การเผยแพร่ฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

การเผยแพร่ฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            ระบบฐานข้อมูลสำหรับสืบค้นข้อมูลที่ได้รับการอนุญาตมีประโยชน์ต่อทั้งภาคีเครือข่ายภาครัฐ และภาคประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลการอนุญาตของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ช่วยในการเฝ้าระวังสินค้าหรือบริการที่มีปัญหา เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบได้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นตรงกับที่ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่ นอกจากนี้ยังแสดงถึงธรรมาภิบาลในภาครัฐ ในด้านความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบข้อมูลการพิจารณาอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐได้

            ปัจจุบันมีฐานข้อมูลสืบค้นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอยู่แล้ว แต่ข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพยังไม่มี ทำให้หน่วยงานภาครัฐอื่นและประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่พบตามสื่อสาธารณะนั้นเป็นข้อมูลที่ได้รับอนุญาตด้านเนื้อหาและวิธีการโฆษณาอย่างถูกต้องหรือไม่ ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงได้มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ซึ่งขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาดำเนินการเปิดเผยฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพซึ่งต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาออกสู่สาธารณะ (ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์) แต่ในขณะนั้นก็ยังมีความกังวลว่าจะสามารถทำได้เพียงใด ซึ่งมีประเด็นพิจารณาในการเปิดเผยฐานข้อมูลทั้งประเด็นสนับสนุนการเปิดเผยฐานข้อมูล และประเด็นคัดค้านในการเปิดเผยข้อมูลประกอบกัน ดังนี้

ประเด็นพิจารณาในการเปิดเผยฐานข้อมูล

         ประเด็นสนับสนุนในการเปิดเผยข้อมูล

            1. กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งมีหลักการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” โดยมาตรา 9 สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 9(1) และข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนด ตามมาตรา 9(8) ซึ่งกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9(8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่ไม่กระทบถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีการเผยแพร่หรือเปิดเผยด้วยวิธีการอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 10

            2. มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554 เห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติในเรื่องการนำข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน

            3. กฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาว่ากฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นกำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างไรไว้เป็นพิเศษหรือแตกต่างจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ถ้าไม่มีแล้ว ตามหลักการก็ต้องเปิดเผยข้อมูลตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

         ประเด็นคัดค้านในการเปิดเผยข้อมูล

            1. ข้อมูลการยืนขออนุญาต เป็นข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 ซึ่งเป็นข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน

            2. ความลับทางการค้า ผู้ประกอบการอาจถือว่าข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐนั้นเป็นความลับทางการค้า เนื่องจากข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับ โดยเฉพาะกรณีที่ขออนุญาตแล้วแต่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการขออนุญาตนั้น ตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงพิจารณาว่า การเปิดเผยหรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าโดยหน่วยงานของรัฐซึ่งดูแลรักษาความลับทางการค้านั้นในกรณีดังต่อไปนี้คือ ในกรณีจำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน หรือในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่นซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า และในกรณีดังกล่าว หน่วยงานของรัฐซึ่งดูแลรักษาความลับทางการค้านั้น หรือหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ความลับทางการค้านั้นไป ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อคุ้มครองความลับทางการค้าดังกล่าวจากการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรม ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 มาตรา 7(2)

            3. ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หากข้อมูลที่จะเผยแพร่นั้นมีลักษณะเข้าข่ายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 24 อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงพิจารณาว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่ได้เรียกร้องข้อมูลเหล่านี้ประกอบการพิจารณาอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงไม่เข้าข่ายข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

 

ความกังวลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

       สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องการความชัดเจนและเป็นแนวทางในการดำเนินการเผยแพร่ฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ สธ 1023/16470 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เรื่อง ขอหารือข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีประเด็นขอหารือซึ่งเป็นความกังวลของหน่วยงาน สรุปได้ดังนี้

            1. การอนุญาตโฆษณาอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ ที่ผู้รับอนุญาตโฆษณายังไม่ได้ทำการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ และไม่ได้แจ้งไว้ในแบบคำขออนุญาตโฆษณาให้ทราบถึงการขอเผยแพร่ข้อมูลการอนุญาตโฆษณาภายในเวลาเท่าไรภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตนั้น (ประโยคนี้กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสามารถเผยแพร่ข้อมูลการขออนุญาตโฆษณาได้ หากโฆษณานั้นได้รับการอนุญาตโฆษณาไปแล้วกี่วัน)

            2. ข้อมูลดังกล่าวเข้าข่ายข้อมูลที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2550 มาตรา 15(6)

            3. การเปิดเผยข้อมูลการอนุญาตโฆษณาต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด เนื่องจากเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้รับอนุญาตตามมาตรา 17

            4. หากผู้รับอนุญาตคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลการอนุญาตโฆษณาไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็สามารถใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยได้โดยอ้างอิงประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9(8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 

            ตอนท้ายของหนังสือดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สรุปข้อหารือ 2 ข้อ ดังนี้

            1. หากได้ดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดยเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยายังคงมีความรับผิดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 อีกหรือไม่อย่างไร

            2. ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเห็นว่าการดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือชอบด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการแต่ยังมีความบกพร่องอยู่บ้าง โปรดให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการต่อไป

คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการให้ความเห็นอย่างไร

            คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้รับฟังคำชี้แจงเพิ่มเติมของผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สรุปความได้ว่า

  • การขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ ของผู้ประกอบการต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอาจมีการยื่นขออนุญาตผลิตภัณฑ์เดียวกันหลาย ๆ คำขอ เป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์หนึ่งผลิตภัณฑ์มีการอนุญาตและเลขที่อนุญาตให้โฆษณาหลายหมายเลข
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ประกอบการจะนำโฆษณาตามที่ขออนุญาตหมายเลขอนุญาตใดไปใช้เป็นสื่อในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงมีความประสงค์จะเผยแพร่ข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ทุก ๆ คำขอ ทุก ๆ หมายเลขอนุญาตที่ได้ทำการอนุญาตไป แม้ผู้ประกอบการจะยังไม่ได้เผยแพร่โฆษณานั้นออกสู่สาธารณะก็ตาม

            คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงมีหนังสือที่ นร 0108/566 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เรื่อง ขอหารือเกี่ยวกับการเผยแพร่ฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์ มีความเห็นสรุปได้ดังนี้

            1. คำขออนุญาตโฆษณาอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับอนุญาตแล้ว เป็นข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 9(1) และมาตรา 9(8) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9(8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

            2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอีกทางหนึ่งด้วย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

            3. เมื่อเป็นข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 9 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก่อนตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 17

            นอกจากนี้คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ประกอบการขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์เดียวกันหลาย ๆ คำขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่า เมื่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต นำโฆษณาตามที่ได้รับอนุญาตหมายเลขหนึ่งหมายเลขใดไปใช้ในการโฆษณาแล้ว ต้องแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทราบด้วยว่าได้นำหมายเลขใดไปใช้ในการโฆษณา เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไป

สิ่งที่ต้องติดตามในอนาคต

            รูปแบบของฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ จะเปิดให้บริการเมื่อใด ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่จะเห็นข้อมูลนั้นต่างกันอย่างไรบ้าง จะมีการรวบรวมข้อมูลโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีการพัฒนาต่อยอดไปถึงการเผยแพร่ฐานข้อมูลผู้กระทำความผิดอย่างไร

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา. การเผยแพร่ฐานข้อมูลเกี่ยวกับการโฆษณายา [ออนไลน์]. เอกสารวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558. สืบค้นจาก http://www.thaidrugwatch.org/blog/?p=1140 (สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560)
  2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. หนังสือด่วนที่สุดที่ สธ 1023/16470 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เรื่อง ขอหารือข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
  3. คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงมีหนังสือที่ นร 0108/566 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เรื่อง ขอหารือเกี่ยวกับการเผยแพร่ฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์