีย์ทั้งหลายเหล่านี้มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน แต่ก็อาศัยพึ่งพากันมากบ้างน้อยบ้าง บางชนิดเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย บางชนิดก็เป็นตัวร้ายที่ให้โทษแก่ร่างกาย และบางตัวเปลี่ยนจากให้ประโยชน์ไปเป็นก่อโทษร้ายได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร ทุกอย่างก็หลอมรวมเป็นจักรวาลน้อยของร่างกาย อันเปรียบเสมือนโลกใบใหญ่ให้จุลินทรีย์ได้อาศัยร่วมกันในตัวของมนุษย์เราทุกคนมาจวบจนถึงวันนี้

            ไม่ใช่เพียงแต่ร่างกายของมนุษย์ที่มีจุลินทรีย์มากมาย จุลินทรีย์มีอยู่ทุกหนแห่งในโลกใบนี้ หากโลกของเราปราศจากจุลินทรีย์ก็ไม่จะไม่มีโลกอย่างทุกวันนี้ จุลินทรีย์มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทุกชีวิตบนโลกโดยทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยและสลายทำให้เกิดการหมุนเวียนสารอาหารในสิ่งแวดล้อม ช่วยพืชสังเคราะห์แสง ช่วยป้องกันพืชและสัตว์ รวมถึงมนุษย์ด้วย

            ร่างกายมนุษย์เราประกอบด้วยเซลล์จำนวนมากมาย แต่เจ้าเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกร่างกายมนุษย์เรานี้มีมากกว่าจำนวนเซลล์เป็นสิบเท่า เปรียบได้เสมือนว่าร่างกายคนเราคือโลกใบใหญ่ของจุลินทรีย์โดยแท้ โลกใบใหญ่ในตัวเรานี้มีทั้งประชากรแบคทีเรีย รา ยีสต์ และโปรโตซัว สิ่งมีชีวิตที่เล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเหล่านี้ครอบครองพื้นที่เกือบทุกอณูในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งภายนอกและภายในร่างกาย

จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

            Probiotic หรือ โพรไบโอติก หมายถึง แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ แบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติก (lactic acid bacteria: LAB) เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium แบคทีเรียกลุ่มนี้พบในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก (fermentation) เช่น นมเปรี้ยว แหนม กิมจิ จะช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค (pathogen) ช่วยย่อยอาหารที่มนุษย์ย่อยไม่ได้ หรือย่อยได้ไม่หมด ช่วยการดูดซึมของสารอาหาร คอเลสเตอรอล และสร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แบคทีเรียทั้งชนิด Lactobacillus และชนิด Bifidobacterium ยังแบ่งเป็นอีกหลายสายพันธ์ุย่อย ๆ แต่มีเพียงบางสายพันธ์ุย่อยเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก

โพรไบโอติก โดยทั่วไปเป็นแบคทีเรียประจำถิ่น (normal flora) ในลำไส้ใหญ่ของทุกคน ซึ่งในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ของทุกคนจะมีแบคทีเรียประจำถิ่นหลากหลายชนิดรวมกันอยู่เป็นหลาย ๆ ล้านตัว คิดเป็นสัดส่วนมีสูงกว่าเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายถึง 10 เท่า โดยมีอยู่น้อยกว่ามากในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก แต่มีอยู่มากมายในลำไส้ใหญ่ ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีขึ้นกับสมดุลของแบคทีเรียเหล่านี้กับเซลล์เยื่อบุลำไส้ และกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการสร้างในบริเวณลำไส้ส่วนต่าง ๆ  โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่) แบคทีเรียจำพวก Lactobacillus และ Bifidobacterium จะผลิตสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ คือ

- สร้าง lactic acid ที่จะยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค (pathogen) เช่น Clostridium perfringens, Salmonella เป็นต้น

- ช่วยลดระดับ cholesterol, phospholipid และ triglyceride ในเลือด โดย Lactobacillus acidophilus ซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่ม Bifidobacteria ที่อยู่ในลำไส้จะช่วยย่อยสลายและยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลผ่านผนังลำไส้

- ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ลดอาการท้องผูกได้ โดย Bifidobacteria จะให้ความชื้นแก่กากอุจจาระ ทำให้สามารถขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น

- ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมในระบบย่อยอาหาร

- สามารถผลิตวิตามินต่าง ๆ เช่น vitamin B1, vitamin B2, vitamin B6, vitamin B12, biotin (vitamin H) nicotinic acid และ folic acid ได้

(ข้อมูลจาก: probiotic โดย: ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, ศ.เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์) 

            ส่วนโทษของโพรไบโอติกมักเกิดจากการได้รับโพรไบโอติกจำนวนมากเกินไป หรือได้รับโพรไบโอติกในขณะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ในขณะได้ยาเคมีบำบัด หรือขณะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ โพรไบโอติกเหล่านี้จึงอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ และมีรายงานเป็นการติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยทุกโรค รวมทั้งในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด และ/หรือมีเม็ดเลือดขาวต่ำ แพทย์มักแนะนำให้งดการบริโภคโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวเสมอ นอกจากนั้นเมื่อบริโภคในปริมาณสูงยังอาจเกิดโรคอ้วนจากการบริโภคอาหารไขมันปริมาณสูง

จุลินทรีย์ประจำถิ่น (Normal flora)

            Normal flora หรือ normal microbiota (จุลินทรีย์ประจำถิ่น) หมายถึง จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ตามผิวหนัง ตา หู ช่องปาก ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดโรค จุลินทรีย์อาศัยร่างกายของเรามาตั้งแต่เราเกิดจนถึงตาย ทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นอยู่ในสภาพปลอดเชื้อโดยสิ้นเชิง ทารกเริ่มได้รับเชื้อจุลินทรีย์ขณะที่คลอดผ่านช่องคลอด เริ่มต้นสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก และเริ่มรับเอาจุลินทรีย์ต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ทั้งโดยการสัมผัส การกินอาหาร การหายใจ จากนั้นค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งจะมีจุลินทรีย์จำนวนหนึ่งอยู่กับเราไปจนตลอดชีวิต เรียกว่า จุลินทรีย์ประจำถิ่น (normal flora) เราจะพบจุลินทรีย์ประจำถิ่นได้ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ระบบย่อยอาหาร ส่วนอวัยวะที่ไม่พบจุลินทรีย์อาศัยก็คือ สมอง ระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง และปอด

            เมื่อร่างกายของเราคือโลกใบใหญ่สำหรับจุลินทรีย์ พวกมันได้พึ่งพาอาศัยอยู่ในตัวเรา ซึ่งการอยู่อาศัยในร่างกายของเรานั้นมีรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าบ้าน คือตัวเรา และผู้อาศัย คือจุลินทรีย์ อยู่ 3 แบบหลัก ๆ คือ

1. แบบพึ่งพากัน (mutualism) ทั้งฝ่ายเจ้าบ้านและผู้อาศัย ต่างได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

            2. แบบอิงอาศัย (commensalism) เจ้าบ้านไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ แต่ผู้อาศัยได้รับประโยชน์

3. แบบปรสิต (parasitism) เจ้าบ้านเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ในขณะที่ผู้อาศัยได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว

            ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าบ้านกับจุลินทรีย์ประจำถิ่นผู้อาศัย (normal flora) จะเป็นประโยชน์หรือเกิดโทษต่อร่างกายมนุษย์นั้น ขึ้นกับหลายปัจจัย ร่างกายของเจ้าบ้านให้อาหารและที่พักแก่ normal flora ส่วน normal flora ที่ยึดครองพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเป็นเจ้าถิ่นป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ภายนอกอื่นเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ normal flora ยังมีส่วนช่วยร่างกายเจ้าบ้านทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การย่อยอาหาร หรือสังเคราะห์สารอาหารที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัว normal flora และเจ้าบ้านด้วย แต่หากสภาวะความสัมพันธ์เสียสมดุลไป เจ้า normal flora อาจถูกรุกรานโดยเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคจากภายนอกร่างกาย หรือตัวของ normal flora เองกลายร่างเป็นผู้ก่อโรคก็ได้ ผลของการเสียสมดุลนี้เป็นเหตุให้ร่างกายของเจ้าบ้านเจ็บไข้ไม่สบาย จุลินทรีย์ประจำถิ่นบางชนิดที่ฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคเมื่อความต้านทานของร่างกายลดลง เรียกว่า “opportunistic pathogens”

