โครงลวดถ่างเส้นเลือดสมอง (brain stent) ที่จะช่วยผู้ป่วยอัมพาตเคลื่อนไหวแขนขา “Stentrode”

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

โครงลวดถ่างเส้นเลือดสมอง (brain stent) ที่จะช่วยผู้ป่วยอัมพาตเคลื่อนไหวแขนขา “Stentrode”

หลายปีที่ผ่านมา หลังจากความสำเร็จของการทำบอลลูนเส้นเลือดหัวใจและการใส่โครงลวดถ่างเส้นเลือด (stent) ให้เลือดไหลผ่านได้ ก็มีการวิจัยทำนองเดียวกันกับเส้นเลือดในสมองของผู้ป่วยอัมพาต

            ช่วงแรกผลที่ได้คือ ยิ่งทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตง่ายขึ้น แต่พอได้มีการพัฒนาปรับปรุงทั้งกระบวนการและวัสดุ ปรากฏว่าได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ก็มีการสวนถ่างเส้นเลือดสมองมากขึ้น

            มาถึงวันนี้ การทำให้เลือดกลับมาไหลเวียนในบริเวณสมองที่เส้นเลือดเคยอุดตันไปแล้วยังไม่เป็นที่เพียงพอ นักวิจัยพยายามทำให้การทำงานควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายและแขนขากลับมาด้วย จึงได้มีการพัฒนาเพิ่มต่อยอดไปอีก

            วัตถุประสงค์ในการวิจัยที่จะเล่าวันนี้ก็คือ การทำให้ผู้ป่วยอัมพาตใช้แค่ความคิดของตัวเองสั่งการเคลื่อนไหวแขนกล-ขากล (robotic limbs) ให้ได้

            และการควบคุมสั่งการเคลื่อนไหวนี้ ทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัดฝังอุปกรณ์เข้าไปไว้ในสมอง

            ที่จริงเรื่องนี้มีนักวิจัยหลายกลุ่มก็กำลังพยายามค้นคว้าศึกษาวิธีการต่าง ๆ แข่งกันอยู่พักใหญ่แล้ว โดยมีหลักการทำนองเดียวกันคือ นำเอาสัญญาณสมองหรือคลื่นไฟฟ้าสมองมาถอดรหัส แล้วเอารหัสที่เราต้องการ (กรณีนี้คือการสั่งการเคลื่อนไหว) ใส่กลับไปสู่สมองให้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว

            วิธีการดังกล่าวในปัจจุบันมีอยู่ 2 ช่องทางคือ การติดขั้วไฟฟ้า (electrode) ไว้ที่หนังศีรษะ กับการผ่าฝังขั้วไฟฟ้าลงไปในสมองเลย

            ทั้ง 2 วิธีมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน

            ถ้าเป็นการติดขั้วไฟฟ้า ข้อดีคือ ไม่มีการผ่าตัด ทำได้ง่าย แต่คลื่นไฟฟ้าที่ออกมาจากสมองจะถูกรบกวนได้ง่ายทั้งจากกะโหลกศีรษะ หนังศีรษะ หรือแม้แต่การเคลื่อนตัวของกล้ามเนื้อต่าง ๆ การจับสัญญาณที่ต้องการจึงทำได้ยาก ส่วนการฝังขั้วไฟฟ้าในสมองโดยตรงนั้นจับสัญญาณได้แม่นยำกว่ามาก แต่มันเป็นการผ่าตัด ดังนั้น ความเสี่ยงจากการผ่าตัดจึงสูงอย่างที่เราเข้าใจได้ ข้อเสียอีกประการหนึ่งคือ นาน ๆ ไปเนื้อเยื่อของสมองอาจมองเห็นขั้วไฟฟ้านี้เป็นของแปลกปลอมแล้วหาวิธีกำจัด ไม่ว่าจะเป็นการทำลายมันหรือห่อหุ้มมันไว้คล้ายเป็นตำแหน่งแผลเป็น ซึ่งในที่สุดมันก็ทำงานไม่ได้

            แต่ขณะนี้นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียคิดวิธีใหม่แล้ว

            คุณโทมัส อ๊อกซ์ลี (Thomas Oxley) คิดฝังขั้วไฟฟ้าไว้กับโครงลวดถ่างเส้นเลือดสมองเสียเลย วิธีนี้ไม่ต้องผ่าตัด แค่สวนเส้นเลือดจากที่คอ ผ่านเส้นเลือดดำที่ชื่อ Jugular vein เข้าไปสู่ตำแหน่งในสมองที่ต้องการ

            อุปกรณ์นี้ชื่อว่า “Stentrode”

            Stentrode นี้เคยมีการวิจัยกับแกะไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา มันไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเพราะมันไม่สัมผัสเนื้อสมองโดยตรง เนื่องจากตัวมันอยู่ในเส้นเลือด ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบหรือแผลเป็น แต่การรับสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมองอาจจะด้อยกว่าการฝังขั้วไฟฟ้าสมองโดยตรงเล็กน้อย

            โครงการนี้จะเริ่มทำวิจัยในปีหน้า

            โรงพยาบาล Royal Melbourne ที่ร่วมโครงการมีแผนจะรับอาสาสมัครผู้ป่วย 5 รายที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนหรือขาได้ เนื่องจากอุบัติเหตุต่อไขสันหลัง โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน หรือแม้แต่โรคเส้นประสาทเสื่อม

            นักวิจัยจะสอดขั้วไฟฟ้านี้ (Stentrode) ผ่านเส้นเลือดสมองไปยังบริเวณของสมองที่เป็นศูนย์ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย พร้อมกับมีสายไฟขนาดจิ๋วเชื่อมต่อสู่ตัวรับสัญญาณที่จะฝังไว้ที่ผนังอก เพื่อที่จะส่งสัญญาณแบบไร้สายออกมาภายนอกร่างกาย ให้อุปกรณ์ภายนอกรับและสั่งการ

            ด้วยการให้อาสาสมัครคิดถึงการเคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น กำมือขวา คอมพิวเตอร์ตัวรับสัญญาณก็จะเก็บข้อมูลแล้วถอดรหัส รวมทั้งจดจำสัญญาณนี้ไว้ว่าเป็นสัญญาณสั่งให้กำมือขวา

            จากนั้นก็เก็บสัญญาณคำสั่งต่าง ๆ เอาไว้เรื่อย ๆ พอถึงจังหวะที่ผู้ป่วยต้องการทำอะไร แค่คิด คอมพิวเตอร์ก็จะถอดรหัสและส่งสัญญาณไปบังคับแขน-ขากลให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ตามใจคิดทันที

            ยอดเยี่ยมไหมครับ

            หากการทดลองอันนี้ประสบความสำเร็จ ลองจินตนาการดูครับว่าเราจะทำอะไรได้อีกมากมายแค่ไห