HUG THERAPY: HIGH-TOUCH HEALING IN A HIGH-TECH WORLD

HUG THERAPY: HIGH-TOUCH HEALING IN A HIGH-TECH WORLD

            “อุ่นใด ๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม อุ่นอกอ้อมแขน อ้อมกอดแม่ตระกอง รักเจ้าจึงปลูก รักลูกแม่ย่อมห่วงใย ไม่อยากจากไปไกล แม้เพียงครึ่งวัน ให้กายเราใกล้กัน ให้ดวงตาใกล้ตา ให้ดวงใจเราสองเชื่อมโยงผูกพัน - เพลงอิ่มอุ่น ของศิลปิน ศุ บุญเลี้ยง บทเพลงที่สะท้อนถึงความผูกพันระหว่างแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี”

            แต่รู้หรือไม่ว่า...มีเด็กบางกลุ่มที่แม้พ่อแม่จะรักแค่ไหน...ก็ยังกอดลูกไม่ได้ เพราะพวกเขาต้องนอนในโรงพยาบาล มีสายน้ำเกลือห้อยระโยงระยาง...พร้อมเครื่องช่วยหายใจ...ชีวิตเล็ก ๆ ต้องการส่งความอบอุ่นจากอ้อมกอดนี้

         นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า กว่า 60 ปี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาโรคเด็กที่ยุ่งยากซับซ้อน เด็กป่วยถูกส่งต่อมาจากทั่วประเทศ พร้อมทั้งวางพันธกิจหลักในการเป็นเสาหลักของประเทศในการดูแลทารกและเด็กพิการแต่กำเนิด รวมทั้งทารกคลอดก่อนกำหนดครบวงจร เพื่อลดอัตราการตายและพิการของทารกแรกเกิดให้น้อยลง โดยปัจจุบันสถานการณ์เด็กพิการแต่กำเนิดในประเทศไทยยังพบว่าประเทศไทยมีทารกแรกเกิดประมาณ 700,000 รายต่อปี เป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมกับความพิการประมาณ 24,000- 40,000 ราย ซึ่งความพิการแต่กำเนิดหรือความผิดปกติแต่กำเนิด (Birth Defects) ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติและเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะการที่มีผู้พิการในครอบครัวย่อมส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ทั้งก่อให้เกิดภาระในด้านสุขภาพต่อผู้ป่วย รวมถึงส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคม จนถึงระดับประเทศที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และที่สำคัญความพิการแต่กำเนิดยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กทารกมากถึงร้อยละ 20-30 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงมากและมีจำนวนสะสมขึ้นทุกปี ทั้งนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติได้ดำเนินการรักษาและดูแลเด็กมากกว่าปีละ 400,000 รายต่อปี มีผู้ป่วยเด็กที่ต้องนอนรับการรักษาเฉลี่ย 16,500 รายต่อปี พวกเขาต้องเจาะเลือด ต่อสายน้ำเกลือ และการให้ยาเพื่อรักษาและบรรเทาความเจ็บป่วย หรือในบางกรณีต้องทำการผ่าตัดตั้งแต่ยังเล็กเพราะมีความผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้เด็กน้อยไม่สามารถได้รับความรักผ่านอ้อมกอดของพ่อแม่ได้ มีเพียงแค่สายตาที่จับจ้องอย่างเป็นห่วงและปลอบประโลมลูกน้อยอยู่ไกล ๆ

         ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า อ้อมกอดนับเป็นยามหัศจรรย์ที่ช่วยให้คนเราอบอุ่น ปลอดภัย ส่งต่อความรักและความผูกพันระหว่างกัน การกอดยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้แก่ลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนได้หลากหลาย ทั้งคลายความกังวล บรรเทาความเจ็บป่วย

 

Hugs for Health

จากการศึกษาของนักจิตวิทยา Karen Grewen, Ph.D. University of North Carolina ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Psychosomatic Medicine พบว่าในระหว่างที่ให้คู่รักกอดกันสามารถกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุข  (oxytocin) ได้อย่างชัดเจน และลดฤทธิ์ของฮอร์โมนแห่งความเครียด (cortisol) ได้อย่างดี นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ไม่ได้รับการกอดจะมีความดันโลหิตและจังหวะการเต้นของหัวใจสูงกว่าคนที่ได้รับการกอดอย่างชัดเจน ซึ่งภาวะดังกล่าวนับว่าไม่ดีต่อสุขภาพ การกอดช่วยเยียวยา ปลอบโยน ลดความกังวล ความวิตกกังวล ซึมเศร้า และความเหงาโดดเดี่ยว เป็นพลังจากการสัมผัสเนื่องจากทำให้คนเรามีโอกาสได้ฝึกปฏิสัมพันธ์กันภายใต้ความไว้วางใจ ความเชื่อใจ

            จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Psychological Sciences ซึ่งรวบรวมการศึกษาประโยชน์ของการกอดจากหลายสถาบันพบว่า การกอดมีประโยชน์มากมายดังนี้

            1. ลดความรู้สึกกลัวตาย (กอดช่วยชีวิต) พบว่าแม้แต่การกอดตุ๊กตาหมีก็ยังช่วยลดความกลัวตายได้ หากได้กอดคนที่ยังมีชีวิตยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1995 ในสหรัฐอเมริกามีคู่แฝดคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักน้อย แฝดคนหนึ่งสุขภาพดี ส่วนอีกคนมีแนวโน้มจะเสียชีวิต หลังจากทดลองนำมานอนในตู้อบเดียวกัน ให้สัมผัสซึ่งกันและกัน พบว่าแฝดอีกคนสามารถมีชีวิตรอดได้อย่างอัศจรรย์

            2. ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสูงอายุหรือคนป่วยที่มีความเปราะบางเรื่องสุขภาพ ทำให้หลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมามาก และยิ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันทำให้สุขภาพย่ำแย่มากขึ้น

            3. ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตและพัฒนาการดีขึ้น มีการศึกษาในยุโรปพบว่าเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามักมีการเจริญเติบโตทางร่างกายและสติปัญญาไม่ดี (Frank DA, Klass PE, Earls F, Eisenberg L) แต่หลังจากทำการกระตุ้นโดยการสัมผัส การกอดวันละ 20 นาที นาน 10 สัปดาห์ เด็กกลุ่มนี้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (Casler, Lawrence) สำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือเด็กอ่อน ในปัจจุบันมีการกระตุ้นให้แม่ลูกได้สัมผัสกันและกันโดยการอุ้มแบบจิงโจ้ (Kangaroo care) พบว่ามีผลดีต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพเด็กอย่างมาก

            4. กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข (oxytocin) ช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดได้ เช่น ในเวลาที่แม่คลอดบุตรจะมี oxytocin หลั่งออกมาอย่างมากจนทำให้แม่ลืมความเจ็บปวดทั้งหมดจากการคลอดบุตรได้ และยังเรียกได้ว่าเป็นฮอร์โมนของความผูกพัน การมีกันและกัน ช่วยทำให้นอนหลับฝันดี สำหรับเพศชายฮอร์โมนตัวนี้ยังช่วยทำให้ผู้ชายมีทักษะการสร้างความผูกพันและแสดงความรักใคร่ได้ดีขึ้น ความหวานในชีวิตคู่จะมีอย่างต่อเนื่องหากคนเราได้กอดกัน

            5. ลดความเครียด ทำให้ควบคุมอารมณ์และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ดี มีการศึกษาพบว่าเด็กที่ได้รับการกอดตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะการจัดการความเครียดได้ดี การกอดช่วยลดความเครียดให้เด็ก ทำให้เด็กอาละวาดน้อยลง

            6. กระตุ้นสารสื่อประสาทหลายชนิดที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดี เช่น โดปามีน (Dopamine) ทำให้คนเรารู้สึกดี (Serotonin) ช่วยลดความเจ็บปวดและอารมณ์ดี และ Oxytocin ที่ทำให้คนเราเกิดความพึงพอใจ

 

