พร้อมเดินหน้าสู่ “องค์การเภสัชกรรม 4.0” สร้างความมั่นคง ยั่งยืน เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ

พร้อมเดินหน้าสู่ “องค์การเภสัชกรรม 4.0” สร้างความมั่นคง ยั่งยืน เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ

            ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งธรรมดาของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า และเมื่อมีความเจ็บป่วยมนุษย์ก็ต้องพยายามหาทางแก้ไข บำบัด เพื่อความอยู่รอด ซึ่งในประเทศไทยของเรานั้นก่อนจะมาถึงปัจจุบันและกว่าจะมาถึงการที่องค์การเภสัชกรรมมีบทบาทในการผลิตยาอยู่ในขณะนี้ ก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยบรรพชนของเราได้ช่วยกันสร้างสมบารมี ลงแรงกายใจตลอดมา ทุกยุค ทุกสมัย จวบจนถึงปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมยังคงสานต่อเจตนารมณ์ด้วยความมุ่งมั่น สร้างสรรค์นวัตกรรม คุณภาพ ยาและเวชภัณฑ์ภายใต้บริบทแห่งมาตรฐานสากลให้ทันกับความต้องการและสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย โดยในปี พ.ศ. 2559 และปีต่อ ๆ ไปองค์การเภสัชกรรมพร้อมในการสร้างการเข้าถึงยาเชิงสังคมได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงยาจำเป็นในกลุ่มบัญชียา จ.2 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว พร้อมเดินหน้าถ่วงดุลราคายา จัดหายาจำเป็น สร้างความมั่นคงยั่งยืนด้านยาและเวชภัณฑ์ และส่งรายได้ให้รัฐ ด้วยการปรับองค์กรสู่ “องค์การเภสัชกรรม 4.0” เป็นองค์กรเชิงนวัตกรรมในทุกมิติ เน้นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมในกลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง ยาจำเป็น และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร พร้อมทั้งเดินหน้าเร่งสร้างโรงงานใหม่

         พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรมตลอดระยะเวลาที่คณะกรรมการชุดนี้ได้มาดำรงตำแหน่ง โรงงานผลิตยาที่พระราม 6 สามารถเปิดดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP-PIC/S ในทุกหมวดการผลิต โรงงานผลิตยารังสิต 1 สามารถเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการได้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ส่วนการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก คืบหน้าไปมากกว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังมีผลประกอบการที่แสดงถึงการเข้าถึงยาได้มากขึ้น ซึ่งใน 2 ปีนี้องค์การเภสัชกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

         นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ด้านผลประกอบการขององค์การเภสัชกรรมนั้น ในปี พ.ศ. 2558 มีผลประกอบการ 13,448 ล้านบาท และปี พ.ศ. 2559 มีผลประกอบการ  15,154 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2557 จำนวน 1,962 และ 3,668 ล้านบาท (หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2557 ร้อยละ 17 และ 32 ตามลำดับ) นอกจากนั้นองค์การเภสัชกรรมยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาให้รัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2559 จำนวนเงินสะสม 3 ปี รวมทั้งสิ้น 13,702 ล้านบาท โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 ประหยัดได้ 4,981 ล้านบาท สำหรับการนำส่งรายได้ให้แก่รัฐมียอดสะสม 3 ปีล่าสุดจำนวน 2,996 ล้านบาท

         นพ.นพพร เปิดเผยต่อไปว่า จากยอดผลประกอบการ 15,154 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2559 นั้นเป็นยอดกระจายยาเชิงสังคมถึง 10,374 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ของผลประกอบการทั้งหมด โดยปี พ.ศ. 2559 กระจายยาเชิงสังคมมากกว่าปี พ.ศ. 2557 ถึง 3,114 ล้านบาท ทั้งนี้ยาเชิงสังคมประกอบด้วย ยากำพร้า ยาขาดแคลน ยาเชิงนโยบาย ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาในบัญชียา จ.2 ซึ่งเป็นยาที่มีความจำเป็นในระบบสาธารณสุขของประเทศ การจ่ายให้ผู้ป่วยจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายขั้นตอนเพื่อให้การสั่งจ่ายเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เนื่องจากยามีราคาแพงมาก ตั้งแต่เม็ดละ 4,000 บาท จนถึง 100,000 กว่าบาท และเป็นยาที่มีผู้ผลิตน้อยรายหรือไม่มีผู้ผลิตในประเทศหรือผู้จัดหามาสำรองไว้เลย โดยที่องค์การเภสัชกรรมเข้าไปเป็นกลไกในการจัดหาและสำรองเพื่อรักษาสมดุล ตรึงราคาให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม และสร้างการเข้าถึงให้มากขึ้น โดยในส่วนยาในบัญชียา จ.2 มียอดขายที่สร้างการเข้าถึงเป็นจำนวนเงิน 1,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 เป็นจำนวนเงิน 987 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 111 