            จึงเห็นได้ว่า การสร้างสภาวะความสมดุลให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่าง normal flora และร่างกายนั้นมีความสำคัญมากต่อสุขอนามัยของร่างกายเป็นอย่างยิ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ในปากของเรามีทั้งเศษอาหาร เศษเซลล์ที่ตายแล้ว และสารต่าง ๆ ที่หลั่งออกมา ปากจึงเป็นแหล่งอาศัยชั้นดีของ normal flora ประมาณ 500-600 ชนิด เช่น กลุ่ม Streptococci, กลุ่ม Lactobacilli, กลุ่ม Staphylococci, กลุ่ม Corynebacterium และแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจน  normal flora หรือแบคทีเรียในช่องปากนั้นได้ประโยชน์จากช่องปาก โดยได้ทั้งอาหารและที่พักอาศัย แต่มันก็ตอบแทนเจ้าบ้านด้วยการป้องกันไม่ให้แบคทีเรียร้ายแรงชนิดอื่น (pathogens) รุกรานเข้ามา นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์วิตามินให้เจ้าบ้าน ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย หลั่งแอนติบอดีมาต่อต้านเชื้อโรค และยังหลั่งสารมาต่อต้านแบคทีเรียแปลกปลอม

ส่วนทางเดินหายใจช่วงปลาย ได้แก่ ท่อลม หลอดลม และเนื้อเยื่อปอดนั้น มักจะไม่มี normal flora มาอาศัย ทั้งนี้เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำความสะอาดโดยขนอ่อนที่เยื่อบุทางเดินหายใจ และถ้าหากมีเชื้อแบคทีเรียที่ลงไปจนถึงระบบทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีเมือกจับไว้และกวาดขึ้นด้านบน ร่างกายจะมีกระบวนการของอาการไอ จาม หรือกลืนลงท้องไปได้ แต่ถ้าระบบกำจัดสิ่งแปลกปลอมบริเวณนี้เสียหาย ร่างกายก็มีโอกาสติดเชื้อโรคได้เช่นกัน

            อวัยวะส่วนของลำไส้มีแบคทีเรียกลุ่มต่าง ๆ อาศัยอยู่ ได้แก่ Enterobacteriaceae, Streptococcus, Lactobacillus, Bacillus, Bifidobacterium, Eubacterium และ Clostridium ในบริเวณลำไส้เล็ก แบคทีเรียในอาหารที่ผ่านกระเพาะอาหารมาจะไหลเข้าสู่ลำไส้อย่างรวดเร็ว ทำให้จุลินทรีย์ลงเกาะผนังลำไส้เล็กได้ยาก เนื่องจากมักถูกพัดพาไปกับอาหารที่ผ่านเข้ามา ดังนั้น ปริมาณแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่ลำไส้เล็กจึงมีไม่มากนัก (เพียงแค่ 106 ตัวต่อมิลลิลิตรเท่านั้น)

