“ขนมควันทะลัก” ขนมเทรนด์นิยม กิน สัมผัส หรือสูดดม ผิดวิธี เสี่ยงได้รับอันตราย

“ขนมควันทะลัก” ขนมเทรนด์นิยม กิน สัมผัส หรือสูดดม ผิดวิธี เสี่ยงได้รับอันตราย

            ปัจจุบันมีกระแสความนิยมในการนำไนโตรเจนเหลวไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารเพื่อให้เกิดควันพวยพุ่ง จากกรณีที่ปรากฏให้เห็นในคลิปที่แพร่กระจายทางสื่อออนไลน์แสดงให้เห็นการรับประทานขนมควันทะลักออกมา ซึ่งเป็นการปลุกกระแสสร้างความแปลกใหม่ ดึงดูดลูกค้าให้ซื้อสินค้าไปรับประทาน ซึ่งขนมควันทะลักนี้จะอร่อยมากน้อยเพียงใดอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่ได้ไปลิ้มลองชิม แต่สำหรับในเรื่องของความปลอดภัย ขนมชนิดนี้จะมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้เปิดเผยในเรื่องนี้ว่า จากกรณีที่มีการส่งคลิปเวียนในสื่อออนไลน์แสดงให้เห็นถึงภาพการรับประทานขนมชนิดหนึ่งที่เรียกกันทั่วไปว่าขนมควันทะลักนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส มีประโยชน์ในการแช่แข็งอาหาร และเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องใช้ความเย็นจัด โดยทั่วไปการนำไนโตรเจนมาใช้กับอาหารเพื่อลดอุณหภูมิของอาหารให้มีอุณหภูมิต่ำลงอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่จุดเยือกแข็ง แต่ไนโตรเจนเหลวที่ใช้จะต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร และปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ฉบับที่ 4 หากใช้ในปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถือว่าฝ่าฝืนประกาศ ต้องโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือหากตรวจพบว่ามีการใช้ไนโตรเจนเหลวในปริมาณมากจนเกินเหตุและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            ทั้งนี้ในส่วนของผู้บริโภค การรับประทานอาหารที่ผสมไนโตรเจนเหลวอย่างปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน สัมผัส หรือสูดดมโดยตรง เสี่ยงได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง เพราะไนโตรเจนเหลวมีอุณหภูมิที่ต่ำมาก เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ ไนโตรเจนเหลวจะดูดซับความร้อนจากผิวหนังเพื่อการระเหยอย่างรวดเร็ว และทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายคล้ายกับผิวหนังที่ถูกเผาไหม้ เหมือนนำไปสัมผัสกับกระทะร้อน ๆ หรือหากสูดดมก๊าซไนโตรเจนที่เกิดขึ้นโดยตรงอาจทำให้หมดสติได้ ต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยออกไปให้หมดก่อนจึงจะรับประทานได้ หากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร พบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปรามและดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด