นายกฯ ลงพื้นที่ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ติดตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยธุรกิจและผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นายกฯ ลงพื้นที่ ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ติดตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยธุรกิจและผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นายกรัฐมนตรีติดตามการดำเนินงาน นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยธุรกิจและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กำหนดแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี รองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ตั้งเป้าหมายมีเมืองสมุนไพรใน 12 เขตสุขภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้ 3.2 แสนล้านบาท และมูลค่าการใช้สมุนไพรในสถานบริการ 3,000 ล้านบาท สร้างอภัยภูเบศร บิสสิเนส โมเดล (Abhaibhubejhr Business Model) เป็นต้นแบบการยกระดับธุรกิจสมุนไพรไทยสู่สากล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยธุรกิจและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้มีการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดยารักษาโรค เน้นการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมการเกษตรเพาะปลูกสมุนไพรในแต่ละชุมชน ช่วยกระจายโอกาสและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน มอบให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และนำยาสมุนไพรมาใช้ในการรักษาของสถานพยาบาลให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ. 2560-2564 เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  2. พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล  3. ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรค และการสร้างเสริมสุขภาพ  4. สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำชุดโครงการเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Value chain) ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ วงเงินงบประมาณ 1,162 ล้านบาท กำหนดสมุนไพร Product Champions 4 ชนิด ได้แก่ ไพล ขมิ้นชัน กระชายดำ และบัวบก

นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี รองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 กำหนดการพัฒนาเมืองสมุนไพรเป็นกลไกการทำงานระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร สร้างความมั่นคงในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม มีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของอาเซียน ตั้งเป้าหมายมีเมืองสมุนไพรใน 12 เขตสุขภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้ 3.2 แสนล้านบาท และมูลค่าการใช้สมุนไพรในสถานบริการ 3,000 ล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2559 จะมีเมืองสมุนไพรต้นแบบใน 4 จังหวัดคือ ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงราย และสกลนคร และสร้างอภัยภูเบศร บิสสิเนส โมเดล (Abhaibhubejhr Business Model) เป็นต้นแบบการยกระดับธุรกิจสู่สากล มุ่งเน้นให้ประชาชนคนไทยใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้เตรียมการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ระดับสากล เป็นผู้นำตลาดสมุนไพรของอาเซียนภายใน 3 ปี ด้วย 8 กลยุทธ์คือ 1. เพิ่มช่องทางการกระจายสินค้า  2. เพิ่มการยอมรับในกลุ่มวิชาชีพ  3. พัฒนาบรรจุภัณฑ์หีบห่อให้แข่งขันได้  4. พัฒนาตลาดโดยบูรณาการกับการท่องเที่ยว  5. ขยายตลาดต่างประเทศร่วมกับเครือข่าย  6. สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม  7. พัฒนาการตลาดออนไลน์ และ 8. สร้างภาพลักษณ์ Thailand as Health Hub ในการพัฒนาเมืองสมุนไพรของจังหวัดปราจีนบุรี มีการดำเนินการจัดการด้านสมุนไพร โดยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้ปลูกสมุนไพรอินทรีย์ปลอดสารเคมีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ มีโรงงานแปรรูปผลิตสมุนไพรไทยผ่านมาตรฐาน Good Manufacturing Practice for Pharmaceutical Facility (GMP-PIC/S) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตยาขั้นสูงเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไปในประเทศญี่ปุ่น เมียนมาร์ และจะขยายไปสู่ตลาดอาเซียน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังใช้การแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เน้นการดูแลแบบองค์รวม สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมและวิถีชุมชนในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์อัมพาต กลุ่มโรคกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ กลุ่มโรคผิวหนัง เช่น โรคหนังแข็ง โรคสะเก็ดเงิน และการดูแลมารดาหลังคลอด เป็นการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้นำไปสู่งานวิจัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่การแพทย์แผนไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานในระดับนานาชาติ

“การมาของท่านนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้สร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานของบุคลากรอภัยภูเบศรมาก เนื่องจากท่านช่วยเติมเต็มในส่วนที่ติดขัดมากมาย รวมถึงเพิ่มช่องทางในการขยายตลาดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มมากขึ้น และการที่ท่านมีนโยบายจริงจังสั่งการเป็นระยะทำให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายอย่างรวดเร็ว เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีประมาณ 30 หน่วยงานที่ร่วมมือกันทำงานตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นพ.จรัญ กล่าว

ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้ก่อตั้งสมุนไพรอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากโจทย์ที่รัฐบาลให้มานับว่าเป็นสิ่งท้าทายที่อภัยภูเบศรกำลังเผชิญ ทำให้ครั้งนี้ต้องปรับองค์กรครั้งใหญ่ พัฒนาระบบการจัดการตลาดที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมร้อยความต้องการทั่วโลกกับซัพพลายที่มี พัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยีและความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยมี รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มีเครือข่ายทั้งเอกชนที่จะพัฒนาตลาดต่างประเทศร่วมกัน เครือข่ายวิชาการที่จะพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เครือข่ายภาครัฐที่จะดำเนินการช่วยกันในการผลักดันนโยบายและมาตรฐานสมุนไพร ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่เห็นความสำคัญของสมุนไพรและช่วยเชื่อมต่อให้เครือข่ายต่าง ๆ ได้มาทำงานร่วมกัน ภายใน 1 ปีคาดว่าจะมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำตลาดในอาเซียนได้อย่างแน่นอน