ประโยชน์ของการกอดเด็กแต่ละช่วงวัย

  • กอดลูกในครรภ์ ตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์ก็เปรียบเสมือนได้รับการกอดจากแม่ที่อุ้มท้อง หลังคลอดจนโตมนุษย์เราก็ยังโหยหาการกอดและการสัมผัสอยู่เสมอ เชื่อหรือไม่ว่ายิ่งอายุมาก คนเรายิ่งต้องการการกอดในชีวิตประจำวัน
  • ต้อนรับสู่โลกด้วยกอดแรกเกิด อ้อมกอดอันแสนอบอุ่นที่ช่วยปลอบให้ทารกน้อยคลายความกลัวของอุณหภูมิที่แตกต่างระหว่างครรภ์และโลกภายนอก ทำให้เจ้าตัวเล็กหยุดร้องไห้ รู้สึกอุ่นสบาย มั่นคงปลอดภัย และได้สัมผัสความอบอุ่นของแม่ผ่านอ้อมกอดเป็นครั้งแรก เกิดความรู้สึกไว้วางใจในโลกใหม่ที่เขาออกมาสัมผัส
  • กอด 6 เดือนแรก พบว่าเด็กที่ได้รับอ้อมกอดอย่างอบอุ่นทุก ๆ วัน จะเป็นเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดีกับแม่ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อเขาเติบโตขึ้นจะมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ที่ดีกว่า เป็นเด็กร่าเริง โดยแม่สามารถโอบกอดลูกทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง ผ่านการให้นมลูก หรือการกล่อมนอน เพื่อทำให้ลูกรับรู้ถึงสัมผัสและสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกได้อย่างแน่นแฟ้นขึ้น และส่งผลให้พัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกดีขึ้น
  • กอดระหว่าง 7 เดือน - 1 ขวบครึ่ง ส่งเสริมความมั่นใจและมองโลกในแง่ดี ในช่วงนี้พัฒนาการด้านการเรียนรู้โลกกว้างถูกกระตุ้นรอบด้าน ทำให้ลูกน้อยพยายามหยิบจับ คว้าทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง พอถึงช่วงนั่ง หรือลุกเดินนั้น ทุกย่างก้าวของพัฒนาการพ่อแม่ควรอยู่ใกล้ ๆ และกอดลูกอย่างสม่ำเสมอ ให้กำลังใจ และชื่นชมในความก้าวหน้าของลูก ซึ่งทำให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความมั่นใจและมองโลกในแง่ดี และมีภาวะอารมณ์ที่ดีมากขึ้น
  • กอดระหว่าง 1 ขวบครึ่ง - 3 ขวบ นับเป็นช่วงที่สิ่งแวดล้อมเข้ามามีอิทธิพลต่อตัวลูกมากขึ้น คนเป็นพ่อและแม่ควรหาเวลากอดลูกอย่างสม่ำเสมอ หรือจะหอม เพื่อให้เขารู้ว่าเราไม่ได้อยู่ห่างและได้รับความรักและความอบอุ่นเสมอ ซึ่งส่งผลให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีทัศนคติที่ดี อารมณ์ดี พร้อมทั้งมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
  • กอดลูกตั้งแต่ 3 ขวบเป็นต้นไป โลกใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนใหม่ ๆ และสังคมใหม่ ๆ จะส่งผลต่อบุคลิกภาพและอารมณ์ของลูก อาทิ บางคนขี้อายและเก็บตัว บางคนร่าเริงและกล้าแสดงออก หรือบางคนดื้อและก้าวร้าว การปรับและควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมเหล่านี้ที่ดีที่สุดคือ การกอดและการพูดคุย เพื่อเป็นการสร้างให้ลูกรับรู้ถึงความรักและความใส่ใจที่พ่อและแม่มีต่อลูกในทุก ๆ จังหวะชีวิต ซึ่งเมื่อพ่อแม่ทำอย่างต่อเนื่อง ลูกจะรับรู้และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงภาวะด้านอารมณ์ได้ดีขึ้น

            Physical touch is one of the most important stimulation that can facilitate healthy child development (The importance of touch in development. By Evan L Ardiel, MSc and Catharine H Rankin, Ph.D.)

การกอดเพื่อเยียวยาที่มีประสิทธิภาพจะต้องไม่ต่ำกว่าครั้งละ 20 วินาที การสัมผัสจะทำให้โครงข่ายกระแสประสาทนับล้านส่งสัญญาณไปยังสมองกระตุ้นสารสื่อประสาทหรือฮอร์โมนต่าง ๆ ให้ทำงานอย่างสมดุล การกอดทำให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เราสามารถสังเกตประสิทธิผลได้จากความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิว เรียกได้ว่ากอดลูกบ่อย ๆ แล้วเหมือนคุณพ่อคุณแม่ได้ทำเบบี้เฟซหรือทำสปาผิวจนหน้าและผิวตึงกันทั้งคู่เลยค่ะ กอดลูกแล้วทำให้พ่อแม่หน้าเด็กลง

การ “กอด” นับเป็นยาวิเศษที่หาง่ายได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้น เราควรใส่ใจและหันมากอดลูกตั้งแต่วันนี้ เพราะมีส่วนช่วยในทุกด้านของพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ส่งผลให้ลูกเป็นคนดีและเข้าถึงจิตใจและเห็นใจคนอื่นได้ในอนาคต ดังนั้น ในวันนี้เราควรจะเริ่มกอดกันและกัน ไม่ต้องรอเทศกาลใด ๆ เพราะเราสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา