ผลการวิจัยใหม่ชี้ การให้สารน้ำไม่ช่วยป้องกัน Contrast-Induced Nephropathy

ผลการวิจัยใหม่ชี้ การให้สารน้ำไม่ช่วยป้องกัน Contrast-Induced Nephropathy

            Heartwire from Medscape: ในปัจจุบันผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease) ที่ต้องเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการสวนหลอดเลือดหัวใจและมีการใช้สารทึบรังสีมักจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำก่อนการตรวจ โดยมีแนวคิดเพื่อป้องกันการเกิดโรคไตจากสารทึบรังสี (contrast-induced nephropathy) อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาแบบ randomized trial ล่าสุดเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัตินี้พบว่าการให้สารน้ำอาจไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ แต่ยังอาจเพิ่มภาวะแทรกซ้อนในแง่ของการได้รับสารน้ำปริมาณมากเกินไปอีกด้วย

การศึกษาดังกล่าวนี้เป็นการศึกษาชื่อ A Maastricht Contrast-Induced Nephropathy Guidelines (AMACING) trial โดย Dr.Estelle C Nijssen และคณะผู้วิจัยจาก Maastricht University Medical Centre ประเทศเนเธอร์แลนด์ และตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 660 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อสุ่มให้ได้รับหรือไม่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำก่อนการตรวจ และวัดผลโดยการเปรียบเทียบการทำงานของไตโดยวัดด้วย serum creatinine ก่อนและหลังการตรวจ โดยจะถือว่าเกิด contrast-induced nephropathy ขึ้นหากมีค่า serum creatinine เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25% ซึ่งผลการศึกษาออกมาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารน้ำเกิด contrast-induced nephropathy คิดเป็น 2.7% เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารน้ำซึ่งเกิดขึ้น 2.6% ซึ่งไม่ได้แตกต่างกัน แต่ในกลุ่มที่ได้รับสารน้ำเกิดภาวะแทรกซ้อนในเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลวจากการได้รับสารน้ำมากเกิน (4%), ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (0.3%) และหัวใจเต้นผิดจังหวะ (1.2%) และยังต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานขึ้นเฉลี่ย 1-2 คืนอีกด้วย ผู้วิจัยจึงให้ความเห็นว่าสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมแต่ยังมีค่า eGFR มากกว่า 29 mL/min/1.73 m2 อาจพิจารณางดการให้สารน้ำก่อนการตรวจก็ได้