พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กับความมั่นคงทางยา

พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กับความมั่นคงทางยา

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560) โดยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และต้องสอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้คือ มีความคุ้มค่า ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับว่าจะใช้ได้จริงมากน้อยเพียงใด กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อนมีร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็สามารถแสดงความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยอาศัยช่องทางตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 หรือสามารถดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดโดยอาศัยช่องทางประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ปัญหาตามกฎหมายที่มีอยู่ที่ผ่านมาก็อ้างเรื่องความลับของทางราชการ ความลับทางการค้า เพื่อเป็นเหตุไม่ต้องเปิดเผยข้อมูล

กรณีที่ไม่นำพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ

            พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ได้มีข้อยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ แต่ต้องจัดให้มีกฎหรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามหลักเกณฑ์และแนวทางของพระราชบัญญัตินี้ โดยอย่างน้อยต้องมีหลักการตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง (แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา) การจัดซื้อจัดจ้างของสถาบันอุดมศึกษาหรือสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยงานของรัฐโดยใช้เงินบริจาครวมทั้งดอกผลของเงินบริจาค โดยไม่ใช้เงินบริจาคนั้นร่วมกับเงินงบประมาณ (อย่างไรก็ตาม สถาบันอุดมศึกษาหรือสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยงานของรัฐนั้นต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดด้วย) นอกจากนี้ยังมีกรณีให้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเพื่อยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่การจัดซื้อจัดจ้างใดทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้เช่นกัน           

ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กับการจัดซื้อยาของหน่วยงานภาครัฐ

1. ต้องยึดหลักการตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และต้องสอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้

(1) คุ้มค่า โดยพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการใช้งานของหน่วยงานของรัฐ มีราคาที่เหมาะสม และมีแผนการบริหารพัสดุที่เหมาะสมและชัดเจน

            (2) โปร่งใส โดยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุต้องกระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ มีหลักฐานการดำเนินงานชัดเจน และมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุในทุกขั้นตอน

            (3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยต้องมีการวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุล่วงหน้าเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีกำหนดเวลาที่เหมาะสม โดยมีการประเมินและเปิดเผยผลสัมฤทธิ์ของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ

            (4) ตรวจสอบได้ โดยมีการเก็บข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ

2. ไม่ต้องคำนึงเรื่องราคากลางนัก ขอแค่ไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ เนื่องจากใช้เกณฑ์การให้คะแนนหลายด้านประกอบกันตามการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 65 ซึ่งกำหนดเกณฑ์ดังนี้

            (1) ต้นทุนพัสดุตลอดอายุการใช้งาน มีข้อสังเกตว่าเกณฑ์นี้จะสะท้อนเรื่องความคุ้มค่าในการจัดซื้อ

            (2) มาตรฐานของสินค้าหรือบริการ มีข้อสังเกตว่าระวังการกำหนดมาตรฐานที่สูงหรือเฉพาะเจาะจงเกินไปจนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้

            (3) บริการหลังการขาย มีข้อสังเกตว่าเดิมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ไม่ได้กำหนดไว้ แต่มีแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าสามารถทำได้ เพื่อให้การใช้พัสดุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรค และเรื่องบริการหลังการขายก็ได้นำมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้แล้ว

            (4) พัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน มีข้อสังเกตว่าเดิมให้ส่วนราชการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศหรือเป็นกิจการของคนไทย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 16(2) ในกรณีพัสดุที่ต้องการซื้อประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว ให้กำหนดรายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือเพื่อความสะดวกจะระบุเฉพาะหมายเลขมาตรฐานก็ได้

            (5) การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ตามร่างพระราชบัญญัติ ในหมวด 11 มีข้อสังเกตว่า สิ่งที่ใครก็ทำได้ อย่ากำหนดเงื่อนไขโดยไม่จำเป็น (แนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.233/2552) นอกจากนี้ให้ระวังเรื่องการตัดสิทธิผู้เสนอราคาล่วงหน้าเนื่องจากผลงานที่ไม่ดีในอดีต (แนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.221/2548)

            (6) ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่นในกรณีที่กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่นก่อน ข้อนี้เพิ่มเติมขึ้นมาจากร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ข้อความนี้เป็นเรื่องเกณฑ์การคัดเลือกและเกณฑ์การให้น้ำหนักของแต่ละเกณฑ์ในประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการเข้ายื่นข้อเสนอ

