แนวทางการดูแลสุขภาพร่างกายและสมองของคนทำงานยุคใหม่

แนวทางการดูแลสุขภาพร่างกายและสมองของคนทำงานยุคใหม่

ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล

รูปแบบการทำงานยุคนี้ไม่ได้ตีกรอบต้องทำงานตามเวลา 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น หรือทำงานอยู่แต่ในออฟฟิศเท่านั้น เพราะทุกวันนี้เราสามารถทำงานร่วมกันจากต่างสถานที่ต่างเวลากันได้ ช่องทางการทำงานเปิดกว้างขึ้น ทำให้คนทำงานมีอิสรภาพในการใช้ชีวิตมากขึ้น สามารถเลือกเวลา เลือกสถานที่ทำงาน เลือกลักษณะงานที่เหมาะสมกับตัวเองได้มากขึ้น ยุคการทำงานทุกวันนี้จึงแข่งกันที่เวลาและความคิดสร้างสรรค์ หากทำงานแบบเดิม ๆ ไม่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่พัฒนาศักยภาพของตนเองก็จะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้

ฉะนั้น เมื่อต้องลุยงานให้เต็มที่ สุขภาพก็ต้องพร้อม โดยเฉพาะ “สุขภาพสมอง” ซึ่งสมองคนเราประกอบด้วยเซลล์ประสาทถึงกว่าหนึ่งแสนล้านเซลล์ ทำหน้าที่ควบคุมทุกระบบในร่างกาย ทั้งการคิด การเรียนรู้ ความจำ การวิเคราะห์ข้อมูล การหายใจ การเคลื่อนไหว สมองต้องการกลูโคสและออกซิเจนซึ่งเป็นพลังงานหลักในการทำงาน โดยออกซิเจนต้องการถึง 20% ของออกซิเจนที่หายใจเข้าไป แม้ว่าสมองจะมีน้ำหนักเพียง 2% ของน้ำหนักร่างกายเท่านั้น1 โดยเฉพาะการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด ความจำ เมื่อเราทำงานที่ต้องใช้ความคิดมาก ๆ สมองยิ่งต้องการออกซิเจนมากขึ้น หากได้รับอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจะทำให้สมองล้า ความคิดความอ่านช้า มึน เบลอ ส่งผลกระทบต่อการทำงานต่าง ๆ ได้

         แนวทางการดูแลสุขภาพร่างกายและสมองเริ่มต้นจากอาหารการกินที่เหมาะสม หลายคนอาจคิดว่าการรับประทานอาหารเพียงให้ท้องอิ่มและมีเรี่ยวแรงทำงานเท่านั้นก็พอแล้ว แต่ความเป็นจริงบทบาทของอาหารมีความสำคัญมากกว่านั้นหลายเท่า โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบหมวดหมู่มีผลต่อการทำงานของสมองอย่างมาก เช่น วิตามินบี 12 มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง ธาตุเหล็กจำเป็นในการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง เพราะธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง การขาดธาตุเหล็กจึงส่งผลให้เซลล์สมองอาจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้และความจำลดลง2,3 นอกจากนี้การดูแลสุขภาพด้วยอาหารฟังก์ชัน หรือสารอาหารที่อยู่ในรูปธรรมชาติ หรือที่ถูกแปรรูปเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากสารอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน4 ก็เป็นอีกวิธีในการสร้างเสริมสุขภาพของร่างกายและสมอง

หนึ่งในอาหารฟังก์ชันที่มีประวัติการบริโภคในแถบเอเชียมาอย่างยาวนานคือ ซุปไก่สกัด ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผ่านกระบวนการสกัดทำให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นเปปไทด์สายสั้น ๆ จำพวกไดเปปไทด์ และยังให้สารประกอบสำคัญคือ “ไบโอ อะมิโน เปปไทด์ คอมเพล็กซ์” ซึ่งมีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในระดับนานาชาติหลายฉบับรายงานว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและสมอง5 อาทิเช่น งานวิจัยของนักวิจัยชาวญี่ปุ่น6 ทำการศึกษาทางคลินิกแบบ Randomized double-blind crossover ในกลุ่มอาสาสมัครชายและหญิงที่มีสุขภาพดี โดยให้ซุปไก่สกัดและซุปไก่หลอกติดต่อกัน 7 วัน และทำแบบทดสอบของสมองชุดต่าง ๆ (Simple Reaction Task, Groton Maze Learning Test และ Working Memory Task) ทั้งก่อนและหลังการทดลอง และตรวจวัดผลด้วยเครื่อง Near-Infrared Spectroscopy (NIRS) พบว่า ซุปไก่สกัดมีผลช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยช่วยให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ การคิด การตัดสินใจได้ดีขึ้น นอกจากนี้งานวิจัยของ Dr.Azhar และ Syed7 พบว่า ซุปไก่สกัดมีผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยลดความวิตกกังวล เพิ่มความตื่นตัว และช่วยให้มีสมาธิดีขึ้นซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานน้อยลง และล่าสุดจากการวิจัยของ Chan และคณะ8 พบว่า ซุปไก่สกัดช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้จดจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้นในกลุ่มคนวัยทำงานที่มีภาวะเครียด หรือวิตกกังวลสูง

เมื่อให้ความสำคัญเรื่องอาหารการกินแล้ว การออกกำลังกายสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไปบำรุงสมองได้ดีขึ้นและช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่ดี และอย่าลืมพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งความคิด ความรู้ จิตใจ รวมถึงต้องเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับวิธีการหรือขั้นตอนการทำงานแบบเดิม ๆ โดยอาจจะมองหาเทคนิคและศึกษาแนวทางในการทำงานใหม่ ๆ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้ชีวิตการทำงานจำเจแล้ว ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้สมองได้ปรับตัวทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Logothetis NK. The neural basis of the blood-oxygen-level-dependent functional magnetic resonance imaging signal. The Royal Society. 2002: 01TB020E.1-35.

2.        วินัย ดะห์ลัน และคณะ (2544) อาหาร โภชนาการและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บทที่ 22 ใน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับสมอง หน้า 366-371.

3.    ชนิดา ปโชติการ, ศัลยา คงสมบูรณ์เวช และอภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ (2557) อาหารกับสุขภาพ พิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์เสริมมิตร: กรุงเทพฯ.

4.        Hasler CM, Bloch AS, Thomson CA, Enrione E, and Manning C. Position of The American Dietetic Association: Functional foods. J Am Diet Assoc. 2004;104(5):814-26.

5.        Li YF, He RR, Tsoi B, and Kurihara H. Bioactivities of chicken essence. J Food Sci. 2012;77(4):R105-10.

  1. Konagai C, Watanabe H, Abe K, Tsuruoka N, Koga Y. Effects of essence of chicken on cognitive brain function: a near-infrared spectroscopy study. Biosci Biotechnol Biochem. 2013;77(1):178-81.
  2. Azhar MZ and Syed M. Effect of Taking Chicken Essence on Stress and Cognition of Human Volunteers, Malaysian journal of nutrition. 2003;9(1):19-29.
  1. Chan L, et al. Effectiveness of Essence of Chicken in Improving Cognitive Function in Young People Under Work-Related Stress: A Randomized Double-Blind Trial; Medicine (Baltimore). 2016;95(19):e3640.