MK-7264 ทิศทางใหม่ของการรักษาอาการไอเรื้อรัง

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

MK-7264 ทิศทางใหม่ของการรักษาอาการไอเรื้อรัง          

            อาการไอเรื้อรังนับเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้ว่าภาวะนี้มักจะไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีปัญหาดังกล่าวและหลายรายเกิดอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการไอเรื้อรังเช่น อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรืออาการอาเจียน ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังมักจะผ่านการรักษาหรือใช้ยาต่าง ๆ ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางรายกลับไม่ดีขึ้นแม้จะใช้ยาอย่างเต็มที่แล้ว ด้วยเหตุนี้การพยายามค้นหายาหรือวิธีการในการรักษาใหม่ ๆ จึงมีความจำเป็น

            MK-7264 เป็นยาใหม่ในกลุ่ม P2X3 inhibitors ที่ได้รับการคิดค้นขึ้นเพื่อใช้ในการบรรเทาอาการไอ โดยมีกลไกในการออกฤทธิ์คือ การยับยั้งวงจรกระแสประสาทที่ควบคุมการไอ ซึ่งจากการศึกษาใน phase 2b โดย Dr.Jacky Smith และคณะที่ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังที่ไม่ดีขึ้นหลังการรักษา (refractory chronic cough) จำนวน 253 รายจากศูนย์ต่าง ๆ 46 แห่งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 4 กลุ่มแบบสุ่มให้ได้รับการรักษาที่แตกต่างกันคือ ยา MK-7264 ในขนาด 7.5 มิลลิกรัม (64 คน), ขนาด 20 มิลลิกรัม (63 คน), ขนาด 50 มิลลิกรัม (63 คน) และยาหลอกอีก 63 คน โดยมีระยะเวลาในการศึกษาทั้งหมด 12 สัปดาห์ และวัดผลการรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์วัดความถี่ของอาการไอด้วยอุปกรณ์ VitaloJak ซึ่งเป็นอุปกรณ์บันทึกการไอแบบดิจิตอล และประเมินความรุนแรงของอาการไอด้วยการใช้ visual analog scale

            ผลการศึกษาที่ออกมาพบว่า ยา MK-7264 นั้นสามารถลดอาการไอลงได้ดีกว่าการใช้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้วยการใช้ยาทั้ง 3 ขนาด และการเพิ่มขนาดของยาก็สามารถบรรเทาอาการได้ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาในขนาดสูง มีบางส่วนที่มีอาการข้างเคียงคือ การรับรสเปลี่ยนแปลงและรู้สึกมีรสแปลก ๆ ในปาก (dysgeusia) และมีบางส่วน (6 คน) ที่หยุดการใช้ยาไปเนื่องจากมีอาการข้างเคียงดังกล่าว

            คณะผู้วิจัยกล่าวเสริมว่า ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ดีว่าการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไออย่างเรื้อรังจะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และด้วยการรักษาอาการไอที่ดีขึ้นจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ดีขึ้นได้ด้วย อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการศึกษานี้ค่อนข้างน้อย จึงอาจจะยังมีข้อมูลไม่มากพอที่จะยืนยันผลของยาได้ นอกจากนี้ยังอาจต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย เพื่อให้สามารถบรรเทาอาการได้ดีโดยมีอาการข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด เพราะแม้ว่ายานี้จะสามารถให้ผลในการรักษาได้ดีตั้งแต่ขนาดยาต่ำ ๆ ไปจนถึงขนาดสูง แต่โดยทั่วไปก็ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนขนาดยาตามอาการไอด้วยตนเอง

ในปัจจุบัน MK-7264 ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อเพื่อนำมาเรียกใช้ในทางคลินิก และยังต้องรอคอยการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แต่จากข้อมูลการศึกษาข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่ายานี้น่าจะมีอนาคตที่ดีและน่าจับตามองสำหรับการนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยไอเรื้อรังเป็นอย่างมากทีเดียว