            (7) เกณฑ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

            “ราคากลาง” หมายความว่า ราคาเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับเปรียบเทียบราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้ยื่นเสนอไว้ ซึ่งสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จริงตามลำดับดังต่อไปนี้

                        (1) ราคาที่ได้มาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการราคากลางกำหนด

                        (2) ราคาที่ได้มาจากฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุที่กรมบัญชีกลางจัดทำ

                        (3) ราคามาตรฐานที่สำนักงบประมาณหรือหน่วยงานกลางอื่นกำหนด

                        (4) ราคาที่ได้มาจากการสืบราคาจากท้องตลาด

                        (5) ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลาสองปีงบประมาณ

                        (6) ราคาอื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ

            เรื่องราคากลางจะเป็นแค่เกณฑ์หนึ่งสำหรับเปรียบเทียบหรือให้คะแนนเท่านั้น การจัดซื้อจัดจ้างไม่จำเป็นต้องซื้อให้เท่ากับหรือต่ำกว่าราคากลาง จะซื้อสูงกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ก็ได้เพราะไม่มีข้อห้าม แม้ว่าราคาที่ซื้อจะสูงกว่าราคาที่จัดซื้อได้ในท้องตลาดหรือในท้องถิ่น (มีส่วนต่างด้านราคา) ก็ไม่จำเป็นต้องต่อรองราคา [เว้นแต่กรณีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงตามมาตรา 55(3)] ขอเพียงแต่ไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้เท่านั้น เนื่องจากหากเกินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานของรัฐสามารถประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามมาตรา 67(1)

3. การระบุยี่ห้อสิ่งที่จัดซื้อทำได้เพียงใด ห้ามมิให้กำหนดคุณลักษณะของพัสดุให้ใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ เว้นแต่พัสดุที่จะจัดซื้อจัดจ้างตามวัตถุประสงค์นั้นมียี่ห้อเดียวหรือจะต้องใช้อะไหล่ของยี่ห้อใดก็ให้ระบุยี่ห้อนั้นได้ ตามมาตรา 9 กรณีนี้เคยมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีส่วนราชการจำเป็นต้องระบุชื่อสิ่งของ ก็ให้ระบุชื่อยี่ห้อสิ่งของนั้น ๆ ได้ แต่ต้องให้มากยี่ห้อที่สุดเท่าที่จะสามารถระบุได้ (แนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.313/2554) ซึ่งต้องพิจารณาว่าสามารถนำมาใช้ในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด

4. องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเข้าแข่งขัน เมื่อมีการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 3 จากเดิมให้จัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 61 หรือถ้าองค์การเภสัชกรรมมิได้เป็นผู้ผลิตแต่มีจำหน่าย ส่วนราชการจะจัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม หรือผู้ขายหรือผู้ผลิตรายใดก็ได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 62 คือ หากจัดซื้อโดยวิธีสอบราคาหรือประกวดราคา ให้ส่วนราชการแจ้งให้องค์การเภสัชกรรมทราบด้วยทุกครั้ง และถ้าผลการสอบราคาหรือประกวดราคาปรากฏว่า องค์การเภสัชกรรมเสนอราคาเท่ากันหรือต่ำกว่าผู้เสนอราคารายอื่น ให้ส่วนราชการซื้อจากองค์การเภสัชกรรม หรือหากมีการจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ให้ซื้อในราคาที่ไม่สูงกว่าราคากลางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะทำให้องค์การเภสัชกรรมอยู่ในฐานะเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นคือ ต้องเข้าสู่ระบบการแข่งขันกับผู้ประกอบการซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการด้านยาจากต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย

5. ไม่มีการบังคับให้ซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมอีกต่อไป ไม่สามารถอ้างข้อยกเว้นตามมาตรา 7 สำหรับการจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หากอ้างว่าสามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมได้ โดยอ้างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 65 ซึ่งเป็นเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างไม่ว่าจะเป็น “พัสดุที่ต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน” ก็ต้องออกกฎกระทรวงอีกครั้ง แต่ทิศทางของกฎกระทรวงนี้จะเน้นไปที่พัสดุที่สร้างนวัตกรรม อนุรักษ์พลังงานหรือสิ่งแวดล้อมเสียมากกว่า อีกทั้งเกณฑ์ในมาตรา 65 นี้เป็นแค่เพียงเกณฑ์ให้คะแนนเกณฑ์หนึ่งเท่านั้น หรืออาจต้องผลักดันยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามมาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 56(1)(ซ) และมาตรา 56(2)(ซ) ซึ่งจะทำให้ใช้วิธีคัดเลือกหรือวิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อจัดจ้าง

6. การจัดซื้อในกรณีฉุกเฉิน หากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อพัสดุได้ ตามร่างมาตรา 56(2)(ง)

ประเด็นความกังวลอื่นจากกฎหมายนี้

         ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560 ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และภาคีเครือข่ายสุขภาพ รวม 13 องค์กร ประกอบด้วยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.) มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมเภสัชชนบท ชมรมแพทย์ชนบท และมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย (มพท.) ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม จัดการแถลงข่าว สำรวจพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อความมั่นคงทางยา ณ ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            การแถลงข่าวในครั้งนี้ได้เรียกร้องให้กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง ออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มาตรา 65 เพื่ออุดช่องโหว่จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยกฎหมายนี้เป็นผลมาจากการเรียกร้องจากต่างชาติเพื่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในงบประมาณจากภาครัฐของไทย ซึ่งหากนำกฎหมายนี้มาใช้กับการจัดซื้อยาภาครัฐ กฎหมายนี้จะทำให้อุตสาหกรรมต่างชาติเข้ามาครอบครองตลาดยาในโรงพยาบาลของรัฐได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีอำนาจทางการตลาดมากกว่า มีราคาต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ส่งผลให้มีการทุ่มตลาด บิดเบือนราคายาของตลาดในระยะแรกจนอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยไม่สามารถอยู่ได้ เมื่อไม่มีคู่แข่งในประเทศไทยแล้วก็สามารถขึ้นราคายาได้ตามใจชอบ ส่งผลให้ราคายาจะสูงขึ้นกว่าเดิมจนเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านยา และประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงยาได้ โดยองค์การเภสัชกรรมเองก็จะได้รับผลกระทบนี้จากกฎหมายดังกล่าวด้วย ทำให้องค์การเภสัชกรรมไม่สามารถแข่งขันได้ และบทบาทขององค์การเภสัชกรรมในการควบคุมราคายาหรือความมั่นคงด้านยาก็จะหายไป อันจะมีผลต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศไทย

            นอกจากนี้เครือข่ายได้มีข้อเสนอต่อกระทรวงการคลังและยื่นหนังสือต่อกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วให้ออกกฎกระทรวงตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อ

            (1) ยกเว้นการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ออกจากพระราชบัญญัตินี้

            (2) ไม่ควรมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขกรณีการดำเนินการจัดหาในสถานการณ์ภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขของชาติ

(3) ยกเว้นการดำเนินการจัดซื้อยาที่มีการดำเนินการจัดหาต่ำกว่า 5 ล้านบาท (เพื่อปกป้องธุรกิจชุมชน ธุรกิจขนาดเล็ก)

(4) การดำเนินการจัดหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของคนไทยเพื่อพัฒนาสินค้าไทย และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ

              (5) เพิ่มเนื้อหาการจัดซื้อยาที่เคยมีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และการเพิ่มการต่อรองราคาเพื่อประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้คือ ราคาที่เสนอสูงกว่าราคากลาง ราคาที่เสนอสูงกว่างบประมาณที่จัดซื้อจัดจ้าง ราคาที่เสนอมีมูลค่าเกินกว่าราคาที่จัดซื้อได้ในตลาดหรือในท้องถิ่น

เอกสารอ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 24 ก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หน้า 13.
  2. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา. ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. (ฉบับมติคณะรัฐมนตรี 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558). เอกสารวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558. สืบค้นจาก http://www.thaidrugwatch.org/blog/?p=1071

1.ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา. ภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กรจับมือสหภาพองค์การเภสัชฯ จี้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สร้างความมั่นคงระบบยา. ข่าวแจกสื่อมวลชน วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก http://www.thaidrugwatch.org/blog/?p=1219