            ส่วนที่ลำไส้ใหญ่จะมีการเคลื่อนที่ช้าลง ทำให้แบคทีเรียมีการเจริญและเพิ่มจำนวนขึ้นมาที่ระดับ 1,012-1,013 ตัวต่อมิลลิลิตร ปริมาณจุลินทรีย์จะอยู่ที่บริเวณลูเมน (lumen) คิดเป็นสัดส่วน 35-50% ของลำไส้ใหญ่ และคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 0.9 กิโลกรัมในผู้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่ถือเป็นถังพักให้แบคทีเรียเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการย่อยอาหาร กระเพาะอาหารจะย่อยอาหารจนถึงขั้นเป็น Polysaccharides ที่น้ำย่อยไม่สามารถย่อยต่อไปได้อีกแล้ว เมื่อเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่ส่วนต้นจะทำหน้าที่ย่อย Polysaccharides ต่อไป สาร Polysaccharides เหล่านี้มาจากอาหารที่เป็นพืชผัก ผลจากการย่อยจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์เป็นกรดแลคติกและกรดไขมันสายสั้น เช่น สารจำพวกอะซีเตต บิวไทเรต และโพรพิโอเนต เป็นต้น สารเหล่านี้ใช้เป็นแหล่งพลังงานและแหล่งคาร์บอนสำหรับเซลล์เยื่อเมือก (mucosal cell) ของลำไส้ใหญ่ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะแห่งการย่อยซึ่งมีแบคทีเรียในลำไส้ทำหน้าที่สำคัญในการย่อยสลาย และสร้างสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย (แต่ก็อาจมีบางกรณี แบคทีเรียที่ลำไส้ใหญ่พวก Bacteroides ก็อาจสร้างสารก่อมะเร็งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ได้เช่นกัน)

บริเวณจุดซ่อนเร้น หลังจากคลอดออกมาจากท้องแม่ไม่นาน บริเวณช่องคลอดก็จะมีจุลินทรีย์ประเภท Corynebacteria, Staphylococcus, Streptococcus, E. coli และแบคทีเรียกรดแลคติกมาอาศัยในช่วงวัยเจริญพันธุ์จนถึงวัยหมดประจำเดือน เยื่อบุผิวช่องคลอดจะมีไกลโคเจนอันเนื่องมาจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจน แบคทีเรียกรดแลคติกที่ชื่อ Lactobacillus acidophilus ก็จะย่อยสลายไกลโคเจนให้กลายเป็นกรดแลคติก และสารอื่น ๆ ซึ่งมีผลในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ (จากภายนอกร่างกาย) และยีสต์ที่ก่อให้เกิดโรค เช่น Candida albicans ให้ไม่สามารถเจริญได้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ว่า normal flora หรือแบคทีเรียประจำถิ่นผู้อาศัยนั้นทำประโยชน์ให้แก่ร่างกายผู้ซึ่งเป็นเจ้าบ้าน

            ดังกล่าวมาตามข้างต้นเป็นตัวอย่างของ normal flora หรือจุลินทรีย์ประจำถิ่น ซึ่งก็คือแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายของเราว่ามีบทบาททางสรีรวิทยา สร้างสารอาหาร และการป้องกันร่างกายของเรา ซึ่งการจะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปตามปกตินั้น จำเป็นต้องมีการรักษาธำรงให้สภาพร่างกายเกิดสภาวะสมดุล (equilibrium) ให้ normal flora สามารถดำรงอยู่ในร่างกายได้อย่างเป็นมิตร และถ้าหาก normal flora เหล่านี้ถูกรบกวนเสียสมดุลไปด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผล (เป็นสาเหตุใหญ่ที่ mormal flora ถูกทำลาย ทำให้แบคทีเรียจำพวก pathogens เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย แล้วก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบันที่เชื้อโรค pathogens ดื้อต่อยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิดแล้ว) การที่เนื้อเยื่อถูกทำลาย ผลกระทบจากการรักษาทางการแพทย์ แม้แต่การเปลี่ยนแปลงอาหารการกิน หรือการติดเชื้อโรคอื่น ๆ ก็ส่งผลให้ normal flora เปลี่ยนแปลงไป

อนาคตสดใสด้วยการรักษา “สมดุลแห่งธรรมชาติ (Causality)”

วิทยาศาสตร์เข้าใจถึงกลไกความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์กับมนุษย์ได้มากพอสมควร แต่ยังคงมีคำถามอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ยังต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป จะอย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าจักรวาลนี้ รวมทั้งโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ด้วยเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทุกชนิด อยู่ร่วมกันอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ ต้องอิงอาศัยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งของโลกเท่านั้น จึงต้องยอมรับกฎแห่งวิถีธรรมชาติ ซึ่งทางพุทธเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา : หัวใจปฏิจจสมุปบาท [Specific Conditionality : the Essence of Dependent Origination (Causality)] กล่าวคือ เมื่อสิ่งนี้มี - สิ่งนี้ย่อมมี, เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ - สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ไม่มี - สิ่งนี้ย่อมไม่มี, เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ - สิ่งนี้จึงดับไป เป็นหลักที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลายเพราะอาศัยกัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น ในอนาคตข้างหน้าเมื่อเรามีข้อมูลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในร่างกายมากพอจนทำให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรา ผู้เป็นเจ้าบ้านกับจุลินทรีย์ซึ่งเป็นผู้อาศัย เพื่อที่จะสร้างเสริมให้จุลินทรีย์ชนิดดีเติบโต แข็งแกร่ง ครอบครองพื้นที่ในร่างกายอย่างเฟื่องฟู และป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ชนิดไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ร่างกายมนุษย์เรา รวมถึงควบคุมจุลินทรีย์ฉวยโอกาสให้หมดโอกาสที่จะแผลงฤทธิ์ เพื่อทุกชีวิตจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โลกใบใหญ่คือร่างกายของเรานี้ก็จะได้อยู่ดีมีสุขด้วยเช่นกัน

(เรียบเรียงจากข้อมูล: นิตยสาร Update; จุลินทรีย์ในร่างกายโลกใบใหญ่ในตัวเรา โดย นิสากร ปานประสงค์; http://update.se-ed.com/) 

            ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ นั่นคือ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางชาติอาหรับทั้งหลายที่เคยอยู่อย่างปกติสุขตามวิถีชีวิตของชาวอาหรับด้วยกัน ครั้นเมื่อชาติตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่หวังเข้าไปฉกฉวยทรัพยากรของดินแดนอาหรับ ได้ใช้เล่ห์เพทุบายบุกรุกชาติอาหรับตลอดมา และที่เลวร้ายที่สุดคือ การไปทำลายความสมดุลคานอำนาจของชาติอาหรับ นั่นคือ ไปกำจัดผู้นำอันเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของประเทศอิรัก ที่ถือได้ว่าเป็นหัวหน้าใหญ่ของ normal flora ของชาติอาหรับ ทำให้ฝูงผึ้งแตกรังขาดการควบคุม ผลก็คือ เกิดผู้ก่อการร้ายขึ้นทั่วโลก และนับวันแต่จะรุนแรงมากขึ้น จากข้อเท็จจริงนี้เห็นได้ว่า ความคิดของชาติตะวันตกที่นิยมการใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง และมักใช้ศักยภาพที่เหนือกว่าด้วย “การกำจัด” ศัตรูทุกอย่างที่ขวางหน้า (termination) อย่างวิธีการใช้ยา antibiotics ในการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ทุกชนิด (ทั้ง pathogens และ normal flora) ผลที่ตามมาก็คือ การเสียความสมดุลของสภาวะธรรมชาติ จนท้ายที่สุดเกิดเป็นภัยที่ยากจะคาดเดาได้ต่อโลกใบนี้
            ในช่วงเวลาแห่งความอาลัยของคนไทยทั้งชาติต่อการจากไปของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างน้อมนำเอาคำสอนของพ่อมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อเดินตามทางที่พ่อได้สอนไว้ หนึ่งในคำสอนอันประเสริฐมากมายที่พ่อทิ้งไว้ให้ลูกหลานชาวไทยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพตามที่เขียนในบทความนี้ และน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะสร้างชาติไทยให้เข้มแข็งเจริญก้าวหน้าต่อไปก็คือ แนวคิดใน “การควบคุม” แบคทีเรียที่ไม่ดี (ไม่ใช่แนวคิด “การกำจัด” ตามแนวทางของชาติตะวันตก) ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย ดังคำพ่อสอนที่ว่า...

         “....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

               (พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2512)