สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคปอดและหัวใจเรื้อรัง

สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคปอดและหัวใจเรื้อรัง

บุหรี่ถือเป็นสิ่งเสพติดที่คนส่วนใหญ่ให้ความนิยมมากที่สุด สารพิษที่อยู่ในบุหรี่นอกจากจะทำลายสุขภาพของผู้สูบแล้ว ยังส่งผลเสียต่อคนรอบข้างที่สูดดมควันบุหรี่ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด รวมถึงยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง เนื่องจากในบุหรี่ประกอบด้วยใบยาสูบและกระดาษมวนยา เมื่อเกิดการเผาไหม้จะมีสารเคมีเกิดขึ้นมากกว่า 4,000 ชนิด ที่สำคัญบุหรี่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้สูบเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปสู่บุคคลรอบข้างผู้ที่ไม่เคยคิดจะสูบ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเรียกของ “บุหรี่มือสอง”

อย่างที่ทราบกันดีว่า “บุหรี่เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม” เป็นปัญหาที่หลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศก็ให้ความสำคัญ พร้อมมีการรณรงค์กระตุ้นเตือนตอกย้ำให้ทุกคนได้ทราบถึงพิษภัยเพื่อที่จะได้เลิกหรือไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่าจะมีการรณรงค์หรือออกสื่อในรูปแบบใด ปัญหาจากการสูบบุหรี่ก็ยังไม่เคยหมดไป มิหนำซ้ำยังเกิดพ่อค้าหัวใสทำรูปแบบวิธีการสูบบุหรี่ใหม่ ๆ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น ด้วยการหลอกให้เกิดความหลงเชื่อว่าบุหรี่นี้มีความปลอดภัยไม่มีอันตรายเหมือนกับบุหรี่ทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเปิดเผยเนื่องในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติดโลก วันที่ 26 มิถุนายน ว่า ขณะนี้พบเห็นวัยรุ่นจำนวนมากที่นิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งที่ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่มีการโฆษณาส่งเสริมการขายในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง ด้วยการอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย มีแต่ไอน้ำกับสารนิโคติน มีการผลิตน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทั้งรสผลไม้และรสขนม รวมทั้งสามารถเลือกน้ำยาที่เวลาสูบแล้วไอน้ำมีจำนวนที่มากกว่าควันจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งล้วนเป็นเทคนิคการยั่วยวนให้เชิญชวนให้เริ่ม ไม่ใช่เลิกบุหรี่ และสารนิโคตินเพียงปริมาณน้อย ๆ ก็ยังเข้าสู่สมองของเด็กอย่างรวดเร็วภายใน 7 วินาที ที่จะทำให้เกิดอาการสุกงอมของสมองส่วนกระตุ้นการติดยา นั่นหมายถึงวัยรุ่น ไม่ว่ามีสารนิโคตินแค่ไหนก็จะกระตุ้นให้ติดง่ายและลากยาวจนเป็นผู้ใหญ่และยิ่งเลิกยาก ทั้งนี้นอกจากนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดตัวเดียวกันกับที่มีในบุหรี่ธรรมดา โดยนิโคตินเป็นอันตรายต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตของวัยรุ่น และควันไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้ายังประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายอีกหลายชนิด รวมทั้งสารก่อมะเร็งด้วย

            นพ.สุริยเดว เปิดเผยต่อไปว่า หากดูจากแนวโน้มการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา จะพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมต้นเท่ากับ 5.3% มัธยมปลายเท่ากับ 16% รวมแล้วมีจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 ล้านคน ขณะที่การใช้ในผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 25 ปีมีเพียง 3.7% โดยบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้พุ่งเป้าการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน ขณะที่องค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) เพิ่งจะมีการออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ เนื่องจากก่อนหน้านี้กฎหมายให้อำนาจเอฟดีเอในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในขอบเขตจำกัด ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลที่พบว่าวัยรุ่นอเมริกันที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามักจะมีการใช้ยาสูบชนิดอื่นพร้อมกัน รวมทั้งกัญชาและสิ่งเสพติดที่เป็นยาควบคุมชนิดอื่นด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่งว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในวัยรุ่นไทยจะเพิ่มปัญหาการใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ .นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยังออกมาย้ำในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายที่เข้าใจว่าควันบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่ไอน้ำกับนิโคติน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และวัยรุ่นนิยมสูบเพราะว่ามีควันเยอะดี ขอชี้แจงว่า ความเข้าใจตามที่ผู้ขายกล่าวอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยควันไอน้ำจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และที่ผู้สูบพ่นออกมาจำนวนมากนั้น นอกจากไอน้ำและนิโคตินแล้ว ยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกมากมาย จากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สารโพรพิลีน ไกลคอล เมนทอล ไซโคลเฮกซานอล ไตรอะซิติน อนุพันธ์เบนซีน ตะกั่ว และสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม สารหนู และแคดเมียม 

            ทั้งนี้การวิจัยพบว่า ไอระเหยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กมากกว่าอนุภาคในควันบุหรี่ธรรมดา ทำให้มีลักษณะเป็นควันละเอียดที่ถูกสูดเข้าสู่ปอดได้ลึกมาก อนุภาคที่เล็กมากนี้ส่วนหนึ่งจะจับกับเนื้อเยื่อปอด ไม่สามารถที่จะถูกขับออกมาจากปอดได้ และส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว โดยแม้ว่าสารก่อมะเร็งที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีน้อยชนิดกว่าในควันบุหรี่ธรรมดา และเป็นไปได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา

            แต่มีรายงานการวิจัยในหนูที่ให้หายใจเอาไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นเวลา 4 เดือน พบว่าเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอดมีการหลั่งสารเคมีที่บ่งถึงการได้รับความระคายเคืองของเนื้อเยื่อ และมีการทำลายของเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงระยะแรกของโรคถุงลมโป่งพองในหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา (Garcia-Arcos วารสาร Thorax 24 August 2016) ขณะที่มีรายงานการวิจัยที่แสดงถึงอันตรายของการสูดควันบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด โดยภายหลังการสูดควันไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 10 ครั้ง จะสามารถตรวจพบเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดที่ตายและหลุดลอยอยู่ในกระแสเลือดจำนวนมาก (L. Antonie Wiz วารสาร Atherosclerosis 2016) เช่นเดียวกับการตรวจพบในเลือดคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา การวัดความยืดหยุ่นของหลอดเลือดก็พบว่าลดลงหลังการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว

         ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอดและเซลล์บุหลอดเลือดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมือนกับการตรวจพบในการสูบบุหรี่ธรรมดา ต้องมีการศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งจะแพร่หลายเป็นเวลาไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง 

            “ผมอยากขอให้ทุกฝ่ายอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย และโดยเฉพาะขอเรียกร้องให้เยาวชนอย่าใช้ตัวเองเป็นเครื่องทดลองอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยอย่าไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากเกิดการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว จะเลิกสูบยากเช่นเดียวกับการเสพติดบุหรี่ธรรมดาเลยทีเดียว”