       ในปี พ.. 2559 องค์การเภสัชกรรมยังช่วยประหยัดงบประมาณจัดหายาของภาครัฐได้ถึง 4,981 ล้านบาท โดยเป็นยาในกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ ประหยัดได้ถึง 1,500 ล้านบาท พร้อมทั้งได้มีการสำรองยาขาดแคลน และยากำพร้ากว่า 30 รายการ เป็นยาในกลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู จำนวน 19 รายการ ทั้งนี้มีผู้เข้าถึงบริการยาต้านพิษเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 จำนวน 7,000 ราย (คิดเป็นจำนวนสะสม 6 ปี กว่า 20,000 ราย) และในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้หลายจังหวัดเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 องค์การเภสัชกรรมได้จัดส่งยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กระทรวงสาธารณสุขกว่า 300,000 ชุด อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

       นอกจากนี้องค์การเภสัชกรรมได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ จำนวน 13 รายการ อาทิ ยาลดความดันโลหิต (Amlodipine), ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในเด็ก (Ferrous fumarate), ยาน้ำขับเหล็กสำหรับเด็กที่ป่วยเป็นธาลัสซีเมีย(Deferiprone), ยาปลูกผม (Minoxidil) เป็นต้น ส่วนการจำหน่ายยาไปยังต่างประเทศมียอดจำหน่าย 39.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 จำนวน 10.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.51 โดยส่วนใหญ่จำหน่ายให้แก่กลุ่มประเทศ AEC ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2560 ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีกมากกว่าร้อยละ 20 โดยมุ่งเน้นการทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมาร์

       สำหรับโรงงานผลิตยารังสิต 1 นพ.นพพร เปิดเผยต่อไปว่า เป็นโรงงานที่องค์การเภสัชกรรมภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพการผลิตสูง ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณการผลิตมาใช้ในกระบวนการผลิต และได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP-PIC/S ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา ปัจจุบันมีการผลิตยาแล้ว 24 รายการ มีกำลังการผลิต 1,900 ล้านเม็ด/แคปซูล/ปี ซึ่งกำลังเร่งขยายกำลังการผลิตให้เต็มศักยภาพ พร้อมกันนี้ได้ยื่นขอการรับรอง WHO Prequalification จากองค์การอนามัยโลก ในส่วนของยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz 600 มิลลิกรัม โดยขณะนี้ผ่านการประเมินเบื้องต้นแล้ว และกลางปี พ.ศ. 2560 เจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลกจะเข้าตรวจโรงงาน คาดว่าจะได้การรับรองในช่วงปลายปี พ.ศ. 2560 ซึ่งหากได้รับการรับรองจะนับเป็นโรงงานผลิตยาแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้การรับรอง WHO Prequalification ในรายการ Efavirenz และสามารถจำหน่ายได้ทั่วโลก

       ด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ตามมาตรฐาน WHO-GMP ที่จังหวัดสระบุรี มีความคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 94 สามารถผลิตวัคซีนได้ในปลายปี พ.ศ. 2563 ส่วนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายแบบ 3 สายพันธุ์ ขณะนี้การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว พบว่า วัคซีนมีความปลอดภัย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและพร้อมสำหรับการศึกษาในระยะที่ 3 จะทราบผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกได้ในปี พ.ศ. 2562 จากนั้นจะขอขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และถ่ายโอนการผลิตไปยังโรงงานผลิตวัคซีนต่อไป สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกชนิดเชื้อเป็นเพื่อใช้ในกรณีเกิดการระบาดใหญ่ซึ่งเป็น “นวัตกรรมระดับโลก” ขณะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว

         ในส่วนของแผนงานในอนาคต พล.อ.ศุภกร กล่าวว่า จากนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถสู่ความได้เปรียบเชิงแข่งขันด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้ความร่วมมือจากเครือข่ายประชารัฐทุกภาคส่วน องค์การเภสัชกรรมได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็น “องค์การเภสัชกรรม 4.0” เป็นองค์กรเชิงนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบทสภาพของธุรกิจยาและสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมต้องเป็นกลไกในการถ่วงดุลด้านราคายา ผลิตและจัดหายาจำเป็น สร้างความมั่นคงด้านยา และส่งรายได้ให้รัฐ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่รัฐและประเทศชาติ พร้อมมุ่งสู่การเป็น “องค์กรคุณธรรม”

       ทั้งนี้ นพ.นพพร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “องค์การเภสัชกรรม 4.0” จะมุ่งดำเนินการในมิติต่าง ๆ อาทิ การคิดค้น วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ระบบยาของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาจำเป็น ยารักษามะเร็ง ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะและระบบดิจิตอลมาใช้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตลอดจนกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และจำนวนบุคลากร เพื่อเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยในส่วนของโรงงานผลิตยารังสิต 1 ได้มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้บ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการบริหารจัดการ (Enterprise Resource Planning: ERP) โดยใช้ระบบ SAP ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาใช้ เพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรทั้งระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะเริ่มใช้ขับเคลื่อนกระบวนการทำงานทุกระบบเต็มประสิทธิภาพในต้นปี พ.. 2561 พร้อมกันนี้องค์การเภสัชกรรมสร้างสรรค์ยกระดับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติให้มีคุณสมบัติเป็นยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงตามนโยบายส่งเสริมการใช้และเข้าถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรของรัฐบาล ในด้านการตลาดจะนำระบบ Digital Marketing มาใช้เพื่อสร้างการเข้าถึงยาของทั้งภาครัฐและประชาชน อีกทั้งจะเร่งดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสอดคล้องการก้าวสู่ “องค์การเภสัชกรรม 4.0” ด้านการสร้างเครือข่ายประชารัฐจะร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรทุกระดับ ทั้งในและต่างประเทศ โดยแสวงหาความร่วมมือเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม มายกระดับกระบวนการคิดค้น วิจัย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการโดยร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง เพื่อวิจัย พัฒนาต่อยอดถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูงให้มีคุณสมบัติเป็นวัตถุดิบที่มีมาตรฐานสำหรับการนำมาผลิตเป็นยารักษาโรค เวชสำอาง  และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตถ่านไผ่ของมูลนิธิฯ ให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานเภสัชตำรับและมาตรฐาน GMP

         นพ.นพพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับในอนาคตอันใกล้ องค์การเภสัชกรรมมีแผนสร้างการเข้าถึง และสร้างความมั่นคง ยั่งยืน ให้แก่ระบบยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ อาทิ การก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะ 2 เพื่อผลิตยาน้ำ ยาครีม ขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ และยาเม็ด โดยจะเริ่มการก่อสร้างในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563 การก่อสร้างโรงงานผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์แห่งใหม่เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ ชุดทดสอบ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เวชสำอาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสร้างเสร็จและเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบเป็นรายการแรกในปลายปี พ.ศ. 2560 การก่อสร้างและพัฒนาระบบคลังและกระจายสินค้าให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบในรายละเอียด (Detail Design) และยื่นขออนุมัติแบบการก่อสร้างจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2562 ส่วนการสร้างการเข้าถึงยาในภาคประชาชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้นจะมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาทั่วไป เพื่อให้ประชาชนได้สามารถหาซื้อยาและเวชภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมระดับอำเภอทั่วประเทศอย่างน้อยร้อยละ 60 ในปี พ.. 2563  

         นพ.นพพร กล่าวในตอนท้ายว่า องค์การเภสัชกรรมได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานสู่การเป็น “องค์กรคุณธรรม” เพื่อยกระดับให้เป็นองค์กรที่มีคุณธรรม จริยธรรมที่ดี ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม ให้เป็นที่ยอมรับในทุก ๆ ด้าน ด้วยการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เป็นรูปธรรมและเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ร่วมกันต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสุจริต เป็นบรรทัดฐานที่ดี และเกิดภาพลักษณ์ที่ดี